คอลัมน์ โลกสองวัย : ประโยชน์ของวัคซีน

ปีหนึ่งช่วงเข้าสู่ฤดูฝน มีรายการแจ้งผ่านไลน์ให้บรรดา สว.และลูกเล็กเด็กแดงกับผู้ตั้งครรภ์ทั้งหลายไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัด แถมสารพัดที่วัคซีนป้องกันได้ ส่วนหนึ่งคือสำหรับ สว. เด็ก และผู้ตั้งครรภ์ในห้วงเวลาหนึ่งจะฉีดให้ฟรี กับวัคซีนอีกสองสามชนิดที่ต้องมีค่าวัคซีนและค่าป่วยการฉีด

สถานที่แห่งหนึ่งที่แจ้งความมาให้ไปฉีดได้ทั้งปี โดยเฉพาะ สว.ที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมและการติดเชื้อในกระแสเสือด เขาว่าฉีดเข็มเดียวป้องกันตลอดชีวิต มีผู้ไปรับบริการมากในแต่ละวัน วันเสาร์และวันหยุดราชการเปิดทำการ (ควรโทรศัพท์สอบถามก่อน เพราะวัคซีอาจขาดแคลนในช่วงนั้น) ในราคาเข็มละ 2,300 บาท สถานที่คือสภากาชาดไทย สถานเสาวภา ฝั่งสวนงู ที่จอดรถสะดวก เข้าไปแล้วบอกว่าไปฉีดวัคซีน

วัคซีนชนิดนี้เรียกว่า Pneunococci

โทรศัพท์ 0-2252-0161 ต่อ 132

Advertisement

ยืนยันว่า ผู้สูงวัย (สว.) ควรฉีดอย่างยิ่ง บริการวันทำการ เวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.00 น.

พักเที่ยง 1 ชั่วโมง 12.00-13.00 น.

วันเสาร์ และวันหยุดพิเศษ เวลา 08.30-12.00 น.

Advertisement

วันอาทิตย์หยุดทำการ

ส่วนวัคซีนชนิดอื่น อาทิ งูสวัด ราคา 4,700 บาท

ปอดบวม ราคา 2,300 บาท

หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ราคา 300 บาท 4 สายพันธุ์ ราคา 500 บาท

นอกจากนั้นยังมีค่าบริการทางการแพทย์ 50 บาท ค่าทำบัตรสำหรับคนไข้ใหม่ 20 บาท

เมื่อไม่นานมานี้ บรรดา สว. สหายของข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ใช้เวลาสายวันเสาร์ไปฉีดมาแล้ว กลับมาเล่าว่า เสียเวลาไม่มาก เที่ยงก็เสร็จ เดินหาก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวหมู ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดงมื้อเที่ยง ขึ้นรถคันเดียวกันกลับ สะดวกอย่าบอกใคร ไปกัน 4 คน อาศัยรถเพื่อนเป็นทั้งคนขับรถเป็นเจ้าของรถเบ็ดเสร็จ ด้วยความกรุณาของเพื่อนที่เดินออกกำลังกายด้วยกันทุกเช้านั่นแหละ

เรื่องนี้เขาว่าเพียงบอกต่อก็ได้บุญแล้ว ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) จึงนำมาบอกต่อๆ กันไป เผื่อว่าน้องหนูที่มีญาติผู้ใหญ่สูงวัยทั้งหลายสนใจ ไปวันเสาร์นี้ รับรองว่าอานิสงส์เกิดทั้งน้องหนูและข้าพเจ้า (ผู้เขียน) อนุโมทนาครับ

“วัคซีน” (Vaccine) เป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ หรือส่วนหนึ่งของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีกลไกชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้น กล่าวคือมีฤทธิ์ชักนำการสร้างภูมิคุ้มกันจำเพาะโรค

โดยทั่วไปจะประกอบด้วยส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค (แอนติเจน) ซึ่งถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง หรือตาย หรือการใช้ส่วนทั้งเป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง โดยวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและสามารถจดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรคซึ่งจะมีกลไกการทำลายต่อไป

คุณสมบัติการจดจำแอนติเจนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ร่างกายสามารถกำจัดแอนติเจนเมื่อได้รับอีกภายหลังได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

เอดเวิร์ด เจนเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ทราบเรื่องของสตรีผู้เลี้ยงวัวที่ไม่เคยป่วยโรคฝีดาษเลย ภายหลังเธอป่วยด้วยโรค cowpox ซึ่งเธอติดจากวัวที่เธอเลี้ยง และเป็นโรคอาการไม่รุนแรงในมนุษย์ ค.ศ.1796 จึงสกัดเชื้อ cowpox จากสตรีผู้นั้นให้เด็กชายวัย 8 ขวบ หลังจากนั้นเขาได้ให้เชื้อฝีดาษแก่เด็กชายคนนั้น พบว่าเด็กชายไม่ป่วยหรือมีอาการสำแดงถึงโรคฝีดาษ

ต่อมาทดลองเพิ่มถึงประสิทธิภาพในทารก ภายหลังนำความคิดนี้ไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วอังกฤษ แล้วถูกห้าม

เมื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ นำไปขยายผลทำให้เกิดวัคซีนขึ้นอีกหลายประเภท ทั้งนำมาใช้กับสัตว์หลายชนิด รวมทั้งวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ โปลิโอ ไอกรน เป็นต้น

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) จำได้ว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 เด็กเกิดใหม่ตั้งแต่ปีนั้น ไม่ต้องปลูกฝีป้องกันฝีดาษอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image