คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : American Factory โรงงาน ‘จีน’ ฝัน ‘อเมริกัน’

ภาพประกอบจาก Youtube Video/Netflix

หากชีวิตคุณกว่าสองทศวรรษเป็น “หัวหน้าครอบครัว” ที่ต้องดูแลสมาชิกในบ้านด้วยการเป็น “แรงงานผู้ภาคภูมิใจ” ในโรงงานสัญชาติอเมริกันขนาดใหญ่ที่ได้สร้างอาชีพและชีวิตให้แก่ผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน

แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อโรงงานแห่งนี้ปิดตัวลงจาก “พิษเศรษฐกิจ” ไม่เพียงแต่คุณเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ เพื่อนร่วมงานที่ต่างก็เป็นผู้คนในชุมชนในท้องถิ่นเดียวกันด้วย ต้องตกที่นั่งลำบากตกงานพร้อมกันนับหมื่นคน

โรงงานที่เคยเป็น “แหล่งทรัพยากร” ให้แก่มนุษย์ในยุคทุนนิยม กลายเป็น “โรงงานร้าง” ชีวิตแรงงานชาวอเมริกันที่เคยมีความมั่นคง มีสวัสดิการและรายได้ที่แน่นอนสูญสลายไป

…กระทั่งวันหนึ่งเมื่อบริษัทยักษ์จาก “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เข้ามาปัดฝุ่น เปิดผ้าคลุมโรงงานร้างแห่งนี้ สร้างธุรกิจใหม่ให้กลับมาคึกคักในท้องถิ่นคุณอีกครั้ง พร้อมกับจ้างงานแรงงานอเมริกันในพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดใหม่ๆ แตกต่างจากโรงงานแบบเดิม ทั้งรายได้ที่ลดลง สวัสดิการที่ไม่เทียบเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปแบบการทำงานที่มี “ค่านิยม” แบบจีน ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่คุณคุ้นเคย

Advertisement

คุณต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ทำงานใน “โรงงานอเมริกัน” ที่ดูแลโดย “ระบบจีน”

คำถามที่ตามมา คือ คุณ…ชาวอเมริกันยินดีจะไปทำงานที่โรงงานแห่งนี้อีกครั้งหรือไม่

คำตอบที่ไม่มีใครรีรอ คือ หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หลายปีจากนั้นชีวิตแต่ละคนได้รับผลกระทบ การมาเยือนจากจีนในการปลุกโรงงานนี้อีกครั้ง หลายคนยินดีเข้าไปร่วมงาน ทั้งเพื่อปากท้อง และความหวังที่จะสร้างชีวิตในแบบ “ความใฝ่ฝันแบบอเมริกัน” (American Dream) ของชนชั้นกลางที่หากจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในโลกสมัยใหม่

Advertisement

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง โรงงานที่ลงทุนใหม่ด้วยทุนจีนนี้ ได้นำพาแรงงานชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาที่โรงงานอเมริกันแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ของแรงงานจีน และอเมริกัน ณ โรงงานแห่งนี้ จึงมีทั้ง “ความผิดที่ผิดทาง” “ความแตกต่างทางวัฒนธรรมการทำงาน” ดำเนินอยู่ไปอย่างคู่ขนาน

 

นี่คือเรื่องจริงของภาพยนตร์สารคดี “American Factory” ภาพยนตร์สารคดีปี 2019 ในสถานการณ์ที่โลกกำลังคุกรุ่นจากประเด็นสงครามการค้า จีน-สหรัฐ

เรื่องราวของ โรงงานผลิตกระจกรถยนต์ “ฝูเหยา” ในจีน เข้ามาลงทุนมหาศาลในสหรัฐ สร้างโรงงานใหม่ คือ “ฝูเหยา กลาส อเมริกา” หรือ (FGA) โดยรีโนเวตโรงงานร้างของค่ายรถจีเอ็ม (GM) ใน    เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอที่ปิดตัวลงไปตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ครั้งนั้นคนงานในเมืองเดย์ตันตกงานกว่า 1 หมื่นคน

การมาเปิด “โรงงานผลิตกระจกรถยนต์” ในเมืองเดย์ตัน เมื่อปี 2016 ทุนจีนได้จ้างแรงงานอเมริกัน ทั้งที่เคยเป็นอดีตพนักงานโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายจีเอ็มมาก่อน และแรงงานอเมริกันคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในพื้นที่มาทำงานร่วมกับแรงงานชาวจีนที่ต้องโยกย้ายมาทำงานในอเมริกา

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม วิธีคิด จึงบังเกิดขึ้น และนำมาสู่ศึกการโหวตจากแรงงานในโรงงานแห่งนี้ว่า ควรมีหรือไม่มี “สหภาพแรงงาน”

ความโดดเด่นในวิธีเล่าเรื่องของสารคดีเรื่องนี้ คือการ ตามติดและถ่ายทอดให้เห็นชีวิตแรงงานอเมริกัน กับแรงงานจีนในโลกสมัยใหม่ ที่จบด้วยความเป็นมนุษย์ในโลกใบเดียวกันได้ดีมาก ซึ่งผู้สร้างไม่ตัดสิน ไม่ชี้นำ ไม่มีธงอันใดเลย ปล่อยให้มุมมองของทั้งสองฝ่าย (สหรัฐ-จีน) เป็นผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องสลับกันให้เหตุผลไปมา

