คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : พระสุนทรีวาณี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลจัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล และถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562

พิธีดังกล่าวจัดขึ้น ณ พระลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลา 18.00 น.

ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์หนังสือ “พระคาถาพระสุนทรีวาณี”

Advertisement

คาถานี้โบราณสรรเสริญว่า หากบริกรรมสม่ำเสมอจะเกิดปัญญา

หนังสือ “พระคาถาพระสุนทรีวาณี” ได้ประมวลพระราชหัตถเลขา ลายพระหัตถ์ ลิขิต จดหมายกราบทูล และเรื่องสืบเนื่อง

ภายในหนังสือเล่มนี้ ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เรียบเรียงอธิบาย “พระสุนทรีวาณี” เอาไว้

Advertisement

สรุปว่า พระสุนทรีวาณีเป็นรูปเทพธิดาบนดอกบัว เป็นบุคลาธิษฐาน

สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฒโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ได้อธิบายความหมายรูปเทพธิดาบนดอกบัวไว้ว่า…

“นางฟ้า” คือ พระไตรปิฎก “ดวงวชิระบนฝ่าพระหัตถ์ซ้าย” คือ พระนิพพาน

พระหัตถ์ขวากวัก แสดงพระธรรมคุณข้อ “เอหิปัสสิโก” หรือควรเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาดู

“ดอกบัว” คือ พระพุทธโอษฐ์

มนุษย์ซ้ายขวานั่งบนดอกบัว คือ อัครสาวก บ้างก็ว่ารูปบุรุษคือ ภิกษุสงฆสาวก รูปสตรีคือ ภิกษุณีสงฆสาวิกา

“นาค” คือ พระอรหันต์ บ้างก็ว่าคือ พุทธบริษัท

พรหม เทวดา และสัตว์ต่างๆ คือ สรรพสัตว์ในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ

และ “สระน้ำ” คือ สังสารวัฏ

สมเด็จพระวันรัต (แดง) ผู้คิดแบบพระสุนทรีวาณี ไดัคิดแบบขึ้นจากคาถาสรรเสริญพระธรรมรัตนะซึ่งปรากฏอยู่ในบานแพนกของคัมภีร์สุโพธาลังการ

คัมภีร์ดังกล่าวแสดงความไพเราะสละสลวยของสำนวนโวหารในภาษาบาลี

กล่าวถึงโทษและวิธีแก้ไขโทษในการใช้ภาษาถ้อยคำ เพื่อให้สำนวนภาษามีโอชคุณมากขึ้น

ผู้รจนาคัมภีร์คือ พระสังฆรักขิตมหาสามิเถระ ประเทศศรีลังกา

รจนาขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17

คัมภีร์สุโพธาลังการนี้เป็นคัมภีร์ที่ผู้ศึกษาจะได้รับความรู้เกื้อกูลต่อการรจนาคัมภีร์ภาษาบาลีและตำราภาษาไทย

คาถาพระสุนทรีวาณีในคัมภีร์จึงเป็นปฐมบทที่จะนำให้บุคคลประสบความรุ่งเรืองทางสติปัญญา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปพระสุนทรีวาณี ณ กุฎีสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศนเทพวราราม

ทรงต้องพระราชหฤทัย จึงมีพระราชหัตถเลขาไปยัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ทรงสืบสวนที่มา

พระองค์ทรงพระราชดำริว่า น่าจะมีต้นเค้ามาจากคติมหายานอันระคนอยู่ในคติเถวรวาท

แสดงถึงมูลรากของพระพุทธศาสนาว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สมเด็จพระวันรัต (แดง) เล่าว่า อาจารย์ของท่านสอนให้บริกรรมคาถาพระสุนทรีวาณีเป็นคาถาอาราธนาธรรมก่อนเรียนปริยัติและเข้าที่ภาวนา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป

พระองค์ทรงพระราชปรารภกับสมเด็จพระวันรัตถึงพระปริวิตกเรื่องสวัสดิภาพและความสำเร็จในการเจริญพระราชไมตรี

สมเด็จพระวันรัต จึงถวายพระพรให้ทรงบริกรรมคาถาพระสุนทรีวาณี ทำให้ทรงระงับพระวิตก และสำเร็จพระราชประสงค์ทุกเมื่อ

ครั้งทรงสถาปนาโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯให้จารึกศิลารูปพระสุนทรีวาณีไว้ประจำโรงเรียน

รัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ว่า รูปพระสุนทรีวาณีมีเค้ามูลมาจากพระพุทธศาสนามหายานระคนอยู่ในเถรวาท

ลักษณะของพระสุนทรีวาณีมีรูปแบบคล้าย “พระนางตารา” ตามคติมหายาน

ขณะที่หลวงวรโวหารบอกว่า อาจหมายถึง “สรัสวดี” ตามลัทธิพรหมณ์และพุทธมหายาน

และเมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม พระสุนทรีวาณีอาจหมายถึง “ศักติ” ตามคติพุทธศาสนาวัชรยานและตันตระยาน

ทั้งนี้เพราะ “ศักติ” หมายถึง พลังอำนาจของสตรี

พระสุรัสวดี มีคุณลักษณะด้านสติปัญญา เป็นเทวีผู้อุปถัมภ์ความรู้ ศิลปะ ดนตรี ปัญญา และการเรียนรู้

ส่วน “พระนางตารา” ตามตำนานเกิดจากน้ำตาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

น้ำตาของพระองค์ไหลออกมาเมื่อเห็นสัตว์โลกมีทุกข์

น้ำตาไหลลงจนกลายเป็นทะเลสาบ และเกิดดอกบัว

ในดอกบัวมีพระนางตาราสถิตอยู่

บางตำนานกล่าวว่า พระนางตาราเกิดจากรังสีธรรมของพระอมิตาภพุทธะ สะท้อนบุคลาธิษฐานแห่ง “มหากรุณา”

ฝ่ายมหายานถือว่าพระนางตาราประดุจมารดาของความเป็นพุทธะ

การบูชาพระสุนทรีวาณีย่อมเปรียบประดุจบูชาพระธรรมคุณ

ส่องให้เห็น “มหาปัญญา” ที่ควบคู่ไปกับ “มหากรุณา”

นี่คือ พระคาถาพระสุนทรีวาณี ที่เป็นบทบริกรรม

“มุนินทะ วะทะนัมพุธะ คัพภะสัมภะวะ สุนทะรี

ปาณีนัง สะระณัง วาณี มัยหัง ปิณะยะตัง มะนังฯ”

มีความหมายว่า มีรูปอันงาม เกิดแต่ห้องแห่งดอกบัว คือ โอษฐ์แห่งพระพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งปราชญ์ทั้งหลาย

เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ผู้มีปราณทั้งหลาย

จงยังใจแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายให้ยินดีฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image