คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน : ลูกค้าวัยอิสระ

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก คุณเป็นลูกค้าวัยอิสระหรือป่าว

หัวข้อชวนคุยวันนี้เก็บตกมาฝากในโอกาสได้ย่องเข้าไปดูโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้

ก่อนอื่น ขอเม้ามอยนิดนุงตามประสาสาวแก่ เนื่องจากไม่เคยไปเยี่ยมชมโครงการมาก่อน ก็เลยถามทางไปตลอด เจ้าหน้าที่พีอาร์ก็ให้ข้อมูลดี๊ดี บอกว่าอยู่ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์วิภาวดีรังสิต โน่นเลย ย่านปทุมธานี

ถามว่าอยู่ใกล้อะไร นางก็บอกว่าขับรถเลย ม.กรุงเทพ มาก็แล้วกัน อีกจิ๊ดเดียวก็ถึง ไอ้เราก็เลยต้องนั่งมองทางตาตั้งกันสิทีนี้ เพราะกลัวว่าจะหลงจะเลย ถ้าหากเลยขึ้นมาจิงจิง หนังชีวิตเรื่องยาวแน่นอนทั่นผู้ชมเพราะยูเทิร์นเกือกม้าไม่ได้อยู่ใกล้ซะหน่อย

Advertisement

อภิโธ่ อภิถัง ปรากฏว่าจิณณ์ฯ อยู่ติดรั้วโครงการ

ชื่อดังยี่ห้อพลัม คอนโด รังสิตนั่นเอง

ทางพีอาร์คงเหนียมๆ เพราะราคาคนละเรื่อง ห้องชุดโครงการนึงขายล้านกว่าบาท อีกโครงการนึงขาย

Advertisement

ห้องละสี่ซ้าห้าล้าน

เจ้าของโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง คือกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี จะเรียกเท่ๆ ว่าโรงพยาบาลธนบุรีกรุ๊ปก็ได้ มีตัวย่อคือ THG ทาง “คุณหมอธนาธิป ศุภประดิษฐ์” ผู้บริหารระดับท็อปแมเนจเมนต์บอกว่า กำลังทำของยาก

เรากำลังเข้าเรื่องกันแล้วนะคะ ขยายความคำว่า “ของยาก”

ยุคนี้ถ้าเราเห็นอสังหาริมทรัพย์ยี่ห้อไหนแปะป้ายโฆษณาแล้วมีคำว่า “well being-เวลบีอิ้ง” ห้อยต่องแต่งมาด้วย ขอให้รับรู้ไว้ด้วยว่าเขาพัฒนาโครงการมาขาย โดยมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าสูงวัยด้วย

ในการอธิบายของยาก เอ้ย ในการอธิบายตลาดอสังหาฯ ผู้สูงวัย จำเป็นต้องเท้าความกันเยอะๆ กลุ่มโรงพะบาลธนบุรีก็เลยนำเสนอข้อมูลเทรนด์คนอายุยืน บอกว่าประเทศพัฒนาแล้วพลเมืองจะอายุยืน 100 ปี ในปี 2050

แปลงเป็นพุทธศักราชก็คือภายในปี 2593 นู้น

เหลียวกลับมาดู 3 ประเทศแรกที่มีประชากรสูงวัย นิยามคืออายุเกิน 65 ปีขึ้นไป สถิติ ณ ปี 2561 ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วน 27% ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมาคืออิตาลี 23%

อันดับสามมาเป็นพวงมีประเทศโปรตุเกส เยอรมนี ฟินแลนด์ สัดส่วน 22%

อยากรู้แล้วชิมิ ประเทศไทยล่ะ ปัจจุบัน (หมายถึงปีนี้มั้ง?) ไทยมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน

อ่านไปอ่านมาเขาน่าจะหมายถึงปี 2561 เพราะอธิบายเพิ่มเติมมาด้วยว่าเป็นปีที่ประชากรผู้สูงอายุแซงหน้าประชากรเด็กเป็นครั้งแรก

ภายในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เพราะคนอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วน 20%

และภายในปี 2574 จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 28% เรียกว่าเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

สถิติอีกตัว ในปี 2560 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 75.77 ปี เราไม่สามารถหารครึ่งได้เพราะสถิติบอกว่าผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ย 73 ปี ผู้หญิงเฉลี่ย 79 ปี

ในทางธุรกิจ มีการจำแนกข้อมูลด้วยว่าประชากรคนไทย สัดส่วน 59% อยู่อาศัยในบ้านที่ไม่มีผู้สูงวัยเลย

สัดส่วน 30% ผู้อาศัยเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงวัย

ในขณะที่มีบ้านที่มีผู้สูงวัยอยู่ด้วยกัน (สูงวัยปาท่องโก๋) 5% กับสูงวัยฉายเดี่ยวหรืออาศัยตัวคนเดียว สัดส่วนถึง 6%

คำว่าผู้สูงวัยได้รับสิทธิพิเศษที่จะมีปัญหาสุขภาพติดตัวหรือติดสังขารมาด้วย เขาเปรียบเทียบปี 2545 ผู้สูงวัยเป็นโรคเบาหวาน 8% ปี 2560 เบิ้ลตัวเลขเป็น 16%

อีกโรคยอดฮิตคือความดันสูง จากสัดส่วน 20% เพิ่มเป็น 34% ในปี 2560

ตามประสาเจ้าของโครงการอสังหาฯ ที่เป็นคุณมดคุณหมอ ก็เลยแบข้อมูลโรคภัยไข้เจ็บเยอะหน่อย ตอนนั่งฟังบรรยายจากที่ร่างกายยังปกติแข็งแรงเริ่มรู้สึกว่ามีโรครุมเร้าขึ้นมาเฉยๆ

