สุจิตต์ วงษ์เทศ : พิพิธภัณฑ์ไทย ปลุกยังไงก็ไม่ขึ้น ในรัฐราชการรวมศูนย์

อ่าวแม่รำพึง หรืออ่าวระยอง มีนิทานตาม่องไล่ยายรำพึง สนุกสนานตื่นเต้น สะท้อนการค้าสำเภาจีนในประวัติศาสตร์ไทยที่น่าจะทำมิวเซียมจัดแสดง "สตอรี่" ความเป็นมา

ต่อต้านประชาธิปไตย ไร้เสรีภาพทางการศึกษา ปลุกยังไงคนก็ไม่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ไทย เพราะเนื้อหาถูกแช่แข็ง ไม่แสดงความจริง จะขอคัดข่าวมาให้อ่านก่อน ดังนี้

‘อิทธิพล’ ปลุกคนไทยชมพิพิธภัณฑ์ไทย

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเยี่ยมชมการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น และพิพิธภัณฑ์เอโดะที่รวบรวมเรื่องราวของเมืองโตเกียวตั้งแต่สมัยเอโดะ ตั้งอยู่ภายในย่านเรียวโงะกุของเมืองโตเกียว ว่าการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ได้เห็นถึงการจัดการ การจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับไทย

แต่ความแตกต่างคือประชากรญี่ปุ่นเข้าชมพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก หากเทียบสัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแล้วพบว่าชาวญี่ปุ่นเข้าชมพิพิธภัณฑ์ถึง 80% คาดว่ามาจากการปลูกฝังเรื่องของประวัติศาสตร์ ที่ทำประชาชนสนใจค้นคว้าประวัติศาสตร์ของตนเอง ส่วนไทยนั้นพบว่าประชาชนสนใจเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างน้อย ส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์

“วธ.ตระหนักถึงความสำคัญข้อนี้ ผมจึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในประเทศมาเข้าชมพิพิธภัณฑ์มากขึ้น เช่น การจัดนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ เป็นต้น จากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ผมจะนำการจัดนิทรรศการ การจัดการแสดงของญี่ปุ่นมาปรับใช้กับไทย เพื่อดึงดูดคนไทยมาชื่นชมอารยธรรมและความเจริญของประเทศในอดีต วธ. ในฐานะหน่วยงานที่สร้างค่านิยม เผยแพร่วัฒธรรมชาติ จะประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้คนไทยเข้าชมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชุมชน ในการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยสนใจมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น” นายอิทธิพลกล่าว

Advertisement

[มติชน ฉบับวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2562 หน้า 10]

คนไม่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ไทย

พิพิธภัณฑ์ได้รับความนิยม ในสังคมที่มีความเป็นสมัยใหม่อย่างสากล เช่น การเมืองประชาธิปไตย กระจายอำนาจ โดยไม่เป็นรัฐราชการรวมศูนย์, การศึกษามีเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัด กระตุ้นให้อยากรู้อยากเห็นไม่สิ้นสุด ทั้งจากตำราและจากการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรืออื่นๆ เป็นต้น

อย่างน้อย 2 สิ่งมีในสังคม ทำให้การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีเสรีภาพทั้งเนื้อหาและรูปแบบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สังคมแบบบ้านๆ มีความเชื่อตั้งแต่ศาสนาผีจนถึงศาสนาสากลของคนทุกระดับ เคล้าคละปะปนกันทั้งเจ้าขุนมูลนายและไพร่บ้านพลเมือง

Advertisement

บอกความเป็นมาของท้องถิ่นนั้นที่พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ และเป็นแหล่งกิจกรรมแบ่งปันข้อมูลข่าวสารอย่างรื่นรมย์สนองคนท้องถิ่นสม่ำเสมอ

สังคมใดไม่มีดังที่ยกมา แต่มีในทางตรงข้าม ต่อให้ประชาสัมพันธ์ทุกวันก็ไม่มีใครอยากเข้าชม ประจักษ์พยานเห็นอยู่แล้วในไทย มีกิจการพิพิธภัณฑ์มานานมากกว่า 100 ปี จนทุกวันนี้ยังหาไม่พบคนเข้าชม

ท้ายสุดก็พากันกล่าวโทษต่างๆ นานาต่อคนไทยไม่เข้าชม โดยไม่ตรวจสอบตนเองว่าบริหารจัดการด้วยแนวทางขาดตกบกพร่อง (คือทำพิพิธภัณฑ์เป็นโกดังเก็บของเก่า) ไม่เป็นสากลของความเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยตลอดชีวิต

มิวเซียมท้องถิ่นฝั่งทะเลตะวันออก

ทางเลือกเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย รัฐมนตรี วธ. ควรสนับสนุนท้องถิ่นฝั่งทะเลตะวันออกของไทย ให้จัดการสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ด้วยตนเองตามแนวทางมิวเซียมสากล (มีตัวอย่าง ได้แก่ มิวเซียมสยามในกรุงเทพฯ) โดยไม่อยู่ในกรอบคิดของกรมศิลปากร

โอกาสกระตุ้นคนเข้าชมมิวเซียมท้องถิ่นทางฝั่งทะเลตะวันออกจะมีมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image