คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates เจาะสมอง ‘บิล เกตส์’ ตอนที่ 1 มหาเศรษฐีผู้ทำเรื่องสกปรกให้สะอาด

ในยุคหนึ่งนิตยสารฟอร์บส์เรียก “บิล เกตส์” ว่า คนอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุด บางคนบรรยายสรรพคุณของเขาว่าเป็นคนฉลาด บ้างก็ว่ายโส ละโมบ ปีศาจ ไปจนถึงเป็นอัจฉริยะใน “ระบบทุนนิยมแบบนักล่า”

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ “บารัค โอบามา” บอกว่า เขาคือคนมองโลกในแง่ดีที่ใจร้อน

“บิล เกตส์” คือนักธุรกิจชาวอเมริกัน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท “ไมโครซอฟท์”

ขณะที่หลังจาก บิล เกตส์ ถอยฉากลาออกจากการบริหารบริษัทไมโครซอฟท์เมื่อปี 2008 มาสวมหมวกประธานคณะกรรมการบริหาร และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เขามีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่า 5,800 ล้านดอลลาร์ ความมั่งคั่งของเขามาจากธุรกิจซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์

Advertisement

เขารุ่งเรืองบนความซับซ้อนของเทคโนโลยี

เขาใช้ซอฟต์แวร์ในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

เขาเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยประสบความสำเร็จจากธุรกิจเทคโนโลยี

Advertisement

ในลิมิเต็ด “ซีรีส์สารคดี” ที่ชื่อ “Inside Bill’s Brain : Decoding Bill Gates” เป็นซีรีส์สารคดี 3 ตอนจบ ที่ “เดวิส กุ๊กเกนไฮม์” ผู้กำกับที่โด่งดังจากหนังสารคดีรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม “An Inconvenient Truth” หนังสารคดีปี 2549 ที่ทำให้โลกต้องตระหนักถึงสภาวะโลกร้อน

“กุ๊กเกนไฮม์” ใช้เวลา 2 ปี ทำความเข้าใจความเป็น “บิล เกตส์” ตั้งแต่บุคลิกภาพ วิธีคิดใคร่ครวญ มุมมองของบิล เกตส์ ต่อผู้คนและโลก ไปจนถึงชีวิตประจำวันง่ายๆ

สารคดีเรื่องนี้ พาเราไปสัมผัส “บิล เกตส์” ทั้งในแบบ “เนิร์ดอัจฉริยะ” “นักนวัตกรรม” “นักสร้างเทคโนโลยี” และ “นักธุรกิจ” ให้เห็นเป็นรูปธรรม ชายผู้ชื่นชอบจิบ “ไดเอทโค้ก” ระหว่างอ่านหนังสือเล่มหนาในความเร็ว 150 หน้าต่อชั่วโมง โดยแต่ละปีเขาอ่านหนังสือได้ไม่ต่ำกว่า 50 เล่ม

“บิล เกตส์” ยังมีธรรมเนียมส่วนตัว ปีละ 2 ครั้ง คือลาพักร้อนชนิด “ปลีกวิเวก” ครั้งละ 1-2 สัปดาห์ เพื่อไปนั่งอ่านหนังสือโดยเฉพาะ แต่ละครั้งเขาจะขนหนังสือไปไม่ต่ำกว่า 14 เล่ม เดินทางไปอยู่บ้านพักในชนบทคนเดียว แล้วลงมืออ่านหนังสือ บ้างก็อ่านรายงาน เอกสารต่างๆ ตลอดการปลีกวิเวกนั้นเพื่อคิดวางแผนโครงการโปรเจ็กต์ที่เขาสนใจเป็นการส่วนตัว

เขาคือผู้ไม่นิยมกินอาหารเช้าก่อนเริ่มวันใหม่ แต่เป็นมนุษย์ทำงานตรงเวลาผู้ไม่เคยขาดตกบกพร่องเรื่องเวลา เพราะ “เวลา” สำหรับเขาแล้ว เป็นของใช้ที่ไม่สามารถซื้อเพิ่มได้

ขณะเดียวกันเวลาที่ต้องใช้ความคิดใคร่ครวญ “บิล เกตส์” จะใช้วิธี “เดินเล่น” เพื่อรวบรวมและจัดระบบระเบียบความคิดและสมองของตัวเอง ซึ่งเขาบอกว่า นี่เป็น “วิธีสร้างขอบเขต” เพื่อคัดเลือกและตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ

ก่อนที่ซีรีส์จะค่อยๆ ลงลึกไปยังวิธีคิดของบิล เกตส์ และที่มาที่ไปในชีวิตมากขึ้น “เดวิส กุ๊กเกนไฮม์” ถาม “บิล เกตส์” ในสารคดีว่า “ความกลัวที่เลวร้ายที่สุดของคุณคืออะไร?”

