สุจิตต์ วงษ์เทศ : เกิดยาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บริหารจัดการโดยท้องถิ่นไทย

คูลูกศร อายุพันกว่าปีมาแล้ว ผ่ากลางเมืองศรีมโหสถ เมื่อขุดบูรณะใหม่ๆ หลายเดือนมาแล้ว อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

“นอกจากมีชื่อเสียงด้านสมุนไพรแล้ว ปราจีนบุรียังมีสิ่งดีๆ มากมายเป็นที่สุดของประเทศ…” ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พิบูลย์ หัตถกิจโกศล บอกไว้ในอนุสาร อสท. [ฉบับตุลาคม 2562 หน้า 75]

สิ่งดีๆ “เป็นที่สุดของประเทศ” ในปราจีนบุรี ที่ผู้ว่าฯ แนะนำ คือ เมืองศรีมโหสถ, โบราณสถานและปูชนียสถาน อยู่ใน อ.ศรีมโหสถ กับ พระคเณศ อยู่ในพิพิธภัณฑ์ปราจีนบุรี รวมทั้ง “เมืองโบราณยุคทวารวดี, รอยพระพุทธบาทคู่, ต้นศรีมหาโพธิ์, สระแก้ว-สระขวัญ และกแพงเมือง-คูเมืองศรีมโหสถในอำเภอศรีมโหสถ”

เมืองศรีมโหสถ (เมืองมโหสถ) ยุคเผด็จการ คสช. ก่อนผู้ว่าฯ พิบูลย์ไปอยู่ปราจีนบุรี มีสภาพเหมือนป่าดงลี้ลับน่าสะพรึงกลัวจนไม่มีคนกล้าพูดถึง

หลังผู้ว่าฯ พิบูลย์ไปอยู่ปราจีนบุรี มองเห็น “รูปทองในร่างเจ้าเงาะ” เลยระดมศักยภาพของคนท้องถิ่น แล้วสนับสนุนด้วยงบประมาณจังหวัด ร่วมกันจัดการ “ถอดรูปเงาะ” ให้เห็นความงามของรูปทอง

Advertisement

คูลูกศร เป็นคูน้ำที่มนุษย์ขุดขึ้นเป็นเส้นตรงเกือบหมดให้ผ่ากลางเมืองศรีมโหสถ เพื่อชักน้ำเลี้ยงชุมชนกลางเมือง ราว 1,500 ปีมาแล้ว แต่สมัยนี้ไม่มีใครรู้อยู่ตรงไหน? กรมศิลปากรทำป้ายปักไว้ แต่ป้ายนั้นถูกปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหนาหาป้ายแทบไม่เห็น ถึงเห็นป้ายก็ไม่เห็นคูลูกศร เพราะธรรมชาติถมเต็มหมดแล้ว

ผู้ว่าฯ พิบูลย์ ร่วมกับท้องถิ่นศรีมโหสถ ใช้เครื่องมือทันสมัยขุดหลายวันจนได้เห็นคูลูกศรคืนมาตามแนวเดิม แล้วต่อไปจะให้มีน้ำ สร้างความร่มเย็นในคูลูกศรและในคูเมือง

พระคเณศ หรือพระพิฆเนศ องค์แรกที่ขุดพบ จัดแสดงไว้ให้เข้าชมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี” ผู้ว่าฯ บอก

พระคเณศ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ถูกจัดวางอย่างทันสมัยด้วยเทคโนโลยีราคาแพง แต่ไม่ได้แสดงความสำคัญของพระคเณศ ซ้ำมิหนำยังทำให้คนเข้าชมอึดอัด ไม่รู้สึกอิ่ม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี มีข้อความใน อสท. กล่าวว่า “จัดวางโบราณวัตถุให้บอกเล่าเรื่องราวตามลำดับยุคสมัย เข้าใจง่าย”

แต่ลำดับยุคสมัยเหล่านี้ไม่มีจริง ได้แก่ ทวารวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี ฯลฯ เพราะเป็น “มโน” ของคนชั้นนำ สยามในสมัยอาณานิคม เท่ากับกำลังแสดงเรื่องไม่จริง แล้วจะมีประโยชน์อะไร?

โบราณวัตถุชิ้นเอกและชิ้นสำคัญเกือบทั้งหมดขนย้ายจากเมืองศรีมโหสถจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ไม่ว่าพระพุทธรูปหรือพระเทวรูป เช่น พระวิษณุ, ศิวลึงค์, พระคเณศ ล้วนเต็มไปด้วย “สตอรี่” เกี่ยวข้องกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถและความเป็นเมืองศรีมโหสถ ในแนวทางสากลควรจัดแสดงอยู่ที่เมืองศรีมโหสถ โดยการสร้าง “พิพิธภัณฑ์เมืองศรีมโหสถ” ไว้ที่ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

แต่ข้าราชการไทยมีอำนาจในกิจการพิพิธภัณฑ์ ถูกหล่อหลอมครอบงด้วยสำนึก “อาณานิคมภายใน” ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ดังนั้นจึงยากมากที่จะเกิดมี “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ท้องถิ่นที่บริหารจัดการโดยคนท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image