คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : 6 ข้อที่ ‘Parasite’ กลายเป็นหนังรางวัล ‘ขวัญใจมหาชน’

ภาพประกอบ Youtube Video/Madman Films

ไม่เพียงแต่คำยกย่องในฐานะที่ ภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง “Parasite” ของผู้กำกับ “บองจุนโฮ” จะได้รับรางวัล “ปาล์มทองคำ” หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ ทั้งยังคว้ารางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซิดนีย์ และรางวัล “ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมิวนิกด้วย ที่น่าสนใจคือหนังเรื่องนี้ได้สร้างสถิติเป็น “หนังรางวัล” ที่มีคนดูมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในฝรั่งเศสประเทศเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ Parasite ขึ้นแท่นหนังเกาหลีที่มีคนดูมากที่สุดในฝรั่งเศส และแน่นอนในประเทศบ้านเกิด หนังเรื่องนี้ก็ฮิตมากในเกาหลีใต้เช่นกัน

ที่ “บองจุนโฮ” เคยกังวลว่าหนังของเขาอาจจะเข้าไม่ถึงคนดูฝั่งตะวันตก เพราะบริบททางวัฒนธรรมแตกต่างกันนั้น จึงเป็นอันชัดเจนว่า การพูดเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” คือประเด็นร่วมของสังคมโลกเวลานี้

เท่านั้นไม่พอ ยังมีตลกร้ายว่าหนังดังเรื่องนี้ยังถูกใช้ในทาง “การเมืองระหว่างประเทศ” เพราะสื่อในเกาหลีเหนือ ได้ฉวยจังหวะรายงานว่าหนังรางวัลเรื่องนี้ได้สะท้อนภาพ “สังคมป่วย” ในเกาหลีใต้จากระบบทุนนิยมจนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก

Advertisement

ขณะเดียวกันเมื่อหนังเข้าฉายในประเทศไทย เต็มไปด้วยคำชื่นชมจำนวนมากจากคนดูที่มีต่อหนังเรื่องนี้และแนะนำให้ได้ดูกันแบบปากต่อปาก

ทำไม “Parasite” ถึงเป็นหนังรางวัล “ขวัญใจมหาชน” ได้

Advertisement

บ่อยครั้งที่หนังรางวัล หรือหนังที่ได้รางวัลตามเทศกาลภาพยนตร์ระดับท็อปๆ โดยเฉพาะจากเวทีใหญ่ ระดับเมืองคานส์ มักจะเป็นหนังที่มีความเฉพาะบางอย่าง หลายครั้งสารจากหนังจะไม่เด่นชัดนัก ต้องถอดรหัสตีความ ขณะเดียวกันตัวหนังมักดำเนินเรื่องราบเรียบ ไคลแมกซ์เหมือนไม่ไคลแมกซ์ หนังมีความนิ่งสูงมาก ไปจนถึงบางเรื่องดูจนจบยังไม่เข้าใจได้กระจ่างนัก เนื่องจากหนังมีนัยยะที่ชวนให้ต้องตีความ และบ้างก็ดูไม่สนุกในทางบันเทิงเท่าใดนัก

แม้จะมีข้อยกเว้นในบางเรื่อง อาทิ “Pulp Fiction” ภาพยนตร์อเมริกันชนะปาล์มทองคำที่มีบทหนังอันยอกย้อน ไม่ได้มีประเด็นสังคมลุ่มลึกตามสไตล์หนังเมืองคานส์ แต่หนังมีดีที่วิธีเล่าเรื่องที่นำสมัยมากในยุคนั้น และเป็นหนังดูสนุกเอาเสียด้วย

ว่ากันตามจริตหนังรางวัลตามเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติส่วนมาก จึงมักจะเป็นหนังที่มีคนดูเฉพาะกลุ่ม พูดง่ายๆ คนดูหนังทั่วไปเพื่อความบันเทิงหรือผ่อนคลาย อาจไม่ชอบลิ้มรสหนังจากเทศกาลมากเท่าใดนัก ด้วยความเชื่อแบบเหมารวมว่าทั้งดูยาก เคร่งเครียด หรือดูเอาหลับ บางคนก็ค่อนแคะว่า ต้องปีนบันไดดู

แม้มีความจริงบางส่วนจากประวัติศาสตร์ของหนังที่ชนะรางวัลตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ

แต่ปรากฏการณ์ของภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” หนังปาล์มทองคำที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่า “นานๆ ทีมีหน”

หากถอดรหัสในแง่ “ความนิยม” ระดับมหาชนของหนังเรื่องนี้ จึงพบว่า 1.นี่คือหนังที่พูดประเด็นที่ “โลกกำลังสนใจ” นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น”

2.เป็นภาพยนตร์ที่ “สื่อสารตรงไปตรงมา” เข้าใจเรื่องได้ง่าย 3.ความเป็นหนังรางวัลที่เล่าเรื่องได้ชวนระทึก ดราม่าและสนุก 4.มีพล็อตเรื่องที่ชวนติดตามไปจนจบ ซึ่งหนังเอาคนดูอยู่หมัด

