คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ออเคสตราเกาหลี

เมื่อกลางเดือนกันยายน ผู้อำนวยการคังยอนคยอง แห่งศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย เชิญวงออเคสตราแห่งชาติเกาหลีมาเปิดการแสดง ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ

การแสดงครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่วงออเคสตราแห่งชาติเกาหลีมาแสดงในไทย

แสดงภายใต้ชื่อ Together with ASEAN เพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทย-เกาหลี และเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจาอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

วงออเคสตราที่มาบรรเลงมี คิม ซองจิน เป็นวาทยกร

Advertisement

มี อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ ศิลปินชาวไทยร่วมบรรเลงระนาด

และมีนักร้องชาวเกาหลี ชื่อ ยูแทพย็องยัง มาขับร้องบทเพลงแนว Pansori

วงออเคสตราที่ปรากฏตัวอยู่เบื้องหน้าในวันนั้น มีหญิงมากกว่าชาย แต่งกายประจำชาติเกาหลี

Advertisement

เครื่องดนตรีที่ประกอบกันเป็นออเคสตรา เป็นเครื่องดนตรีเกาหลี

มองไกลๆ เห็นเป็นเครื่องสาย เครื่องเป่า เครื่องตี

กลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าเครื่องดนตรีเกาหลีที่เป็นเครื่องสายก็มีอย่าง กายาคึม (Kayagum) ที่ใช้วิธีดีดคล้ายๆ กับจะเข้ไทย

หรือเครื่องสายอย่าง ซอแฮกึม ใช้วิธีการสีเหมือนซอไทย

ส่วน เครื่องเป่า ก็มี ขลุ่ยเทคึม (Taegum) ลำใหญ่ ขลุ่ยชุงคึม (Chunggum) ขนาดปานกลาง และ ขลุ่ยโซคึม (Sogum) ขนาดเล็ก

ขลุ่ยทั้ง 3 แบบ เวลาเป่าใช้วิธีเอียงข้างเหมือนกับการเป่าฟลุต

ในจำนวนนี้ ดูเหมือนขลุ่ยโซคึมจะมีความโดดเด่น

เสียงที่แหลมคล้ายปิคโคโลเครื่องเป่าวงออเคสตราฝรั่ง ทำให้ท่วงที่ออกมาคมชัด

เสียงแหลมเช่นนี้สอดรับกับเครื่องเป่าประเภทปี่ ประเภทแตร

และที่น่าประทับใจคือเมื่อเครื่องดนตรีเหล่านี้บรรเลงเพลง

เสียงที่แตกต่างกลับฟังแล้วกลมกลืนเข้ากันได้ ระรื่นหู

และเมื่อผนวกรวมกับจังหวะที่ได้ยินจากเครื่องเคาะอย่างกลองแบบเกาหลีด้วยแล้ว

ยิ่งสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของบทเพลงสไตล์เกาหลี

การแสดงครั้งนี้วงออเคสตราจากเกาหลีออกแบบให้มีการผสมผสาน

ผสมผสานไทยกับเกาหลี

การแสดงจึงนำเอาระนาดไทยมาบรรเลงบทเพลงในการแสดงครั้งนี้ด้วย

ระนาดบรรเลงบทเพลงไทยคือ ลาวดวงเดือน

และยังได้บรรเลงบทเพลง “เมดเลย์” ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ซีรีส์เกาหลี

ใครเป็นแฟนๆ ซีรีส์เกาหลีได้ยินคงคุ้นๆ หู

นอกจากนี้ วงออเคสตรายังนำเสนอบทเพลงสัญลักษณ์ประเทศเกาหลี โดยเฉพาะบทเพลงชื่อ “อารีรัง”

เพียงแต่บทเพลง “อารีรัง แฟนตาซี” (Arirang Fantasy) ที่นำเสนอนั้น ข้อมูลที่ได้รับมาระบุว่า แต่งโดยชาวเกาหลีเหนือ

