คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : The Mind, Explained ‘จิต’ เป็นนาย ‘กาย’ เป็นบ่าว ฉบับวิทยาศาสตร์

ภาพประกอบจาก Youtube Video / Netflix

เราได้ยินกันบ่อยครั้งเรื่องของ “จิตใจ” ที่เป็นดั่งเข็มทิศทรงพลังและมีอำนาจในการควบคุมวิธีคิด ทัศนคติ ไปจนถึงการส่งผลต่อร่างกาย พฤติกรรมที่แสดงออกมา ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์เรื่องของจิตนั้นสัมพันธ์ยิ่งกับสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์

การทำงานของ “สมอง” และ “จิต” จึงถูกนำมาเล่าในสารคดีมินิซีรีส์เรื่อง “The Mind, Explained” ในชื่อภาษาไทย “เจาะจิต วิเคราะห์ความคิด” ที่สร้างโดย “Vox” สำนักสื่อ-คอนเทนต์ออนไลน์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา

ในสารคดีนี้จะพาเราไปทำความเข้าใจแรกเริ่มตั้งแต่คำถามที่ว่า ทำไม “มนุษย์” ถึงมี “ความทรงจำ” ตามด้วยการพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น ทำไมเราจึงฝัน และ “ความฝัน” ระหว่างที่เรานอนหลับ เกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ เชื่อมโยงเรื่องของระบบสมองกับ “จิต” โดยพูดถึงหนึ่งในโรคที่กำลังเกิดขึ้นมากกับผู้คนในยุคนี้นั่นคือ “โรควิตกกังวล” ซึ่งมีลักษณะสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง เรื่อยไปถึงการใช้วิธีทางธรรมชาติเข้ามารับมือ นั่นคือ “การฝึกจิต” ให้มีสติเป็นสมาธิ

ทุกตอนจะอธิบายในแบบสกู๊ปข่าว “วิทยาศาสตร์” ที่เข้าใจง่าย ผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ พูดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง ไปจนถึงอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ผสมด้วยการนำแอนิเมชั่นมาช่วยเล่าเรื่องเสริมความเข้าใจ

Advertisement

ตัวสารคดีถูกแบ่งเป็น 5 ตอน ใช้เวลาเล่าเฉลี่ยตอนละ 20 นาที ผ่านเสียงบรรยายของ “เอ็มม่า สโตน” นักแสดงสาวฮอลลีวู้ด

ในสารคดีมินิซีรีส์ที่สามารถรับชมได้รวดเดียวจบ พาเราไปเจาะจิต วิเคราะห์ความคิดได้น่าติดตาม ตัวสารคดีที่ดูได้สนุกและเพลิดเพลินจนลืมไปว่าภาพเคลื่อนไหวตรงหน้าคือการย่อยงานวิชาการ ผลวิจัย และแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญา มาทำให้เราติดตามได้อย่างลื่นไหลไม่ชวนเบื่อ เพราะหากต้องพูดถึงการทำความเข้าใจเรื่องของระบบสมอง ประสาทวิทยา ที่เชื่อมโยงกับจิตใจ ฟังดูเป็นเรื่องชวนหนักและน่าเบื่อ แต่ตัวสารคดีที่มี “วิธีเล่า” ที่ดีไซน์ออกมาได้ดี ทำให้การอธิบายเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์นี้พาเราไปท่องโลกของ “สมอง” และ “จิตใจ” ได้อย่างทะลุปรุโปร่งในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

“Memory” คือตอนแรกเริ่มของสารคดีมินิซีรีส์ที่พาเราไปปูพื้นฐานทำความเข้าใจส่วนต่างๆ ในสมองของเรา และเน้นการตั้งคำถามว่า ทำไม “ความทรงจำ” ของเราอาจเป็น “ความทรงจำเท็จ” ที่เชื่อถือไม่ได้ หรือคลาดเคลื่อนได้ แม้เราจะมั่นใจว่าเรื่องสำคัญ เหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต เราต่างจำได้แม่นยำ

Advertisement

แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น…สารคดีตอนนี้ได้อธิบายว่า เราทุกคนล้วนเชื่อในความทรงจำตัวเองชนิดสมบูรณ์แบบไม่ได้ โดยยกกรณีศึกษาของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความทรงจำต่อเหตุการณ์ 9/11 เหตุก่อการร้ายที่ตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ในแบบคลาดเคลื่อน โดยเข้าใจว่าตัวเธอนั่งอยู่ริมหน้าต่างและเห็นควันลอยบนฟ้า ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นเธออยู่ในรัฐคอนเนคติคัต นอกตัวเมืองนิวยอร์กไกลมาก ทำไมจึงมีความทรงจำที่มั่นอกมั่นใจแบบนั้น

นักประสาทวิทยา ให้เหตุผลว่า รายละเอียดความทรงจำของคนเรา ราวครึ่งหนึ่งเปลี่ยนไปในระยะเวลาหนึ่งปี แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าตนจำได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม โดยคนเราอาจจำเหตุการณ์สำคัญในวันนั้นได้ถูกต้อง แต่จะไม่ใช่กับรายละเอียด เช่น ตอนนั้นอยู่กับใคร ทำอะไรอยู่ ตอนที่รู้ว่าเกิดเรื่อง หรือได้เห็นอะไรกับตาบ้าง กระทั่งไปถึงความทรงจำที่สำคัญกับเราที่สุด ที่เป็นความทรงจำเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในชีวิตของเราก็ไมได้ถูกต้องแม่นยำ สามารถคลาดเคลื่อนเปลี่ยนแลงไปได้ตามกาลเวลา