และหากต้องเพิ่มความนิยมสำหรับคนไทยในแบบสายป๊อปปูลาร์ จึงมีข้อที่ 5.เป็น “ความบันเทิงจากเกาหลี” ที่กว่าทศวรรษมานี้ คนไทยเสพคอนเทนต์บันเทิงจากเกาหลีเป็นลำดับต้นๆ หนังเกาหลีจึงเรียกคนดูชาวไทยได้มากเป็นทุน ผนวกกับเมื่อมาเจอว่าเป็น “หนังคุณภาพ” จึงยิ่งแนะนำให้ไปดูกันเป็นลูกโซ่

และ 6.สำหรับคนไทยแล้วเรื่องราวชนชั้น ประเด็นทางสังคมใน Parasite ไปจนถึงคาแร็กเตอร์ตัวละครสังคมในเกาหลี วิธีคิดของตัวละครทั้งกลุ่มคนชั้นบนผู้มีฐานะ กับกลุ่มชนชั้นล่างผู้พยายามดิ้นรนหาโอกาส ไม่ได้ไกลจากสังคมไทยที่เราอาศัยและได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ เพราะมันแทบจะคล้ายกันนั่นเอง

“Parasite” มีบทตลกร้ายที่แอบแซะสังคมที่เราอยู่ การพูดถึงความอ่อนด้อยของคนรวย ชนชั้นกลางผู้มีฐานะ การพยายามเมตตาแบบเปลือกๆ ต่อคนยากไร้ การปากกัดตีนถีบของคนชั้นล่างที่อาจต้องทำอะไรแบบฉวยโอกาส ไปจนถึงการเชื่อโดยไม่อิงข้อมูล แต่เชื่อเพราะเขาบอกต่อกันมา รวมถึงการประเมินค่าเพียงเพราะภาพลักษณ์ผิวเผิน ให้ค่ากับวัตถุภายนอก ตัดสินคนด้วยแบ๊กกราวน์ชีวิต การศึกษา และประเด็นปลีกย่อยอีกมาก โดยสะท้อนผ่านเรื่องราวของครอบครัวเกาหลี 2 ครอบครัว ที่มีความต่างกันและช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างเอามากๆ

เป็นคำตอบว่าทำไมหนังเรื่องนี้จึงถูกเขียนถึง รีวิวถึง พูดถึง แนะนำกันให้ไปดู

ขณะที่ในสเกลระดับโลกปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดประเด็นเชิงเปรียบเทียบทางชนชั้น มักจะ “เรียกร้องความสนใจ” จากคนดูได้ดีอยู่เสมอ ผนวกด้วยวิธีเล่าเรื่องของ “Parasite” ที่น่าติดตาม “บองจุนโฮ” จึงเอาคนดูทั้งโลกอยู่หมัดในภาพยนตร์ของเขาเรื่องนี้

ว่ากันตามจริงนี่ไม่ใช่หนังฟอร์มเล็กเลย แต่มันคือหนังระดับเมเจอร์เพื่อความบันเทิงด้วยซ้ำ เพียงแต่บอง จุนโฮ ผู้มีผลงานสเกลใหญ่ก่อนนี้อย่าง Snowpiercer, Okja, The Host และหนังแจ้งเกิดของเขาอย่าง Memories of Murder ทำให้หนังเรื่อง Parasite มีศิลปะและชั้นเชิงขึ้นมาแบบ “ลูกกวาดผสมยาแก้ไอรสขม” ไว้ด้านใน

ตัวเขาชื่นชอบผู้กำกับคุณภาพหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “ผู้กำกับสายมหาชน” อย่าง “สตีเว่น สปีลเบิร์ก”

“บองจุนโฮ” ได้ใส่ส่วนผสมของหนังดูสนุก เล่าเรื่องจริงจัง จับแก่นสาระสำคัญมาตีแผ่ ทั้งพล็อต การแสดง บทภาพยนตร์ งานภาพที่มีการใช้องค์ประกอบทางภาพเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำได้คมชัดที่สุด

ตั้งแต่คนชั้นบน คนชั้นล่าง บ้านที่ตกแต่งสวยงาม แต่กลับมีห้องใต้ดินชั้นล่างอันมืดเร้นซุกซ่อนอยู่ ไปจนถึงบ้านที่หรูหราตั้งอยู่บนทิวทัศน์เนินเขา กับบ้านที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นถนนราวกับนรกใต้ดิน

การเล่าเรื่องของบ้านคนรวยที่มีความโง่เขลาอันน่ายินดีประสาคนมีเงิน ไปจนถึงการสู้กันเองแบบเอาเป็นเอาตายของคนชั้นล่างเพื่อขึ้นไปเป็นเพียงหางแถวของคนมีเงิน

“บองจุนโฮ” ฉลาดในการกรีดเข้าไปในหัวจิตหัวใจคนดูด้วยหนังของเขา พร้อมกับอารมณ์ขันแบบขื่นๆ ที่ผสมมาด้วยความดราม่า

“Parasite” จึงกลายเป็นทั้งความบันเทิงและอาวุธที่ใช้พูดประเด็นสังคมได้อย่างทรงพลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image