คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจ

ภาพโดย rawpixel จาก Pixabay

ช่วงนี้มีงานสัมมนาดีๆ ที่ช่วยเติมความรู้และสร้างแรงบันดาลใจได้มาก หลายงานฟรี หลายงานมีค่าใช้จ่าย แต่สำหรับคนจัดยังไงก็มีต้นทุน ส่วนคนฟัง มีให้เลือกหลากหลายตามความสนใจ และกำลังทรัพย์ (ในกรณีที่ไม่ฟรี)

แม้เรื่องเกี่ยวกับการปรับตัวรับมือโลกเปลี่ยนจากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” จะยังเป็น Topic ที่ฟังกันได้ไม่เบื่อ เพราะองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะ “ผู้นำ” เข้าใจดีว่าหากไม่เตรียมความพร้อมให้คนในองค์กร มีโอกาสล้มหายไปในสึนามิดิจิทัลได้โดยง่าย

มีของใหม่สิ่งใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การอัพเดตความรู้จึงสำคัญ แต่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนเร็ว หรือเทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน สิ่งที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมองถึงการสร้างผลกำไรเชิงธุรกิจคือ การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และชีวิตความเป็นอยู่รอบด้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อครอบครัว สังคม ประเทศชาติเข้มแข็ง ธุรกิจ-เศรษฐกิจก็จะแข็งแรงขึ้นด้วย

Advertisement

ในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า เรื่องหนี้ครัวเรือนในประเทศเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องหันมาสนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนกันบ่อยครั้ง โดยฝ่ายหนึ่งบอกว่า “น่าวิตก” ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่า ยังสบายๆ พร้อมกับยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้มาเป็นเครื่องเตือนใจ ความว่า “การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน”

แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 9 ไม่ได้ห้ามกู้ ทรงแนะนำให้กู้ไปทำในสิ่งที่งอกงามขึ้น แต่คนมักกู้เพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมาก และคนชนบทกู้เพื่อการเกษตร ทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เพราะคำเดียวคือ คำว่า “ไม่พอ”

Advertisement

ทั้งยังตั้งคำถามบนเวทีเพื่อให้สังคม และธุรกิจต่างๆ คิดต่อด้วยว่า “เกษตรกรไทยมีสัดส่วน 33% ของประชากรในประเทศ แต่มีสัดส่วนจีดีพี ไม่ถึง 10% มีรายได้เฉลี่ย 4,750 บาท โดย 40% อยู่ใต้เส้นความยากจน”

และว่า “พวกเขาจะอยู่อย่างไร ถ้าไม่อพยพมาเป็นแรงงานในเมือง ซึ่งแรงงานในเมืองเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของหนี้ครัวเรือน และเป็นการกู้เพื่อบริโภคด้วย ทำไมเราถึงกลับมาสู่ความเสื่อม และขาดภูมิสังคม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะหันกลับมาเดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง”

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า โลกในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง สภาวะแวดล้อมที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ ไม่เพียงส่งผลกระทบระดับประเทศ แต่ในระดับบุคคลต้องดูด้วยว่าจะทำอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกัน เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

“ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี ภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก เป็นทั้งความท้าทาย และโอกาส แต่หากคนไทยไม่มั่นใจในตนเองว่าอนาคตจะดีขึ้นก็จะให้น้ำหนักกับความกลัวมากกว่าความหวัง”

เราจะทำอย่างไรให้สังคมมี “ความหวัง” มากกว่า “ความกลัว”?

“ดร.วิรไท” แนะนำว่า มี 3 เรื่องที่ควรทำ คือ 1.ทำให้คนไทยเก่งขึ้น และสามารถใช้ความเก่งได้เต็มศักยภาพ โดยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาได้ตลอดชีวิต เพราะ “ความรู้วันนี้ อายุสั้นลง” ต้องสร้างโอกาสให้คนแต่ละคนมีโอกาสขึ้นบันได และทำให้คนตัวเล็กที่มีศักยภาพ มีพื้นที่และแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม

2.ต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน ไม่เบียดบังทรัพยากรในอนาคต และ 3.ทำอย่างไรให้สังคมไทยมีความภูมิคุ้มกัน หรือ Safetyness เพราะในโลกที่มีความผันผวนสูง เปลี่ยนเร็ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ทั้ง 3 องค์ประกอบจะทำให้คนไทยมี “ความหวัง” มากกว่า “ความกลัว”

อย่างไรก็ตาม เรื่องความยั่งยืน หากคิดในภาพใหญ่ไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ แต่รวมถึงเรื่องอื่น เช่น การขาดดุลการคลังมากๆ แปลว่านำภาระภาษีของคนในอนาคตนำมาใช้วันนี้ จึงต้องดูว่าจะรักษาสมดุลอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการนำทรัพยากรในอนาคตมาใช้มากเกินไป

“บางประเทศถึงกับมีกฎหมายกำหนดว่าต้องสร้างทรัพย์สินเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่นำทรัพย์สินของคนรุ่นต่อไปมาใช้อย่างเดียว ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เวลาไปสมัครงาน ไม่ได้ดูแค่เรื่องเงิน แต่ดูว่าบริษัทนั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือสร้างปัญหาให้สังคมหรือไม่ด้วย”

และหากธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะช่วยให้สังคมมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น แต่ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะเป็นการซ้ำเติมสังคมเช่นกัน

ดร.วิรไทพูดถึงการศึกษาของแบงก์ชาติที่พบว่าพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องหนี้น้อยลง มีจำนวนไม่น้อยเพิ่งทำงานเดือนแรก ก็ไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะมีแคมเปญผ่อน 0% นาน 6 เดือน ทั้งจับจ่ายซื้อของทางอินเตอร์เน็ตตลอดเวลา

“เรามีหน้าที่ออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันจนไปซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น เรื่องบัตรเครดิต เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย และล่าสุด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ พวกคาร์ ฟอร์ แคช ต่างๆ แต่เราไม่ได้กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินทุกราย ทั้งทำเรื่องคลินิกแก้หนี้ เพื่อให้คนออกจากวงจรหนี้ เป็นต้น แต่ดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ก็ทำให้คนไม่อยากออมเงิน”

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายมิติ ต้องอาศัยความรอบด้าน และต้องช่วยกันหลายฝ่าย

“ปัญหาหลายอย่าง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือของใครคนใดคนหนึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือสถาบันการศึกษา”

คำว่า หน้าที่ของใคร เป็น “กับดัก” เพราะเรื่องที่เผชิญมีหลายมิติ และมีความหลากหลายแต่ละคนจึงต่างมีบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพราะ “โลกวันนี้เคลื่อนจากการรวมศูนย์ไปสู่โลกที่ทุกคนมีบทบาทได้ และเป็นโลกของแพลตฟอร์ม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image