ทั้งที่ความทรงจำมีหน้าที่จดจำเรื่องราวในอดีต แต่ทำไมความทรงจำจึงเชื่อถือไม่ได้ ความทรงจำทำงานอย่างไรกันแน่ ตามไปหาคำตอบกันแบบลงลึกได้ในสารคดีมินิซีรีส์เรื่องนี้

ขณะที่แม้เราจะมีความทรงจำที่เปลี่ยนได้ตามกาลเวลา แต่ด้านหนึ่ง “สมอง” ของเราก็มีความอัศจรรย์บางอย่างเกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน นั่นคือ สมองประเภทที่สามารถ “สร้างความทรงจำ” สุดแม่นยำในระยะเวลาอันสั้น โดยสารคดีพาไปพูดคุยกับ แชมป์โลกที่เข้าแข่งขันรายการ “จำแม่น” ความสนุกคือ พวกเขาจดจำตัวเลขหลายพันตัวในเวลาหนึ่งชั่วโมงได้อย่างไร บ้างก็ต้องจำลำดับไพ่หลายสำรับในเวลาไม่กี่วินาที จำภาพ จำชื่อกับใบหน้าแบบรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ เพราะกลไกในสมองที่มีระบบประมวลผลแบบ ใช้ “เล่ห์กล” หรือ Trick เล่นกับสมองเพื่อให้จดจำได้ ซึ่งในสารคดีไขคำตอบให้รู้ว่า นักจำแม่นเหล่านี้มีทริคการจำแบบไหนบ้างในเวลาสั้นๆ เพื่อให้สัมพันธ์กับสมองได้อย่างไร

ส่วนตอนที่น่าสนใจอีกคือ “Anxiety” หรืออาการของ “โรควิตกกังวล” ที่ถือเป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ ด้วยยุคของคนรุ่นใหม่ที่มีภาวะอาการวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้น และสารคดีนี้จะพาไปดูว่าเราจะสามารถจัดการสุขภาพจิตนี้ได้อย่างไรบ้าง

โดยหนึ่งในอาการพื้นฐานของโรค เกิดจาก “ความกลัว” ที่สะสม และได้ขยายไปสู่การเป็นความหวาดกลัวที่สูงขึ้นและเรื้อรัง ขณะเดียวกัน “โซเชียลมีเดีย” ถูกเอ่ยถึงว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของ “การแพร่ระบาดโรควิตกกังวล”

สารคดีจะอธิบายให้เราเห็นกลไกของ “สมอง” และ “จิตใจ” ที่มีผลต่อโรควิตกกังวล ถือเป็นตอนที่ดีตอนหนึ่งที่จะพาเราไปดูเส้นทางการรักษาโรควิตกกังวล ทั้งฟาก “วิทยาศาสตร์ของ” ที่มีการใช้ยาต้านการวิตกกังวล ว่ามันทำหน้าที่อย่างไร รวมไปถึงการรักษาบำบัดด้วยวิถีทาง “ธรรมชาติ” ที่จะพาเข้าไปดูการจัดการแก้โรคด้วยการไม่พึ่งยา

โดยวิถีทางธรรมชาตินี้ จะส่งต่อมายังตอนที่ชื่อว่า “Mindfulness” สภาวะทางจิตใจ ที่มีผลต่อสมองและพฤติกรรมของเรา ซึ่งตอนนี้จะเข้าไปไขเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ทำไมการนั่งสมาธิและวิปัสสนากรรมฐานกำหนดลมหายใจเข้าออกจึงมีส่วนช่วยลดอาการโรควิตกกังวลได้ รวมทั้งอาการทางจิตอื่นๆ ซึ่งการทำสมาธิกำลังเป็นการ “ฝึกจิต” ที่ชาวตะวันตกนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในเรือนจำบางแห่งในสหรัฐ จะมีชั่วโมงที่ฝึกให้ผู้ถูกคุมขัง-นักโทษ ได้ฝึกสมาธิละจากจิตและสมองที่ยุ่งเหยิงวิ่งวุ่นไปมา โดยมีครูมาทำหน้าที่โค้ชชิ่งช่วยไกด์ให้ฝึกปฏิบัติตาม

สารคดี “The Mind, Explained” ที่มอบเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์แบบเข้าใจง่ายในการล่วงรู้ได้ว่าสมองและจิตของเราทำงานสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง ผ่านความบันเทิงที่มีสาระ และมีคำตอบให้กับผู้คนในยุคปัจจุบันที่กำลังรู้สึกชีวิตวิ่งวุ่น แท้จริงแล้วมี “จิต” เป็นเหมือนตัวรีโมตควบคุมให้เราสงบหรือว้าวุ่นได้อย่างไร

เป็นอีกหนึ่งซีรีส์สารคดีที่พูดถึงวิทยาศาสตร์สุขภาพที่แนะนำให้ชมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image