แท็งก์ความคิด : อาชีพสร้างชาติ

ยุคสมัยปัจจุบันสายอาชีวะกำลังเป็นที่ต้องการ เพราะสายวิชาการนั้นมีบุคลากรล้นเหลือ

ทุกปีมักได้ยินคำว่าบัณฑิตตกงาน แต่ขณะเดียวกันบรรดาผู้ประกอบการก็บอกว่าขาดคน

ขยายความคำว่าขาดคน คือขาดคนที่มีฝีมือตรงกับงาน

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 นั้นน่าจะเป็นตัวช่วยได้ดีในยุคนี้

Advertisement

วันก่อน พิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้เชิญชวนสื่อมวลชนไปฟังผลการดำเนินงาน

มีผู้บริหารของสถาบันมากันพร้อมเพรียง ทั้ง นายนพดล ปิยะตระภูมิ น.ส.วรชนาธิป จันทนู น.ส.จุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบัน

ระดับผู้อำนวยการสำนัก มี นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ นายรณรงค์ ช้างแก้วมณี น.ส.วยากรณ์ งามจรรยาภรณ์

บรรยากาศการพบปะเข้มข้นขยับจากการแถลงผลงานกลายเป็นการสัมมนา

ยิ่งฟังก็ยิ่งน่าสนใจ

สรุปความได้ว่า คุณวุฒิวิชาชีพของไทยที่กำหนดไว้มีเฉพาะ แพทย์ วิศวะ กฎหมาย บัญชี ฯลฯ ยังไม่เพียงพอ

แรงงานไทยมีจำนวน 37 ล้านคน ในจำนวนนี้มีจำนวนมากที่มีฝีมือ แต่ขาดใบรับรองความสามารถ

ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ได้คุณวุฒิทางการศึกษา 12 ล้านคน

ที่เหลือจบประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไม่ได้มีใบรับรองทางอาชีพ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพที่ตั้งขึ้นมาจะเข้ามารับภารกิจตรวจทานและออกใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพให้

จากวันที่ตั้งจนถึงวันนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ 54 กลุ่มวิชาชีพ

ใน 54 กลุ่มวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพของแต่ละกลุ่ม

รวมแล้วมี 700 อาชีพ

ระดับมาตรฐานของแต่ละกลุ่มวิชาชีพอาชีพที่กำหนดไว้แบ่งออกเป็น 8 ระดับ

ระดับ 1 สมรรถนะขั้นพื้นฐาน ระดับ 2 สมรรถนะฝีมือในงานอาชีพ

ระดับ 3 สมรรถนะทางเทคนิคในการประยุกต์หลักการ ระดับ 4 สมรรถนะทางเทคนิคครอบคลุมงานอาชีพ

ระดับ 5 สมรรถนะทางเทคนิคและการจัดการ ระดับ 6 สมรรถนะในการจัดการและวางแผน

ระดับ 7 สมรรถนะในการบริหารนโยบาย และระดับ 8 สมรรถนะในการสร้างสรรค์องค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่

รายละเอียดของแต่ละระดับต้องเปิดเข้าไปดูในเว็บไซต์ www.tpqi.go.th หรือเฟซบุ๊กชื่อ “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ”

ทั้งนี้ ทางสถาบันมีตัวแทนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ทดสอบมาตรฐาน เพื่อออกใบประกาศรับรอง

ใบประกาศมีอายุ 3 ปี จากนั้นต้องกลับมาทดสอบมาตรฐานอีกรอบ

สำหรับใครที่สนใจได้ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เบื้องต้นเข้าไปในเว็บไซต์แล้วค้นหาวิชาชีพ

ค้นหามาตรฐานวิชาชีพ ค้นหาหน่วยสอบมาตรฐานวิชาชีพ

แล้วลองกลับมาดูตัวเองว่า มีความสามารถด้านใด หากพร้อมก็ไปลองเข้าไปทดสอบ เพื่อให้ทางสถาบันวัดผล

ถ้าผ่านการทดสอบจะได้ใบรับรองมาตรฐาน

ใบรับรองนี้สามารถช่วยเสริมความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ

ช่วยให้มั่นใจในตัวเราในฐานะผู้ไปสมัครงาน

นายจ้างสามารถเปิดดูว่าผู้สมัครงานมีความสามารถด้านใดบ้าง จากใบรับรองที่ออกโดยสถาบัน

เช่นเดียวกับ คนไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ

ใบรับรองนี้จะเป็นเครื่องรับประกันให้นายจ้างในต่างแดนเชื่อมั่น เพราะมีหน่วยงานทางการของรัฐบาลไทยรับประกัน

ขณะที่ใครประกอบกิจการเอง ใบรับรองจากสถาบันจะเป็นเครื่องรับประกันคุณภาพ

รับรองในความรู้ รับประกันในฝีมือ และรวมไปถึงจริยธรรม

ใครมีคุณสมบัติครบถ้วนตามนี้ ถือได้ว่าเป็นมืออาชีพในวิชาชีพนั้น

อาชีพที่จัดทำมาตรฐานเอาไว้ มีอาทิ สาขาวิชาชีพก่อสร้าง สาขาวิชาชีพการกีฬา

สาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาวิชาชีพการบิน

สาขาวิชาชีพขนส่งชุมชน สาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ สาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบราง

สาขาวิชาชีพการทำความสะอาด สาขาวิชาชีพความปลอดภัย เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อสถาบันรับหน้าที่ทดสอบและออกใบประกาศรับรอง

ใครที่ได้รับใบประกาศย่อมหมายถึงคำรับรองในความเป็นมืออาชีพ

รับรองความเป็นมืออาชีพ

ใครต้องการได้ใบรับรองสามารถใช้บริการของสถาบันแห่งนี้ได้

ผู้บริหารของสถาบันยินดีผลักดัน หากมีความสามารถถึง

จะมีข้อแม้ก็เพียงว่า ใครที่ได้ใบรับรองไปแล้ว แต่มาตรฐานตก

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสงวนสิทธิ์ขอใบรับรองคืน

ฟังๆ ดูแล้ว ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนทัศนคติจากเดิมที่นิยมส่งลูกหลานให้เรียนสูงๆ เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน

หันมาเน้นฝึกฝนฝีมือทางอาชีวะ เน้นทำงานอย่างมืออาชีพ

อีกไม่นานประเทศจะเปลี่ยน

แท็กซี่ที่ไม่รับผู้โดยสารจะหดหาย เพราะไม่เป็นมืออาชีพ ช่างก่อสร้างที่ทิ้งงานจะอยู่ลำบาก เพราะไม่เป็นมืออาชีพ

ขณะที่ประเทศชาติจะมีนวัตกรรมมากขึ้น เพราะมืออาชีพดำรงอยู่ได้ด้วยไอเดียสร้างสรรค์

สร้างสรรค์ผลงานในอาชีพ

หาก 700 อาชีพสามารถสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองออกมาทุกวันเดือนปี

ไทยก็จะมีนวัตกรรมใหม่ทุกวันเดือนปี

เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม

ความฝันที่ไทยอยากก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ก็ขยับเข้าใกล้ความจริงได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image