เขาใช้เวลาคิดสักนิดก่อนบอกว่า “ผมไม่อยากให้สมองของผมหยุดทำงาน”

“บิล เกตส์” ดูเหมือนจะภูมิใจและเข้าใจความฉลาดและพรสวรรค์ที่มีของเขา มีการวิเคราะห์กันว่าสมองของบิล เกตส์ เปรียบเหมือนเป็น “ซีพียู” หรือสมองคอมพิวเตอร์ที่มีสเปรดชีทจัดเรียงความคิดข้อมูลจำนวนมาก และทำการคำนวณ พร้อมเก็บข้อมูลราวกับโปรแกรม Excel อัดแน่นอยู่ในหัวของเขา

ซีรีส์สารคดีเรื่องนี้แบ่งเป็น 3 ตอน ใช้ชั้นเชิงการเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างสถานการณ์ปัจจุบันกับอดีต โดยย้อนไปยังช่วงชีวิตวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และปัจจุบันของบิล เกตส์ ที่มีความใฝ่ฝันที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

ระหว่างการเล่าเรื่อง บางช่วงบางจังหวะสารคดีได้ตั้งคำถามกับ “บิล เกตส์” ในวัย 63 ปี (ปี 2019) ว่าบิล เกตส์ตอนนี้ กับ บิล เกตส์ ที่ยังหนุ่มแน่นในตอนนั้น มีมุมมองต่อธุรกิจ เรื่องราวและชีวิตเปลี่ยนแปลง หรือเหมือนเดิมแค่ไหน

โดยเฉพาะเรื่องราวใหญ่โตอื้อฉาวเมื่อครั้ง “ไมโครซอฟท์” ยุคที่เขาเป็นผู้บริหารสูงสุดถูกรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ตั้งข้อกล่าวหา “ผูกขาดทางการค้า” ไปจนถึงเรื่องราวเบาะแว้งระหว่างเขากับ “พอล อัลเลน” เพื่อนรักผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทด้วยกันมา ย้อนไปจนถึงความสัมพันธ์ของบิล เกตส์ กับแม่ ที่มีทั้งความดื้อดึง ต่อต้าน คู่ขนานไปกับความรักและเคารพ กระทั่งมาถึงเรื่องราวความสัมพันธ์กับภรรยา “เมลินดา เกตส์” ที่ผ่านทั้งช่วงดีและร้ายมาด้วยกัน

ภาพรวมของซีรีส์สารคดีเรื่องนี้ในตอนที่ 1 เป็นเรื่องราวของ “บิลกับแม่” ที่ต่างไม่ลงรอยกันอยู่เรื่อยๆ พร้อมกับย้อนรอยไปดูชีวิตแบบที่เขาเติบโตมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “แม่” เป็นผู้หล่อหลอมทางความคิดด้านสังคมให้กับเขา ขณะเดียวกันเรื่องจะเล่าคู่ขนานไปกับโปรเจ็กต์ด้าน “สุขอนามัย” ที่มหาเศรษฐีอย่างเขาพยายามจะ “เปลี่ยนสิ่งสกปรกให้สะอาด” นั่นคือ เทคโนโลยีห้องสุขาประหยัดพลังงาน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับชีวิตคนยากไร้ในประเทศโลกที่สาม ลดปัญหาการตายจากโรคท้องร่วง ท่ามกลางโลกสมัยใหม่ที่ไม่ควรต้องมีใครตายเพียงเพราะท้องร่วง

โครงการนี้เป็นโครงการของ “มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์” Bill & Melinda Foundation หรือ มูลนิธิเกตส์ ตั้งแต่ปี 2012 ที่ต้องหาทางสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะกำจัด “อุจจาระ” มหาศาล ที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล มาทำให้เกิดพลังงานสะอาดใช้หมุนเวียนให้ได้ และความหวังสูงสุดคือกลายเป็นน้ำสะอาดที่ดื่มได้

ภาพรวมในตอนที่ 1 ของซีรีส์สารคดีเรื่องนี้ นอกจากนำเสนอตัวตน ของ “บิล เกตส์” แล้ว

ความน่าสนใจคือ แนวคิดของมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากเทคโนโลยีจนเคยถูกตราหน้าว่าเป็น “ปีศาจ” ต้องการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาให้ประเทศโลกที่สาม โดยเป้าหมายสูงสุดคือ ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ซึ่งหนึ่งในโครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงความทะเยอะทะยานอย่างมากของเขา คือ โปรเจ็กต์ห้องสุขาที่เปลี่ยนสิ่งสกปรกให้สะอาด เปลี่ยนอุจจาระให้กลายเป็นน้ำสะอาด ถึงขนาดเป็นน้ำที่ดื่มได้

ยังมีเรื่องราวจากซีรีส์สารคดีชุดนี้มาถ่ายทอดเล่าสู่ให้ติดตามกันต่ออีก ตอนหน้าจะเล่าถึงบิล เกตส์ “คนอวดดี ผู้เปลี่ยนแปลงโลก”

เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “บิล เกตส์” กับ “พอล อัลเลน” เพื่อนรุ่นพี่ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่กลายมาเป็นเพื่อนคู่หูผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ด้วยกัน ก่อนจะลงเอยกันอย่างเจ็บปวด…ติดตามต่อในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image