คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : อัพเดตสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซทั่วโลก และในบ้านเราเองยังร้อนแรงทั้งในแง่การแข่งขันและการเติบโต ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังอยู่ที่จีน ตามด้วยสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียน ด้วยมูลค่าตลาดโดยรวม 3.1 ล้านล้านบาท เติบโตกว่า 14%

แต่ถ้าคำนวณมูลค่าต่อประชากร ไทยยังเป็นที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการบริหาร บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด และ Chief Government Affairs Officer สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตก้าวกระโดดมาตั้งแต่ปี 2015 จากการใช้โทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และมีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาลงทุนมากขึ้นทั้งด้านอีคอมเมิร์ซ และการขนส่ง ผู้ค้ามากขึ้น ระบบการชำระเงินที่ดีขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

และคาดว่าในอีก 5-10 ปีต่อจากนี้ สัดส่วนของการค้าแบบ B2C ที่เป็นธุรกิจต่างประเทศส่งสินค้าเข้ามาขายถึงผู้บริโภคไทยโดยตรงจะมีสัดส่วน มากกว่า 50% จากปัจจุบันมีไม่ถึง 30% เนื่องจากระบบขนส่งที่ดีขึ้น การนำเข้าสินค้าง่ายขึ้นและไม่ต้องเสียภาษี ทั้งยังใช้ประเทศไทย เป็นฐานในการกระจายสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียงได้อีกด้วย

Advertisement

“80% ของสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นสินค้าจีน โดยอาลีบาบาได้มาลงทุนในไทยเป็นหมื่นล้านบาท ก็เพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์ และคลังสินค้า เช่นกันกับอเมซอนที่มาเปิดออฟฟิศในไทย ฉะนั้นคนทำธุรกิจต้องดูตรงนี้ให้ดี เพราะคู่แข่งจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นต่างประเทศ”

ในทางกลับกัน ผู้ขายสามารถส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น และทำกำไรได้มากกว่าขายแค่ในประเทศ เพราะสินค้าไทยมีความเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากคู่แข่ง แต่สัดส่วนการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทย 40% มาจากโซเชียลมีเดีย 35% มาจากอีมาร์เก็ตเพลซ และ 25% จากเว็บไซต์

“การสร้างธุรกิจทุกวันนี้ มี 3 C คือ content, community และ commerce โดยแพลตฟอร์มโซเชียลจะพยายามสร้างคอมมิวนิตี้อย่าง Facebook group ที่กำลังมาแรงมาก หรือ LINE open chat ก็น่าจะเป็นช่องทางค้าขายได้ แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย”

Advertisement

เช่น “เฟซบุ๊ก” จะมีความเป็นสากลมากกว่า “ไลน์” แต่ถึงแม้ว่า “ไลน์” จะไม่เหมาะกับการใช้ติดต่อกับต่างชาติ แต่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงวัย เป็นต้น

ในส่วนของการทำการตลาดออนไลน์ จากการสำรวจข้อมูลพบว่าผู้บริโภคปัจจุบัน 86% ไม่เชื่อในสิ่งที่แบรนด์สื่อสาร และ 92% เชื่อการรีวิวของคนทั่วไปมากกว่าจึงอาจใช้ “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” (Micro Influencers) เช่น บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์ที่มีผู้ติดตามหลักหมื่นคนช่วยสื่อสารแทนแบรนด์ได้

และต่อไปต้นทุนในการทำธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” จะลดลง เพราะมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยได้มากจึงไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานจำนวนมาก เช่น มีการใช้ Marketing Automation ที่มี “แชตบอต” คอยตอบคำถามลูกค้าหรือการนำเทคโนโลยี “จดจำใบหน้า” (Face Recognition) มาใช้กับการทำตลาดแบบ O2O (Online To Offline) ที่จะมีการเชื่อมช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“ระบบจดจำใบหน้าทำให้รู้ว่าลูกค้ามาร้านกี่ครั้ง ชอบดูสินค้าแบบไหนจึงนำเสนอสินค้าที่เฉพาะเจาะจงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ รวมไปถึงการทำระบบสมาชิกหรือระบบสะสมแต้มที่มีส่วนสำคัญในการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปวิเคราะห์เพื่อให้การนำเสนอสินค้าและบริการตอบโจทย์มากขึ้น”

“ภาวุธ” กล่าวต่อว่า เมื่อการค้าขายในประเทศทั้ง “สินค้าท้องถิ่น” และ “แบรนด์เนม” ต่างหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นจะมีผลโดยตรงกับ “ตัวกลาง” หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่จะลดบทบาทลงเรื่อยๆ ขณะที่บรรดาอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ต่างเพิ่มน้ำหนักในการทำตลาดมากขึ้นด้วยการส่งสารพัดโปรโมชั่นออกสู่ตลาดทำให้น่ากังวลว่าร้านค้าในชุมชนตามต่างจังหวัดอาจทยอยปิดตัวลงภายใน 5 ปีข้างหน้า

“ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นจะไปก่อน แต่ปัญหา คือเม็ดเงินที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ไหลกลับไปประเทศต้นทางของสินค้า ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามาดูแลในส่วนนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องระยะสั้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนระยะยาว”

และในอีกมุม การเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ อาทิ บริษัทขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นและมีการแข่งขันสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แม้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการจากจีนก็ตาม

ท่ามกลางโอกาส และความท้าทายใหม่ๆ “ภาวุธ” มีข้อแนะนำสำหรับ “ธุรกิจ” ที่ต้องการจะอยู่ให้รอดในโลกออนไลน์ว่าต้องเตรียมการใน 6 ขั้นตอนด้วยกัน คือ 1.วางแผนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก 2.พัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

3.เพิ่มช่องทางการขาย โดยเฉพาะในต่างประเทศ โดยตลาดที่น่าสนใจ คือ CLMV เพราะเป็นตลาดใหญ่ อีกทั้งสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วจึงได้เปรียบกว่าสินค้าจากจีน ขณะที่ผู้ผลิตไทยยังไม่ค่อยออกไปต่างประเทศทั้งที่ปัจจุบันการขนส่งค่อนข้างดี

4.สร้างทีมในการทำโดยตรง 5.เข้าใจการนำธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ และสุดท้าย 6.อย่าอยู่กับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง

ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ ต้องรักษาพนักงานที่มีทักษะด้านอีคอมเมิร์ซให้อยู่กับองค์กรให้ได้ เพราะยิ่งแบรนด์สินค้าทั้งหลายเข้าสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้นจะทำให้เกิดการแย่งตัวบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะผู้ที่เรียนจบด้านนี้โดยตรงในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก

“ภาวุธ” ทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เงินเดือนของบุคลากรด้านออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซเฟ้อมาก เพราะแบรนด์ธุรกิจต่างๆ ต้องการไปออนไลน์กันหมดทำให้เกิดการช่วงชิง “คน” ที่มีความสามารถ ฉะนั้นถ้ามีบุคลากรที่ดีอยู่แล้วก็ต้องรักษาไว้ให้ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image