คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Trader เมื่อเงินไม่มีความหมายเท่า ‘มันฝรั่ง’

ภาพประกอบ YoutubeVideo/Netflix

ภาพยนตร์ “สารคดีสั้น” สัญชาติจอร์เจียความยาว 23 นาที ในชื่อว่า “Sovdagari” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “The Trader” มีความเรียบง่าย เงียบขรึม แต่พลันที่ดูจบเป็น 23 นาที ที่ส่งเสียงดัง และมี “พลัง” ในการพูดถึง “ความยากจน” ที่ชวนคิดไปถึงระดับ “โครงสร้าง” เลยทีเดียว

ด้วยอานุภาพที่ทุกซีนทุกฉากอันแสนเรียบง่ายนั้น ยิ่งกลับทำให้คนดูต้องนิ่งงัน

ผลงานกำกับโดย “Tamta Gabrichidze” ผู้กำกับหญิงชาวจอร์เจีย ประเทศที่ภูมิศาสตร์ตั้งอยู่เกือบสุดขอบทวีปเอเชีย ซึ่งเธอพาหนังสารคดีสั้นเรื่องนี้คว้ารางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมจาก “เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์” เมื่อปีที่ผ่านมา

ใน “The Trader” ติดตามชีวิตของ “เกล่า” พ่อค้าเร่ที่ตระเวนเข้าไปขายสินค้ามือสองในชนบทของสาธารณรัฐจอร์เจีย ของที่เขาบรรทุกใส่รถตู้ไป โดยมากเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ด ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป

Advertisement

ความน่าสนใจคือในชนบทอันห่างไกลจากเมืองหลวงของจอร์เจีย ที่นั่นสิ่งแลกเปลี่ยนสินค้ามือสองของชาวบ้านไม่ใช่ “เงิน” แต่เป็น “มันฝรั่ง” ที่ชาวบ้านชาวไร่ตามหมู่บ้านในชนบทปลูกกันโดยทั่วไป

หนังสารคดีเปิดเรื่องด้วยชายคนหนึ่งที่ชื่อ “เกล่า” กำลังขับรถไปที่ไหนสักแห่ง ก่อนที่เขาจะปรากฏตัวอยู่ในแหล่งขายสินค้ามือสอง และเข้าไปค้นหาคัดเลือกสินค้าต่างๆ

Advertisement

ช่วงแรกคนดูอาจจะสงสัยว่าชายผู้นี้กำลังทำอะไร ก่อนจะรู้ต่อมาว่าเขาคือ “พ่อค้าเร่” ที่ขับรถตู้ไปตระเวนเสนอขายสินค้ามือสองตามชนบทห่างไกล โดยสินค้าที่ขายนั้น เขาจะแลกกับ “มันฝรั่ง” วัดเทียบเป็นจำนวนกิโลกรัมแทน “เงิน” ซึ่งสินค้าที่เขาขายก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่แลกเปลี่ยนได้ง่ายๆ อาทิ รองเท้า เสื้อโค้ต หรือเครื่องสำอาง แม้กระทั่งผลไม้อื่นก็นำไปแลกกับมันฝรั่งได้

ผ้าพันคอที่แม่บ้านในชนบทลองนำมาพันแล้วถูกใจ ก็ขายแลกกับมันฝรั่ง 5 กิโลกรัม หรือรองเท้าบู๊ตที่แลกกับมันฝรั่งเกือบ 20 กิโลกรัม

ก่อนที่หนังสารคดีเรื่องจริงนี้จะพาไปดูชีวิตผู้คนในชนบทที่ช่วยกันเก็บเกี่ยวมันฝรั่งในไร่ พูดคุยกันสัพเพเหระว่าถ้ารถขายสินค้าของเกล่ามาถึงหมู่บ้านเมื่อไร ใครตั้งใจจะซื้ออะไรบ้าง ด้วยผลผลิตมันฝรั่งที่จะนำไปแลกกับข้าวของที่พวกเขาอยากได้ หรือของเล่นให้ลูกหลาน ซึ่งทั้งหมดเป็นของมือสองที่สภาพใช้การได้

ขณะเดียวกันสารคดียังสลับกับการถ่ายทอดให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ดูไม่เห็นอนาคตที่ดีไปกว่านี้ บ้างก็ถึงกับเป็น “ชะตากรรม” ที่ไร้ความหวังด้วยซ้ำ

ผู้คนชนบทห่างไกลความเจริญ และไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและมั่นคงนัก มีเพียง “มันฝรั่ง” ที่ลงแรงปลูก คือ สิ่งของมีค่าในชีวิต ที่ซึ่งพ่อค้าเร่อย่างเกล่า มองเห็นช่องทางหารายได้ และมีกลยุทธ์ที่จะเข้ามาทำธุรกิจการค้าในชนบทเพื่อรวบรวมและขนมันฝรั่งมาขายปลีกต่อในตลาดที่เมืองหลวง

พ่อค้าเร่ผู้พยายามทุกวิถีทางที่จะเรียกลูกค้าตามชนบท ทั้งผู้สูงวัย และเด็กๆ ให้มาสนใจข้าวของเต็มหลังรถของเขา มีตั้งแต่พยายามยั่วเย้าเอาของเล่นมาเสนอเด็กๆ ให้สนใจ และบอกให้ไปตามพ่อแม่มาดูข้าวของ ส่วน “เกล่า” ก็ตั้งหน้าตั้งตาจะขายของมือสองที่ขนมาให้ได้อย่างถึงที่สุด