สารคดีใช้เวลาหลายปีในการตามเก็บข้อมูลและถ่ายทำชีวิตคนงาน และประธานบริษัทฝูเหยา มีภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ และข้อมูลการประชุมสำคัญๆ มาให้ดู ได้เห็นทัศนคติและค่านิยมที่กลายเป็นความขัดแย้งของวัฒนธรรมอเมริกันและจีนอยู่แทบตลอดเรื่อง โดยมีโรงงานเป็นฉากหลังอันสำคัญ อาทิ แรงงานอเมริกันที่เข้ากะทำงาน ราว 8 ชั่วโมง และวันหยุดต่อสัปดาห์ 2 วัน แต่แรงงานจีนเข้ากะถึง 12 ชั่วโมง และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่หากเป็นแรงงานจีนในโรงงานฝูเหยาที่ประเทศจีนแล้วค่าแรงจะยิ่งถูกกว่ามาก และยังต้องทำงานเข้มข้นมากขึ้นไปอีก

ขณะที่มุมมองด้านประสิทธิภาพการทำงานนั้น แรงงานจีนมองว่าแรงงานอเมริกันยังไม่มีประสิทธิภาพด้านการผลิตดีพอ รวมทั้งระเบียบวินัยที่ย่อหย่อน ขณะที่แรงงานอเมริกันมองว่าระบบบริหารจัดการของโรงงานแบบจีนไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดีพอและเสี่ยงอันตรายเกินไป

นอกจากถ่ายทอดชีวิตฝั่งแรงงานทั้งสองชาติแล้ว หนังยังพาไปดูวิธีคิดของผู้บริหารนายทุนชาวจีน “ประธานเฉา” ที่แม้จะตั้งใจลงทุนให้โรงงานแห่งนี้มี “ความเป็นอเมริกัน” เพื่อผูกมิตรกับแรงงานในพื้นที่

แต่เมื่อ “โลกทุนนิยมในค่านิยมแบบจีน” มาอยู่ในโรงงานที่สหรัฐอเมริกา หลายอย่างก็กระทบกระทั่งกัน เราได้เห็น “ช่องโหว่” ทั้งทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การขัดกันด้วยเรื่องความเชื่อ

“ฮวงจุ้ย” ของประตูหน้าโรงงาน ไปจนถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้นอย่างการประท้วงขอตั้ง “สหภาพแรงงาน” จนนำมาสู่การโหวตลงมติของแรงงาน

แต่ด้านหนึ่งหนังสารคดีก็ไม่ได้ตัดสินว่าใครถูกหรือผิดกันแน่ในสถานการณ์นี้

เช่นเดียวกับที่ “ประธานบริษัทฝูเหยา” ก็ตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันว่า สิ่งที่เขามาลงทุนในสหรัฐ จ้างแรงงานอเมริกัน แต่มีกฎเกณฑ์ที่ขีดเส้นจำกัดไว้มากมายนี้ แท้จริงแล้วเขากำลังเล่นบทบาท “ผู้ให้” หรือ “อาชญากร” กันแน่

สองผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ “สตีเฟ่น บอกเนอร์” และ “จูเลีย ไรเคิร์ต” ทั้งคู่เป็นนักสร้างภาพยนตร์ และยังเป็นชาวเมืองเดย์ตันด้วย บอกว่า ติดตามถ่ายทำเรื่องราวนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งโรงงานจีเอ็มปิดตัวลงจนการมาถึงของโรงงานฝูเหยาในชุมชนของพวกเขา แต่อย่าเพิ่งตัดสินว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร ลองติดตามเข้าไปดู พูดคุยกับคนในท้องถิ่น รับฟัง และสัมภาษณ์ทุกฝ่าย โดยปล่อยให้ทุกคนได้เล่าเรื่องออกมา และเราจะได้เห็นเรื่องราวของชนชั้นแรงงานชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับมุมมองที่ยุติธรรมตรงไปตรงมา

นั่นจึงทำให้ “American Factory” เป็นสารคดีที่ฉายสถานการณ์ที่ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ แต่มีสีเทาอยู่มากมายตลอดเรื่อง

คนงานจีนกับสหรัฐที่มีมุมมองต่อการทำงานแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่นอกเวลางานพวกเขาต่างได้เรียนรู้วัฒนธรรมของอีกฝ่ายจะทั้งรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

เหนือสิ่งอื่นใดเราได้สัมผัสไปถึงก้นบึ้งของชนชั้นแรงงาน ทั้งจีน-สหรัฐ ในชุดยูนิฟอร์มเดียวกันที่ลึกๆ แล้วแต่ละคนต่างมี “เป้าหมายเดียวกัน” คือ ทำงานเพื่อดูแลครอบครัว ดูแลตัวเอง ไม่ว่าโรงงานแห่งนี้เนื้อแท้จะเป็นโรงงานจีนสัญชาติอเมริกัน หรือโรงงานอเมริกันสัญชาติจีนก็ตามที

ด้วยศึกใหญ่ของพวกเขาที่รออยู่ข้างหน้าคือการเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคที่ “หุ่นยนต์” และ “ระบบออโตเมชั่น” กำลังจะเข้ามาแทนที่ ถึงจุดนั้นไม่ว่าจะทั้ง “แรงงานอเมริกัน” หรือ “แรงงานจีน” ย่อมได้รับผลกระทบเฉกเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image