คอลัมน์ โลกสองวัย : อย่าข้ามพายุเศรษฐกิจฝ่ายเดียว

จบการประชุมอาเซียนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 มีเรื่องราวเกิดขึ้นในที่ประชุมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนหลายเรื่อง เช่นกลุ่มอาร์เซ็ป และกลุ่มนโยบายหนึ่งเส้นทางหนึ่งแถบ หรือเบลต์ แอนด์ โรด ของจีนที่ต้องการเชื่อมต่อจีนกับทั่วโลกสู่ด้านใต้และการพัฒนาคู่ขนาน เกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย ที่ประกอบด้วยกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า น้องหนูคงได้อ่านและฟังจากข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มาแล้ว

วันก่อน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาสรุปในวันเสวนาเรื่อง 2020 ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นเพื่อ “เตือนคุณทุกคำ ทุกข่าว” ให้ตระหนักถึงเศรษฐกิจปีหน้าจะได้เตรียมตัวรับพายุเศรษฐกิจที่จะพัดเข้ามาจากหลายทิศทาง

ดร.สมคิดบอกว่า ประเทศไทยโชคดีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งประเทศที่อยู่ศูนย์กลางอาเซียน และกำลังเป็นหัวใจของเอเชีย มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน เป็นซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท มีอัตราเติบโตเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก อาเซียนจึงมีความสำคัญด้วยตัวเองอยู่แล้ว

“แต่ที่เห็นได้ชัดๆ มากขึ้นทุกภูมิภาคพยายามเชื่อมต่ออาเซียน กลุ่มแรกได้แก่กลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) อาเซียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เข้ามาเกาะเกี่ยวเชื่อมโยง และได้มีความพยายามที่จะยกระดับเป็นเขตการค้าเสรีระดับใหญ่ของโลก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน จีดีพีรวม 20 ล้านล้านดอลลาร์ สัดส่วนการค้าโลกกว่า 40% อยู่ในภูมิภาคนี้” ดร.สมคิดบรรยายรายละเอียด

Advertisement

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การพัฒนาคู่ขนานของจีนประกอบด้วย กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า มีกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางการผลิต ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและโลจิสติกส์ มาเก๊าเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อช่วยผลักดันการเชื่อมโยงมายังอาเซียน ขณะที่ไทยพัฒนาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านมามีการลงทุนจากจีนกว่า 500 คน เข้ามาดูพื้นที่อีอีซี. ที่สำคัญคือ อีอีซี.เกิดได้ทันเวลาและต้องเดินหน้าอย่างจริงจัง ไม่ทำให้ล่ม เพราะหากอีอีซี.ล่ม ไทยจะไม่มีอะไรที่เหนือเวียดนามอีกเลย

ดร.สมคิดยืนยันในช่วงท้ายของการบรรยายว่า ดังนั้น ปี 2563 ไม่ใช่จะเผาจริงหรือเผาหลอก แต่เป็นปีที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ทุกภาคส่วนของไทย ทั้งรัฐบาล ทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนต้องรอบรู้มากกว่านี้ ต้องเก็บข้อมูล ร่วมมือกันออกสื่อที่มีประโยชน์ ความรู้ที่มีประโยชน์ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ขณะนี้ภัตตาคารในฮ่องกงแบ่งแยกสี เราเอ็กซ์ปอร์ตสิ่งที่ไม่ควรเอ็กซ์ปอร์ต เราต้องไม่ให้สถานการณ์กลับไปสู่อดีต ทุกอย่างเป็นเรื่องที่คุยกันได้ สามารถร่วมมือกัน ช่วงเวลาสำคัญมาก ดิจิทัล อีอีซี. การประคองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีบทบาทเด่นภายในภูมิภาค ไม่ใช่รัฐบาลแค่ 34 คนเท่านั้นที่ทำ แต่คนทั้งประเทศที่จะทำ” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปิดท้ายการสัมมนาด้วยการขอทุกภาคส่วนร่วมมืออย่างเต็มที่

Advertisement

เมื่อรองนายกรัฐมนตรีกล่าวแทนรัฐบาลว่าอย่างนั้น เราต้องว่าขณะที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายในประเทศเองต้องเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะต้องเริ่มก้าวไปข้างหน้าด้วยศักยภาพของภาคเอกชน

น้องหนูควรรับรู้ด้วยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลที่มุ่งหวังแจกเงินให้ “ผู้มีรายได้น้อย” ครั้งงละพันสองพันบาท เพื่อจับจ่ายใช้สอย เพื่อนำเงินออกไปท่องเที่ยว “ร้อยบาทเที่ยวทั่วไทย”

การที่ “ผู้มีรายได้น้อย” ออกไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าครั้งละ “สิบบาทยี่สิบบาท” หลายร้อยหลายพันคน เงินนั้นจะหมุนเวียนจากการซื้อขายสินค้าในห้างให้หมดไป โดยที่โรงงานต้องผลิตสินค้านั้นออกมาเพิ่มเติม ให้คนงานมีงานทำในสายการผลิต

แต่รัฐบาลต้องไม่ลืมว่า “ผู้มีรายได้น้อย” และผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่น ผู้จำหน่ายสินค้า “โชห่วย” แม่ค้าขายข้าวแกง หาบเร่ ต้องการเงินเหล่านั้นเพื่อนำมาซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเช่นกัน

รวมถึงข้าราชการและพนักงานเอกชนต้องการมีเงินเพิ่มมาจับจ่ายใช้สอย โปรดดูแลมนุษย์เงินเดือนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image