คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : King Georges ความบ้าคลั่งของ ‘จอร์จ เปร์ริเย่’ ‘พ่อครัว’ ระดับตำนาน

ภาพประกอบ Youtube Video/IFC Films

“King Georges” คือสารคดีที่เล่าเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่มีโฟกัสภารกิจเดียวในชีวิตที่ชัดเจน และเขาก็ทำมันได้ดีที่สุด แม้จะเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ท่ามกลางความล้มเหลวอื่นๆ ในชีวิต นั่นคือการเป็น “พ่อครัว” ทำอาหาร

และแม้ถึงวัยเกษียณ ที่ละวางตำแหน่งเชฟอย่างเป็นทางการไปแล้วเขายังคงจงรักภักดีต่อการเข้าครัว ทำอาหารร่วมกับเชฟรุ่นใหม่อย่างสม่ำเสมอ และยังคงดำรงตนทั้งเป็น “พี่เลี้ยง” และแรงบันดาลใจให้เชฟหลายต่อหลายคนในสหรัฐอเมริกา

ที่ว่ามาคือเรื่องราวบางเสี้ยวชีวิตของ “จอร์จ เปร์ริเย่” เชฟที่ย้ายรกรากจากเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส มาเปิดภัตตาคารอาหารตำรับฝรั่งเศสแท้ๆ ที่ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ

“จอร์จ” เปิดร้านอาหารสเกลใหญ่หรูหราแบบ “Fine Dining” ที่ชื่อว่า “Le Bec-Fin” (เลอ เบก-แฟ็ง)

Advertisement

ภัตตาคารที่ “หรูหราจัดเต็ม” สไตล์ “ไฟน์ไดนนิ่ง” นั่นคือร้านอาหารระดับบนที่ต้องเนี้ยบและพิถีพิถัน นำเสนอเมนูอาหารคุณภาพสูง รสชาติสุดพิเศษ มีการเสิร์ฟเป็นคอร์ส และมีบรรยากาศการมารับประทานอาหารแบบทางการ ทั้งการแต่งกายของลูกค้า ไปจนถึงการบริการระดับเยี่ยม และการตกแต่งร้านที่เลิศหรู

ร้านเลอ เบก-แฟ็ง ดำเนินกิจการมายาวนานถึง 40 ปี ตั้งแต่ทศวรรษ 70 ก่อนจะปิดลงในปี 2013 ด้วยความนิยมของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนมีไลฟ์สไตล์ และให้ความสนใจต่อร้านอาหารรูปแบบอื่นมากกว่า ขณะที่ร้านอาหารฝรั่งเศสแท้ๆ แบบจัดเต็มไฟน์ ไดนนิ่งไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอดีต พร้อมกับที่ไม่อยู่ในสายตาของหมู่นักชิมรุ่นใหม่

แต่ชื่อเสียงของภัตตาคารแห่งนี้ก็เป็นตำนานของความคลาสสิกที่ได้รับการยกย่องในยุค 80-90 จากนักวิจารณ์อาหารและนักชิม ซึ่งภัตตาคารแห่งนี้เคยรั้งตำแหน่ง “ร้านอาหารที่ยอดเยี่ยมที่สุด” ในสหรัฐอเมริกา ส่วน “จอร์จ เปร์ริเย่” เชฟและเจ้าของภัตตาคารขึ้นทำเนียบปรมาจารย์การทำ “ซอส” ที่เยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของโลก พร้อมกับเมนูซิกเนเจอร์ขวัญใจลูกค้า “ทอดมันปู”

กว่าจะมาเป็นตำนานและถึงจุดจบในเวลา 40 ปี ภาพยนตร์สารคดี “King Georges” พาเราไปดูมุมมอง และวิถีชีวิตหลังครัวของ “จอร์จ เปร์ริเย่” ที่ทั้งเพี้ยน ดุดัน บ้าคลั่ง หัวเสีย โวยวาย เจ้าระเบียบ พร่ำบ่นพอๆ กับพร่ำสอนเหล่าเชฟ

ผู้ช่วยเชฟ และลูกมือในครัวไปพร้อมๆ กัน

แม้เราจะคุ้นเคยภาพของ “เชฟ” ดังระดับโลกหลายต่อหลายคนที่มักมีความติสต์ และอารมณ์ร้ายรุนแรงเท่ากับฝีมือทำอาหารอันร้ายกาจของพวกเขา แต่สำหรับ “จอร์จ เปร์ริเย่” เชฟยุคเบบี้บูมเมอร์ ที่ดูจะไม่ติสต์เทียบเท่า แต่มีความ

คลาสสิกและของแท้ในตัว เขาคือ “เชฟ” ที่มีระเบียบแบบแผนและ “เป๊ะ” มากกว่าจะ “ด้นสด” เพราะเขาไม่ต้องการให้มีการ “ผิดพลาด” แม้สักนิดเดียว

เขาสร้างมื้ออาหารราวกับเป็น “คอนดักเตอร์” ควบคุมวงออเคสตราที่เป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องดนตรีและผู้บรรเลงจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัยความมีระเบียบแบบแผน และเนี้ยบเป๊ะ

เราได้เห็นความเป็นเชฟเก่งระดับพรสวรรค์ของ “จอร์จ” และมีความเป็นครูโดยธรรมชาติ แต่อีกด้านก็เป็นคนจู้จี้และต้องการความสมบูรณ์แบบ ซึ่งวิธีทำงานของเขาถือว่าเหนื่อยมากในโลกที่เต็มไปด้วยความบกพร่อง

