คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ลดเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นคำที่คุ้นหูมากขึ้นในระยะหลัง

เพราะมันคือปัญหาของประเทศที่มีผู้กล่าวถึงมาก

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนได้รับหนังสือจากสถาบันพระปกเกล้า ชื่อ “ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ ความท้าทายของสังคมไทย”

มีเนื้อหาน่าสนใจ

Advertisement

หนังสือเล่มนี้สถาบันพระปกเกล้าจัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการประชุม

เคพีไอ 2562 ที่จะจัดขึ้นต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ภายในหนังสือว่าด้วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

บ่งบอกถึงสาเหตุ และแนะนำทางออก

มีผู้รู้หลายคนช่วยกันเขียนเป็นบทความ อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช เอ็นนู ซื่อสุวรรณ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ดร.รอยล จิตรดอน ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และ ศ.วุฒิสาร ตันไชย

หัวข้อที่เขียนก็มีหลากหลาย อาทิ ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ความเห็นต่างทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ประชาธิปไตยเพศภาวะ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำหลากมิติในสังคมไทย

และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เนื้อหาภายในเล่มน่าอ่าน พลิกไปพลิกมาพบเนื้อมาตรวัดความเหลื่อมล้ำ

ระบุว่ามีการใช้วิธีวัดตามมาตรฐานธนาคารโลก วัดค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือ GINI

ข้อมูลปี 2560 ตามที่บทความอ้างอิงถึง ความเหลื่อมล้ำของไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น

ความแตกต่างด้านรายได้ และรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดกับกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลปี 2560 ก็หลังจาก คสช.ยึดอำนาจมา 3 ปี ข้อมูลดูดี

แต่ข้อมูลหลังจากนั้นไม่ทราบ ต้องไปหาเพิ่มเติมเอา

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคงจะอยู่ที่ “ความเหลื่อมล้ำ” ในไทยยังคงมี

และจะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำลดลงไปอีก

ผู้เขียนบทความในเล่มต่างคนต่างมีข้อเสนอ แต่ละข้อเสนอต้องลองไปศึกษาดู

คนที่ได้ศึกษา อาจจะเห็นลู่ทางที่จะช่วยกันทำให้ความเหลื่อมล้ำในแต่ละด้านลดลง

หนึ่งในผู้เขียนที่นำเสนอทางออก คือ ศ.วุฒิสาร ที่ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหนึ่งในทางออก

มีข้อเสนอในการก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ โดยการหนุนเสริมบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อเสนอต่างๆ ที่ปรากฏ ขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นอาทิ

เริ่มจากข้อเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “ทำงานแบบ Job Enlargement และ Job Enrichment”

หมายถึงทำงานให้ครอบคลุม และลงลึกในการทำงาน

มีตัวอย่างการจัดการการศึกษา ที่นอกจากจะทำให้การศึกษาในพื้นที่ท้องถิ่นได้มาตรฐานแล้ว

ยังต้องแสวงหาวิธีการให้การศึกษากับเด็กกลุ่มพิเศษ ที่ตามปกติจะเป็น

กลุ่มที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ

เมื่อทำได้ เด็กๆ ในพื้นที่ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันอย่างไรก็มีโอกาสได้ความรู้

ลดความเหลื่อมล้ำที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

นอกจากการนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังต้องการ “ออกแบบการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับภูมิสังคม”

ไม่แก้ปัญหาแบบเหมาโหล แต่ต้องแก้ปัญหาให้สอดคล้องเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ

สร้างสรรค์ประเภทของการบริการ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่นที่แต่ละแห่งมีลักษณะไม่เหมือนกัน

ยังมี “การจัดทำแผนที่เพื่อการสร้างสุขภาวะของชุมชน” หรือการจัดเก็บข้อมูลชุมชนในมิติต่างๆ

ข้อมูลที่แนะนำให้เก็บ แบ่งเป็น 3 ชุด คือ

หนึ่งคือข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย สองคือข้อมูลปัญหาที่กำลังเผชิญหน้า

และสาม คือข้อมูลทุนท้องถิ่น ที่หมายถึง คน ความสามารถของคน สถานที่

สำคัญของท้องถิ่น และอื่นๆ

ข้อแนะนำสุดท้ายสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควรทำเพื่อลดเหลื่อมล้ำ

นั่นคือ “การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ความยั่งยืนเกิดได้ ท้องถิ่นต้องมีคุณภาพในการจัดการ ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องสร้างศรัทธาด้วยความโปร่งใส

และยึดหลักการบริหารจัดการที่ดี

ขณะที่ภาครัฐต้องใจกว้าง คือ ถ้าอยากเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำได้ ต้องเปิดทางให้เขาทำงาน

ให้เป็นแกนสำคัญในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นของเขา

และต้องให้อิสระและอำนาจในการริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

ถ้าทำได้ ท้องถิ่นจะเป็นกลไกสำคัญของรัฐที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

ลดเหลื่อมล้ำในชุมชน และอาจขยายไปเป็นความเท่าเทียมในอำเภอ หรือจังหวัด

แนวคิดลดความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ มีอีกหลายแนวทางในหนังสือชื่อ “ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ”

แต่ถ้าสนใจสามารถไปหาอ่าน ส่วนใครที่ลงทะเบียนไปงาน KPI 2562 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กทม.

คงมีโอกาสได้สัมผัสแนวทางต่างๆ พร้อมคำอธิบายได้ภายในงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image