คุณหมอธนาธิปหยิบสถิติปี 2559 บอกว่าท็อป 5 โรคพบมากที่สุดในผู้สูงวัยคือ 1.ความจำเสื่อม 2.โรคหลอดเลือดสมอง 3.ความชรา ร่างกายเสื่อมสภาพ 4.หกล้ม กระดูกหัก และ 5.โรคกระดูกและข้อต่อ

ข้อมูลที่ใจร้ายกว่านั้นอีก หยิบมาจากสถิติของประเทศญี่ปุ่น บอกว่าผู้ชายอายุขัยเฉลี่ย 79.55 ปี ผู้หญิง 86 ปี (แปลกแต่จริง ผู้หญิงประเทศไหนในโลกก็อายุยืนกว่าผู้ชาย)

แต่ แต่… ช่วงเวลาที่มีสุขภาพดีเทียบกับอายุขัยเฉลี่ย พบว่า ผู้ชายมีเวลาสุขภาพดีเฉลี่ย 70.42 ปี แปลว่าอีก 9.13 ปีเริ่มเข้าสู่ช่วงมีปัญหาด้านสุขภาพ

ส่วนผู้หญิงญี่ปุ่น มีเวลาสุขภาพดีเฉลี่ย 73.62 ปี แปลว่าอีก 12.38 ปีเริ่มมีปัญหาสุขภาพ

เอ๊า ไหงมี turning point ตอนใกล้จบซะงั้น สถิติบอกว่าผู้ชายมีเวลาเจ็บป่วย 9 ปีเศษ ส่วนผู้หญิงมีเวลาใช้ชีวิตไม่ปกติตั้ง 12 ปีเศษ

ส่วนสถิติของประเทศไทยไม่ได้นำเหนอ แค่คิดก็หัวใจหล่นไปอยู่ตาตุ่มแล้ว เพราะมาตรฐานการใช้ชีวิตต้องยอมรับกันตรงๆ ว่าเรายังห่างชั้นคุณภาพชีวิตเทียบกับคนญี่ปุ่น

กลุ่มโรงพะบาลธนบุรี ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับบิ๊กดาต้าผู้ป่วยสูงวัยมาเยอะ เมื่อมาบรรจบกับเทรนด์นับถอยหลังเข้าสู่การเป็นสังคมประชากรผู้สูงวัยของประเทศไทยก็เลยกลายมาเป็น “ทำของยาก” อย่างโครงการจิณณ์เวลบีอิ้งฯ ในที่สุด

ล่าสุดเพิ่งงอกบริการใหม่หมาดเรียกว่า “assisted living” อันนี้น่าจะเป็นคำโก้เก๋ทางการตลาดเพราะเอาเข้าจริงรายการไปตรงกับบริการเนอร์สซิ่งโฮม (ฮา)

ประกอบด้วยบริการที่พัก และการดูแลฟื้นฟูสุขภาพแบบครบวงจร เจาะจงลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้สูงวัยที่ต้องการความช่วยเหลือและการดูแลอย่างเป็นพิเศษตลอด 24 ชั่วโมง

เป็นบริการพิเศษ เพราะคอนโดมิเนียมที่ทำขายราคาสี่ซ้าห้าล้าน ถ้าไม่อยากซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ สามารถแวะเข้ามาพักแบบขาจรก็ได้ มีออปชันให้เลือกเยอะ ซึ่งจริงๆ คือมีให้เลือก 3 แบบ

เริ่มจากแบบรายวัน ช่วงเวลา 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม อัตรา 3.5-4 พันบาท (อันนี้คิดในใจว่าเหมือนบริการรับฝากผู้สูงวัย)

แบบรายสัปดาห์ 2.4-2.8 หมื่นบาท และแบบรายเดือน 9 หมื่น-1.05 แสนบาท ช่วงนี้มีโปรโมชันส่วนลด น่าสนใจเหมือนกัน

จะเห็นว่าเป็นราคาที่สูงกว่าการเช่าห้องเปล่าๆ เพราะพ่วงกับบริการทางการแพทย์ 6 รายการ ตั้งแต่มีทีมพยาบาลดูแล 24 ชั่วโมง, แพทย์ตรวจเยี่ยมประจำโครงการ, กิจกรรมฟื้นฟูสุขภาพรอบด้านทั้งสมอง-อารมณ์-สังคม

ที่เหลือก็เป็นระบบรักษาความปลอดภัยชั้นเลิศ, บริการอาหารหลัก-อาหารว่าง, บริการซักรีด-ทำความสะอาด

หยิบมาเล่าเยอะแยะเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสและเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ เผื่อมีใคร C&D-copy & development ก็ไม่น่าจะผิดกติกาแต่อย่างใด

ซึ่งคำว่าวัยอิสระในทางมาร์เก็ตติ้ง พ.ศ.นี้ ถูกหยิบมาอธิบายลูกค้าผู้สูงอายุ เพราะเป็นคำน่ารัก ไม่แก่ ไม่เหนียงยาน และยกย่องให้เกียรติอย่างสูงเพราะมีอิสระทั้งวัยและกำลังทรัพย์ (ส่วนจะเป็นทรัพย์ตัวเองหรือจกจากกระเป๋าลูกหลานถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

บรรทัดสุดท้าย ขอเป็น 1 เสียงตัวแทนลูกค้าวัยอิสระ อยากได้บริการแบบเนี้ยะ แต่ราคาไม่แรงส์ มีมะ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image