นี่คือหนังสารคดีสั้น 23 นาที ที่แง้มหน้าต่างช่องเล็กๆ สะท้อนให้เราเห็นปัญหาระดับ “โครงสร้างทางสังคมในเขตชนบท” ที่มีในทุกที่ทั่วโลก ตั้งแต่การ “ขาดแคลนโอกาส” ความไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่น่าพอใจ และที่สำคัญ “ปัญหาความยากจน”

“The Trader” เป็นหนังสารคดีที่พูดถึงชีวิตที่จำต้องยอมรับในชะตากรรมของผู้คนในชนบทที่ไม่มีทางเลือก และชีวิตของพ่อค้าเร่ที่ต้องปากกัดตีนถีบ โดยทั้งหมดนำเสนอไปกับการซ่อนนัยโครงสร้างทางสังคม และระบบทุนไปด้วย เรื่อยไปถึง “มันฝรั่ง” คือภาพแทนของ “โครงสร้างภาคเกษตร” ที่ “สินค้าเกษตร” ถูกกำหนดและกดราคาโดยที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก หรือแม้แต่จะมีอำนาจต่อรองด้านราคาได้เลย

ผลคือหนังสารคดีสั้น 23 นาทีเรื่องนี้ส่งเสียงและสะกิดใจคนดูได้หนักหน่วงไม่เบา

เราได้เห็นชาวบ้านในชนบทเป็นชายสูงวัยที่บอกเล่าความฝันว่าเขาอยากมีการศึกษา อยากเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีโอกาส ทำได้เพียงเลี้ยงชีพด้วยการปลูกมันฝรั่ง และความฝันในวัยเกือบชราที่มีเหลือแค่เพียง หวังให้ผลผลิตมันฝรั่งดีๆ และมีงานทำ ไม่ต้องนั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ…เป็นความฝันในชีวิตของชายสูงวัยในชนบทผู้ไม่มีโอกาสหรือมีทางเลือกอื่นอีกแล้ว

“ผมไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว ได้แต่นั่งเฉยๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง ถ้าผมยังหนุ่มผมจะขับรถไปจากหมู่บ้านนี้เลย แต่ช่วงเวลานั้นก็ผ่านไปแล้ว” บทสรุปคำพูดอันน่าเศร้าของชีวิตคนคนหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เมื่อถามเด็กในหมู่บ้านถึงความฝันที่ซุกซ่อนอยู่ของเขา ดูเหมือนเด็กน้อยจะได้แต่ยืนยิ้ม หันกลับไปมองแม่ที่พูดเสียงลอยเข้ามาว่า “บอกเขาไปสิว่าอยากเป็นนักข่าว” แต่ที่สุดเด็กชายก็ไม่กล้าพูดความฝันของตัวเองออกมา ได้แต่ยืนยิ้มอย่างขวยเขิน จนดูราวกับว่าในชนบทแห่งนี้ไม่มีความหวังอะไรเหลืออยู่แล้ว

ฉากสะเทือนใจที่คุณยายอยากได้ที่ขูดมันฝรั่งเอาไว้ไปใช้ทำอาหาร แต่เพราะความแก่ชราที่ไม่ได้มีเรี่ยวแรงไปช่วยทำไร่มันฝรั่ง นอกจากไม่มีมันฝรั่งมาแลกของแล้ว และคาดว่ามันฝรั่งที่มียังต้องเก็บไว้เป็นอาหาร หญิงชรามีเงินที่จะจ่ายให้แค่ 1 ลารี (ราว 10 บาท) ภาพที่เราเห็นการอ้อนวอนเพื่อขอจ่ายแค่ 1 ลารี แลกกับเครื่องใช้ในครัวไว้ประกอบอาหาร จึงน่าหดหู่ยิ่งนัก

ฟาก “พ่อค้าเร่” อย่างเกล่า ที่หนังสารคดีก็ฉายให้เห็นภาพของคน “หาเช้ากินค่ำ” เช่นกัน เป็นมนุษย์ปุถุชนที่วันไหนหาเงินจากการขายมันฝรั่งได้ก็กินซุปเนื้อแทนซุปมันฝรั่ง ก่อนที่พรุ่งนี้ชีวิตก็จะต้องวนลูปขับรถไปหาสินค้ามือสอง คัดเลือกสินค้า และออกไปตระเวนขายแลกมันฝรั่งต่อไป

สารคดี “The Trader” ใช้เวลาเพียง 23 นาที แต่ทำหน้าที่ถ่ายทอดชีวิตที่ไม่มีทางเลือกของผู้คนในชนบทให้เราได้สัมผัสแบบเต็มตา ตั้งแต่คนรุ่นปู่ย่า ตายาย รุ่นพ่อแม่ และเด็กๆ ที่ขาดโอกาส ให้คนดูซึมซับสะท้อนไปถึงปัญหาโครงสร้างทางสังคมของชีวิตในชนบทที่หลายครัวเรือนยังอยู่ใต้เส้นขีดความยากจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image