คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : บทเรียน มังกรจีน ‘หัวเว่ย’

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ลุกลามบานปลายกลายเป็น “เทควอร์” กระทบกับ “หัวเว่ย” บริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และน่าจับตาอย่างยิ่ง ในฐานะ “มหาอำนาจด้านเทคโนโลยี”

ที่ลือลั่น และสะท้านสะเทือนความเชื่อมั่นในแบรนด์ “สมาร์ทโฟน” อย่างหนัก คงเป็นกรณีที่ “กูเกิล” ระงับการเข้าถึงบริการต่างๆ หลัง “หัวเว่ย” เข้าไปอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล

หลายฝ่ายมองว่า ไม่มากก็น้อยย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขาย และส่วนแบ่งตลาดโลกของมือวางอันดับสองของโลกอย่างแน่นอน

แต่ปรากฏว่าสมาร์ทโฟนทั้งสองแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น “หัวเว่ย” และ “ออนเนอร์” ต่างมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 30% จากยอดขายรวม 206 ล้านเครื่องในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการคาดการณ์โดยอิงตัวเลขจากการเก็บข้อมูลในประเทศจีนของ Kantar Worldpanel ComTech

Advertisement

ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่าทั้งสองแบรนด์มีส่วนแบ่งการตลาดในจีนสูงถึง 46.1% ในไตรมาสที่ 2

“เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย เทคโนโลยี เชื่อมั่นด้วยว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนโดยรวมของหัวเว่ยอาจทำได้สูงถึง 270 ล้านเครื่อง แม้สหรัฐอเมริกาจะยังคงมีมาตรการจำกัดการทำธุรกิจกับหัวเว่ย

“ถ้าบริษัทของสหรัฐหยุดซัพพลายชิ้นส่วนให้เราพร้อมกันทั้งหมด ฝ่ายผลิตของเราก็จะยังเดินหน้าทำงานต่อโดยไม่หยุดแม้แต่วันเดียว และจะเพิ่มจำนวนการผลิตให้มากขึ้นด้วย และปัญหานี้ ไม่ได้ร้ายแรงจนส่งผลต่อความอยู่รอดของหัวเว่ย แต่อย่างใด”

Advertisement

ผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” ย้ำอีกว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทมุ่งมั่นสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยทุ่มงบประมาณไปกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนำเสนอผลิตภัณฑ์ โซลูชั่น และบริการครบวงจร

สอดคล้องกับรายงานผลประกอบการล่าสุด

“หัวเว่ย” เปิดเผยว่ารายได้รวมของบริษัทช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ยังเติบโตขึ้น 23.2% เทียบกับปีที่ผ่านมา มีรายได้อยู่ที่ 58,260 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.7% โดยมีการจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น 118 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 24% โดย 64% เป็นการจำหน่ายในประเทศจีน

“หัวเว่ย” ระบุว่าการดำเนินงานของบริษัทยังคง “ราบรื่น” และเป็น “องค์กรที่มีคุณภาพอย่างที่เคยเป็นมา” พร้อมโชว์ตัวเลขการทำสัญญาเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์กับบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำทั่วโลกด้วยว่า มีกว่า 50 สัญญาแล้ว แม้ที่ผ่านมาจะเผชิญกับข้อกล่าวหาที่ว่าทางการจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์ของหัวเว่ยได้ แม้บริษัทจะปฏิเสธมาโดยตลอด แต่หลายประเทศยังคงห้ามบริษัทภายในประเทศทำธุรกิจร่วมกับหัวเว่ย

“เลียง ฮัว” ประธาน หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า รายได้ของหัวเว่ยเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นผลมาจากรากฐานที่บริษัทวางเอาไว้อย่างมั่นคงทำให้ยังเห็นความเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ได้ และสะท้อนให้เห็นด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปข้างหน้าของบริษัทแต่อย่างใด

ไม่ใช่เท่านั้น

จากการจัดอันดับ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่รายได้ และผลกำไร โดยนิตยสารธุรกิจชั้นนำ “Fortune” มังกรจีน “หัวเว่ย” ยังสามารถขยับขึ้นสู่อันดับที่ 61 โดยเลื่อนขึ้นมาถึง 11 อันดับจากปีก่อนและขยับขึ้นถึง 68 อันดับจากปี 2560 ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น 22% และกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น 27.5% เทียบกับปีที่ผ่านมา

“ริชาร์ด หยู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวว่า อันดับที่สูงขึ้นต่อเนื่องในการจัดอันดับของ Fortune 500 เป็นอีกสิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จของบริษัทในปีนี้ โดยจะยังมุ่งมั่นส่งมอบเทคโนโลยีใหม่ให้ลูกค้าด้วยการเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ในทุกด้าน รวมถึงการทุ่มเทลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง

เมื่อต้นปี บริษัทยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 47 จาก “100 แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลก” (Top 100 Most Valuable Global Brands) ประจำปีนี้ของ BrandZ จากนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการ เช่น ระบบกล้องของสมาร์ทโฟน HUAWEI P30 Series และเทคโนโลยี HUAWEI Mate 20 X (5G)

ถึงแม้จะดูเหมือนว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับหัวเว่ยจะเริ่มคลี่คลายลง หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อนุมัติการออกใบอนุญาตดำเนินธุรกิจระหว่างบริษัทอเมริกันและหัวเว่ย “ได้ตามกรอบเวลา”

ในการสัมภาษณ์ล่าสุดกับ “ไฟแนนเชียลไทม์ส”

ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า บริษัทของตนยังคงแน่วแน่ในการสร้างศักยภาพของตนเองให้แข็งแกร่ง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวเว่ยและสหรัฐ จะดีขึ้นก็ตาม

ประสบการณ์ที่ผ่านมากับสหรัฐทำให้หัวเว่ยได้เรียนรู้แล้ว และในขณะที่หัวเว่ยเองก็ยังต้องการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ในสหรัฐอยู่ แต่ในท้ายที่สุด บริษัทยังมองหาหนทางที่จะลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากอเมริกาให้น้อยลง

“แถลงการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบริษัทอเมริกัน หัวเว่ยยังต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทอเมริกัน แต่เราไม่เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ จะมีผลกระทบมากมายขนาดนั้น โดยเรายังคงแน่วแน่กับการทำงานของเราให้ถูกต้อง”

สำหรับเทคโนโลยี 5G ผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” มั่นใจว่าบริษัทจะไม่มีปัญหาด้านการจัดส่งอุปกรณ์ 5G อย่างแน่นอน ทั้งย้ำอีกว่าอุปกรณ์ของบริษัทถือว่าดีที่สุดในโลกแล้ว และจะยังไม่มีบริษัทไหนตามทันได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ชัดเจนว่ามรสุมลูกล่าสุด (ยัง) ไม่ระคายผิว มังกรจีน “หัวเว่ย” โดยเฉพาะตลาดในประเทศบ้านเกิด แต่หากปัญหายังคาราคาซังย่อมไม่เป็นผลดีกับการทำตลาดนอกประเทศในระยะยาว

และถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้ บริษัทเทคโนโลยีของจีนรายนี้คงติดปีกไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี 5G ที่ว่ากันว่าจะพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในอีกมุม หากบริษัทสามารถพลิกวิกฤต เป็นจังหวะก้าวกระโดดในการเร่งพัฒนาตนเองและลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากอเมริกาให้น้อยลงได้สำเร็จ ในอนาคตใครก็คงฉุดมังกรจีน “หัวเว่ย” ไม่อยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image