สุจิตต์ วงษ์เทศ : มาจากไหน? ไม่รู้ กว๊านพะเยา จ.พะเยา

ท่าเรือไปวัดติโลกอาราม (ซึ่งจมอยู่ใต้กว๊านพะเยา) รกรุงรังไปด้วยป้ายสวดมนต์คาถาอาคมและอิทธิปาฏิหารย์ แต่ไม่พบข้อมูลความรู้เรื่องกว๊านและชุมชนวัดวาอารามโบราณใต้น้ำ ซึ่งควรมีให้อ่านง่ายๆ สั้นๆ

กว๊านพะเยา เป็นงานสร้างสรรค์ดัดแปลงธรรมชาติของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีก้าวหน้า (ในสมัยนั้น) สร้างประตูกั้นน้ำแม่อิงและหนองน้ำน้อยใหญ่หลายแห่งรวมกัน ทำให้ได้แหล่งน้ำกว้างใหญ่เมื่อ พ.ศ.2484

ปัจจุบันกว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ [รองจากหนองหาน จ.สกลนคร และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์]

ดั้งเดิมก่อน พ.ศ.2484 กว๊านพะเยาไม่เป็นกว๊าน แต่เป็นที่ลุ่มต่ำ มีหนองบึงหลายแห่งในหุบเขาอยู่ริมน้ำแม่อิง เช่น หนองเอี้ยง มีลำรางทางน้ำไหลหลายสายเชื่อมต่อถึงกัน [เพราะยังไม่มีประตูน้ำกั้นน้ำแม่อิง ทำให้น้ำไม่ถูกกักเก็บท่วมท้นอย่างที่เป็นทุกวันนี้]

พื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำแม่อิง เป็นบริเวณลาดเอียงนอกเมืองพะเยา [ด้านทิศตะวันตก] ซึ่งมีคูน้ำคันดินอยู่บนเนินด้านทิศตะวันอก [ทุกวันนี้คือตัวตลาด อ.เมืองพะเยา]

Advertisement

ชุมชนนอกเมืองที่ลุ่มต่ำ ริมน้ำแม่อิงและหนองบึง มีวัดเป็นศูนย์กลางราว 20 วัด [ทุกวันนี้จมอยู่ใต้น้ำกว๊านพะเยา] ส่วนวัดสำคัญพบชื่อในจารึก 2 วัด ได้แก่ วัดโลกติลกสังฆาราม กับวัดติโลกอาราม [ที่เป็นจุดขายการท่องเที่ยวทุกวันนี้]

กว๊านพะเยา จ.พะเยา เป็นจุดขายการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรม อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

แต่ผู้เกี่ยวข้องท่องเที่ยวพะเยา ดูเหมือนจะเน้นขายธรรมชาติของกว๊านพะเยา กับความศักดิ์สิทธิ์วัดร้างใต้น้ำ (วัดเดียว) แล้วมองข้ามข้อมูลความรู้อื่นๆ โดยเฉพาะชุมชนโบราณขนาดใหญ่กับวัดวาอารามนับสิบวัดอยู่ใต้กว๊านพะเยา และประวัติกว๊านพะเยาซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของเมืองพะเยาอย่างแท้จริง

Advertisement

ล้วนสอดคล้องความเป็นไทยเอาแต่ได้เฉพาะหน้าแค่นั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image