กว่าครึ่งเรื่องของสารคดี “จอร์จ” ทั้งกดดันตัวเองและกดดันทีมเชฟที่ต้องเหน็ดเหนื่อยและรับมือกับความเนี้ยบของเขาเพื่อรักษามาตรฐานแบบถอยกลับไม่ได้

“เราต้องทำให้เยี่ยมเหมือนเดิมทุกครั้ง” คือคำสารภาพของ “นิก เอลมี” เชฟหนุ่มที่เป็นดั่ง “ศิษย์เอก” และ “เชฟคู่ใจ” ที่มีโอกาสได้เรียนรู้งานกับเชฟระดับตำนานอย่าง “จอร์จ”

“นิก” คือภาพแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากให้ “เลอ เบก-แฟ็ง” ปรับตัวเข้าหายุคสมัยได้มากกว่าเดิม

เมื่อถึงจุดที่ภัตตาคารที่เคยดังมากได้รับความสนใจจากผู้คนน้อยลงทุกที นำมาสู่ผลประกอบการที่ลดลง แต่ “จอร์จ” ก็ยังแน่วแน่ในแนวทางของตัวเองมากกว่าจะ “เปลี่ยนและปรับ” ตามที่เชฟศิษย์เอกของเขาอยากให้เป็น กระทั่งสภาวะเศรษฐกิจและความนิยมที่เปลี่ยนไปทำให้ต้องลงเอยที่ปิดภัตตาคารลง

“เลอ เบก-แฟ็ง” ที่เป็นเหมือน “ชีวิตและจิตใจ” ที่แยกขาดจากกันไม่ได้กว่า 40 ปี ของ “จอร์จ เปร์ริเย่” ในวัยเกือบ 70 ปี ยิ่งเป็นเรื่องชวนสะเทือนใจ เมื่อตัวตนของเขาทั้งหมดคือ เลอ เบก-แฟ็ง ซึ่งแม้แต่ลูกสาวของเขา เมื่อให้นึกถึงพ่อ ภาพที่ชัดเจนในความทรงจำที่ว่าพ่อหลงใหลในการทำอาหารและดูแลภัตตาคารอย่างสุดตัวแค่ไหน ใส่ใจมากกว่าชีวิตครอบครัว ซึ่งลงเอยที่การหย่าร้าง

แม้จะเหมือนลงเอยที่ชีวิตโดดเดี่ยว ภัตตาคารปิดตัวลง “จอร์จ” ใช้ชีวิตเพียงลำพังกับสุนัขคู่ใจ ยามว่างทำเพียงเข้าครัวลงมือทำอาหารให้ตัวเองกินเท่านั้น

แต่ตำนานก็คือตำนาน เมื่อ “จอร์จ” คือผู้สร้างแรงบันดาลใจและครูโดยธรรมชาติให้กับเชฟรุ่นหลัง เช่น “นิก” อดีตเชฟคู่ใจของเขา ที่ชนะการแข่งขันประกวดทำอาหารในรายการ “ท็อปเชฟ” และได้เปิดร้านอาหารของตัวเองในฟิลาเดลเฟีย คนที่เขารำลึกถึงและอยากจะร่วมมื้อสังสรรค์ด้วยมากที่สุดก็ไม่ใช่คนอื่นไกล “จอร์จ” ที่เปรียบเหมือนเมนเทอร์ชี้แนะวิถีแห่งเชฟให้เขาผ่านการฝึกฝนวันแล้ววันเล่าด้วยเนื้องานจากภัตตาคาร เลอ เบก-แฟ็ง

ในฉากท้ายๆ ที่ “จอร์จ เปร์ริเย่” วางความเป็นตำนาน และส่งไม้ต่อให้เชฟรุ่นใหม่ผ่านฉากเล็กๆง่ายๆ ที่เขาร่วมทำอาหารกับ “นิก” ได้กลายมาเป็นการ “จุดประกาย” ให้ “จอร์จ” ที่ชีวิตดูแห้งเหี่ยว เหงาๆ หลังปิดภัตตาคารที่รัก จนเหมือนจะเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิต แต่ก็กลายเป็น “จุดเริ่มต้น” ของสิ่งใหม่ๆ เมื่อจอร์จมักจะใช้เวลาไปอยู่ตามหลังครัวของร้านอาหารหลายร้านในฟิลาเดลเฟีย เข้าครัวทำอาหารกับเชฟของร้าน ในแบบฉบับยกย่องเชฟรุ่นใหม่ เขาแบ่งปันความรู้ แบ่งปันความสำเร็จ และจัดการกับความรู้สึกและอีโก้ของตัวเองได้สำเร็จ

ภาพตัดจบที่ “จอร์จ” ชายแก่ในชุดผ้ากันเปื้อน และสุนัขคู่ใจ นั่งติดดินมองผู้คนเดินผ่านไปมาอยู่หน้าร้านของ “นิก”

เหมือนจะโดดเดี่ยว แต่ก็ดูทระนง เมื่อเราได้เห็น “จอร์จ เปร์ริเย่” ปลดระวางความกดดันที่จะสมบูรณ์แบบตลอดเวลาออกไปได้ในที่สุด

“King Georges” เป็นหนังสารคดีชีวิตที่เล่าเรื่องราวของคนผู้มีความแน่วแน่ทำสิ่งที่รักเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรระหว่างทาง และถึงที่สุดแม้สิ่งที่รักจะหลุดลอยไป แต่คุณค่าที่มันเคยมีอยู่…ก็คือบทพิสูจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image