คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : สมาร์ทครัว สมาร์ท B to C

“ธุรกิจยุคใหม่ ผู้บริโภคครองเมือง” แหล่งข่าวกล่าวไว้

ก่อนหน้านี้ เวลาบริษัทผลิตสินค้าออกมา ช่องทางการขายมีแบบง่ายกับยาก แบบง่ายเขาเรียกว่า

B to B -business to business หมายถึงผู้ประกอบการผลิตสินค้าและขายให้กับผู้ประกอบการด้วยกัน

เช่น ประตู กระเบื้อง ปูน ถ้าขายให้กับบริษัทจัดสรร 1 รายเพื่อสร้างบ้าน 1,000 หลัง การขายให้บริษัทเดียวเท่ากับขายได้ 1,000 คน

Advertisement

แบบขายยากคือ B to C -business to customer ประตู กระเบื้อง ปูน ตามมาขายให้กับลูกค้าทีละ 1 คน แบบนี้ขายกันตาแฉะกว่าจะได้ยอดขาย 1,000 ราย

เกือบร้อยทั้งร้อยยอดขายแบบ B to B สูงกว่า มีตั้งแต่ 60-70% ของยอดขายรวม ลูกค้าโปรเจ็กต์ซื้อล็อตใหญ่ เรียกว่าลูกค้าโฮลเซลหรือขายส่งก็ได้

อีกแบบ B to C ขายให้กับรายย่อย สัดส่วน 30-40% เรียกว่าลูกค้าขายปลีก พูดให้เท่ๆ คือลูกค้ารีเทล-retail

จุดเปลี่ยนไม่ได้อยู่ที่ผู้ผลิตสินค้าเขานึกอยากจะ love ผู้บริโภคขึ้นมากะทันหัน แต่เป็นเพราะถูกบีบบังคับจากโลกยุคดิจิทัล สมาร์ทโฟนกลายเป็นทุกสรรพสิ่งบนมือลูกค้า

บวกกับภาวะเศรษฐกิจภาพรวมคลอนแคลนง่อนแง่น คนมีกะตังค์ก็ไม่กล้าลงทุน ลูกค้า B to B มีแนวโน้มหดตัว และไม่รู้จะฟื้นกลับมาซื้อง่ายขายคล่องกันอีกเมื่อไหร่

ทางเลือก-ทางรอดของผู้ผลิตสินค้าก็เลยต้องหันมาเล่นของยาก หันมาทำตลาด B to C ขายสินค้ายิงตรงถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น

ล่าสุดเพิ่งไปคุยกับ “กลุ่มสตาร์มาร์ค” ยี่ห้อนี้ไม่ธรรมดา รุ่นคุณเตี่ยบุกเบิกไว้ตั้งแต่ปี 2509 ปัจจุบันอายุองค์กร 50 กว่าปี เป็นเจ้าตลาดชุดครัวฝรั่งหรือชุดครัวแพนทรี่ เขาขายแบบ B to B ตกปีละ 20,000 ชุดในปัจจุบัน

ขายเยอะแยะขนาดนี้แต่ก็ยังหนีไม่พ้นต้องปรับตัวหันมาง้อผู้บริโภค เจอผู้บริหาร “คุณวีก้า-ณัฐปภัสร์ ศรีสกุลภิญโญ” เอ็มดีหญิงมาดเท่ บอกว่าแผน 3 ปีนี้จะเพิ่มรายได้ B to C กับเขาเหมือนกัน จากเดิม 40% เร็วๆ นี้ต้องเพิ่มเป็น 50%

จากเดิมทำชุดครัวอย่างเดียว แอบทดลองตลาดทำอินทีเรียร์ครบจบที่เดียว ติดตั้งชุดครัวไม่พอ รับจ๊อบผ้าม่าน วอลเปเปอร์ ทาสี ลงเฟอร์นิเจอร์ให้ครบ ทำมาสิบปีแล้ว รู้บิ๊กดาต้าลูกค้าจนเข้าฝักแล้ว ลูกค้าสั่งทำชุดครัวพร้อมตกแต่งห้อง ถัวเฉลี่ยจ่ายเงินปุ๊บ 1 เดือนงานเสร็จแน่นวล

“คุณวีก้า” มีเกล็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าให้ฟัง ปกติชุดครัวในคอนโดมิเนียมกับทาวน์เฮาส์เหมือนกันตรงที่พื้นที่ขนาดเล็ก ความยาวไซซ์ 1.2-1.66-2.2 เมตร

พฤติกรรมการใช้ครัวในคอนโดฯ กับทาวน์เฮาส์ เริ่มเหมือนกันอย่างหนึ่งคือไม่คุกกิ้ง ไม่ผัดไม่ปรุงมาก ครัวเล็กๆ ก็พอ แต่ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวอันนี้เริ่มจริงจัง ต้องมีครัวไทย ครัวฝรั่งหรือแพนทรี่

ชุดครัวในคอนโดฯ ถ้ามีฮู้ดหรือที่ดูดควันจะเป็นแบบ hood slim ตัวบางๆ ประหยัดพื้นที่ ใช้เตาไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นฮู้ดในทาวน์เฮาส์เป็นฮู้ดแบบกระโจม ฝาครอบใหญ่ๆ เพราะใช้เตาแก๊สได้

เรื่องเชปหรือรูปร่างครัว ชุดครัวคอนโดฯ อาจมี L shape-แอลเชป, I shape-ไอเชป ได้ แต่ถ้าเป็นทาวน์เฮาส์ ฮิตสุดและพื้นที่บังคับ ส่วนใหญ่ติดตั้งแบบ “ไอเชป” เพราะข้อจำกัดเรื่องบานประตู