นักประพันธ์ดนตรีชาวเกาหลีเหนือ ชื่อ ชเว ซึง ฮวาน (Choi Seong-hwan) แต่งบทเพลงนี้ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1976

ท่วงทำนองเพลงอารีรังนี้คนไทยคุ้นเคยดีอยู่แล้ว พอดนตรีเริ่มบรรเลง ทุกคนล้วนจำได้

ขณะที่ไฮไลต์การแสดง คือการบรรเลงบทเพลงใหม่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า “Together with Arirang in Bangkok”

ประพันธ์โดย คิม โฮจู (Hoju Kim)

บทเพลงนี้เกิดขึ้นเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงพื้นบ้านเกาหลีและไทย

เริ่มต้นวงออเคสตรานำเสนอท่วงทำนองของ “ค้างคาวกินกล้วย” และตามมาด้วย “อารีรัง” ก่อเกิดการผสมผสาน กระทั่งวกกลับไปจบที่ทำนอง “ค้างคาวกินกล้วย”

บทเพลงจึงสะท้อนความสมานสัมพันธ์อันดีระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ

อีกช่วงหนึ่งคือตอนที่นักร้องชาวเกาหลีออกมาขับร้องบทเพลงพื้นบ้านเกาหลี

ยูแทพย็องยัง นักร้องชายชาวเกาหลีที่ออกมาแสดงครั้งนี้สามารถควบคุมผู้ชมทั้งโรงละครได้อยู่หมัด

ชักชวนคนทั้งโรงละครเข้าไปมีส่วนร่วมกับบทเพลงที่ขับร้องด้วยเทคนิคง่ายๆ

ยกมือขวาพูดภาษาเกาหลี ยกมือซ้ายพูดภาษาไทย

เมื่อบทเพลงจบลง หัวใจของผู้ฟังทั้งโรงละครก็เทไปให้กับนักร้อง

เสียงปรบมือแสดงความชื่นชมดังกึกก้อง

บทเพลงส่งท้ายคือ “เพลงเรือเพื่อวงออเคสตราเอเชีย” (Barcarole for Orchestra Asia) โดย “ปาร์ก บอม ยู” (Park Beom-hoon)

เป็นบทเพลงที่วงออเคสตราเอเชีย ซึ่งเป็นวงที่รวมเครื่องดนตรีพื้นบ้านเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 เคยบรรเลง

ครั้งนี้วงออเคสตราแห่งชาติเกาหลีนำมาแสดงเพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลี

ตอกย้ำให้ผู้ฟังร่วมรับรู้ว่า แม้ไทยและเกาหลีจะมีความแตกต่าง ใช้ภาษาคนละภาษา มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน

เหมือนกับชนิดของเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน เพราะดนตรีมีทั้งเครื่อง ดีด สี ตี และเป่า

หลายคนอาจจะเกรงว่าความแตกต่างกันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

แต่หากมองดูวงออเคสตราที่บรรเลงอยู่เบื้องหน้า มองเห็นเครื่องดนตรีหลากประเภทที่กำลังส่งเสียง

จะพบว่าแม้เครื่องดนตรีจะมีความแตกต่าง มีเสียงที่ไม่เหมือนกัน

แต่เมื่อรู้จักนำเอาความหลากหลายของเสียงมาบูรณาการเป็นบทเพลง

บทเพลงที่เกิดขึ้นกลับทรงพลัง และมีอิทธิพลต่อจิตใจ

หลายบทเพลงป็นเพื่อนปลอบใจในยามที่เหงา อีกหลายบทเพลงสามารถปลุกเร้าหัวใจให้ฮึกเหิม

ถ้านานาอารยประเทศ สามารถเชื่อมสมานความสัมพันธ์ได้แนบแน่น

สามารถร่วมบรรเลงบทเพลงเดียวกันได้

โลกใบนี้ก็จะมีพลังเพิ่มพูน

เป็นพลังที่ผลักดันให้มนุษยชาติดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข ยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image