กรณีเป็นครัวไอส์แลนด์ ถ้าเป็นคอนโดฯ ต้องแบบ 2 ห้องนอนขึ้นไป หรือพื้นที่ใช้สอย 60 ตารางเมตรขึ้นไป ถึงจะสามารถเจียดพื้นที่ติดตั้ง “ครัวเกาะกลาง” หรือครัวลอยเพิ่มขึ้นมา

ส่วนบ้านเดี่ยว ไร้ปัญหาเพราะพื้นที่เยอะ อยากเสกชุดครัวแบบไหนทำได้หมดทุกสิ่งอย่าง

การติดตั้งชุดครัว เขาทำรีเสิร์ชหรือทำสำรวจวิจัยจนตาแตกมาแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ เดินในโชว์รูมแล้วถูกใจ ยกมาตั้งทั้งชุดเลย

วิธีการจะเริ่มต้นจากการทำแบบสอบถามพฤติกรรมการใช้ และความต้องการลูกค้า อันดับแรก ลูกค้าต้องถามตัวเองก่อนเลยว่าต้องการใช้ครัวแบบไหน

เช่น เป็นพวกเสพติดสังคม ชอบจัดงานปาร์ตี้ ชุดครัวก็ต้องทำแบบหนึ่ง, ถ้าไม่ชอบทำครัว ตื่นเช้ามาอย่างน้อยปิ้งขนมปัง ชงกาแฟเป็นอาหารเช้า ครัวก็แบบหนึ่ง, ถ้าชอบทำครัวชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ ชุดครัวก็ต้องอีกแบบหนึ่ง

การสำรวจต้องลงลึกไปถึงตับไตไส้พุง เอ้ย ไม่ใช่ ลงลึกรายละเอียดกายวิภาคของผู้ใช้ครัว เช่น เป็นคนถนัดซ้ายหรือถนัดขวา เพราะมีผลโดยตรงต่อการวางเรียงอุปกรณ์ในครัว เขาเรียกว่า ต้องให้มีการไหลเวียนราบรื่นหรือต้องมี flow ของการ cooking

เช่น ถ้าถนัดขวา ต้องเรียงตำแหน่งตู้เย็นไว้ทางซ้ายของห้องครัว ถัดตู้เย็นก็เป็นซิงก์สำหรับล้างโน่น-นี่ ถัดมาก็เป็นเตา ในทางกลับกันถ้าถนัดซ้ายการจัดเรียงอุปกรณ์ก็กลับด้านกัน

กรณีลูกค้าชอบทำอาหารกินเองที่บ้านหรือทำไว้รับแขก ถ้าอยู่บ้านเดี่ยวแนะนำให้ติดตั้งท็อปอัพหรือวัสดุปิดผิว “หินควอตช์” ซึ่งแบคทีเรียไม่เกาะ-anti bacteria

เหตุผลไม่ใช่เพราะคุณหมอเป็นคนผลิต ไม่ใช่ใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมแทนน้ำ แต่เป็นเพราะเป็นวัสดุทดแทนผลิตให้หน้าผิวราบเรียบ จึงไม่มีรูพรุนเหมือนหินธรรมชาติ แบคทีเรียก็เลยไม่มีที่ยึดเกาะ โอ๊ย ตายแล้ว เพิ่งรู้ความจริงเหมือนกันนะเนี่ย

อีกสักตัวอย่าง กรณีเจ้าของบ้านรักความสะอาดจนขี้ขึ้นสมอง อุ๊ย แรงไปหรือป่าวนะ หมายถึงเป็นโรครักความสะอาด การใช้ซิงก์ถ้ามีหลุมเดียวควรเป็นหลุมใหญ่ แต่ให้ดีทำซิงก์ 2 หลุมไปเลย เป็นต้ลล

ถ้าลูกค้าอยากมาจับต้องของจริงก็ไปดูที่โฮมโปร 70 สาขา กับโชว์รูมใน CDC ย่านเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา แต่ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์เป็นโรคนอนติดเตียงอยู่ที่บ้าน เขามีแอพพลิเคชั่นผลิตร่วมกับสตาร์ตอัพ home prise คลิกเข้าไปเลยดูกันตาฉ่ำ

ลูกค้านักเลงคีย์บอร์ดสมัยนี้จำลองภาพแบบ 3 มิติหรือ 3D-ทรีดี ไม่พอ สตาร์มาร์คเขาพัฒนาเป็น AR ย่อจากอะไรไม่รู้ แต่เราส่องสถานที่จริงแล้วหยิบสินค้าสตาร์มาร์คไปวาง ถ้าใหญ่ไปก็วางสินค้าไม่ได้ แปลว่าต้องเลือกตัวอื่น

เห็นแมะ แค่นี้ก็สนุกแล้ว แถมใช้งานได้จริงด้วย

ทีเด็ดกว่านั้น เนื่องจากเข้าโครงการยี่ห้อดังมาเป็นสิบๆ ปี มีบิ๊กดาต้าทั้งลูกค้าโครงการกับลูกค้านับทีละหัว เฟอร์นิเจอร์ชุดครัวของเขามีทั้งแบบสั่งออเดอร์ให้เป็น smart kitchen ใส่เทคโนโลยีสมาร์ทๆ เข้าไป

อยากเล่นเล็กหรือเล่นใหญ่ ทำได้หมด สนนราคาบวกเพิ่มเบาะๆ 2,000 กว่าบาท ก็เป็นสมาร์ทครัวได้แล้ว

โลกการแข่งขันยุคดิจิทัล เป็นยุคลูกค้าครองเมืองจิงจิง ดั๊วะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image