คอลัมน์ โลกสองวัย : อุทาหรณ์การ์ตูนบนกระทง เกือบหลงทาง

เรื่องเกิดโอละพ่อ หมายถึงกลับตาลปัตร คือไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากแต่เป็นอีกเช่นหนึ่ง คือเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของน้องหนูวัย 15 ปี ก้าวเข้าสู่วัย “นางสาว” จากการวาดการ์ตูนสไตล์ญี่ปุ่นลงบนกระทง (ไม่หลงทาง) แล้วถูกบริษัท (ที่เคย) เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ฟ้องร้องแจ้งความจับกุม กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตามแจ้ง น้องหนูต้องถูกปรับไป 5,000 บาท

มาเมื่อวันก่อน บริษัทตัวแทนลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียวในประเทศไทยเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วยืนยันว่าการกระทำของน้องหนูคนเดียวกันนั้นไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ ด้วยตรวจสอบแล้วภาพที่วาดไม่เหมือนการ์ตูนของญี่ปุ่น “รีลัคคุมะ”

“ทั้งขั้นตอนการจะจับกุมใคร หากได้รับแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์จะตรวจสอบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ หากละเมิดจริง จะออกจดหมายเตือนก่อน 2 ครั้ง เมื่อไม่หยุดกากรกระทำผิด ไม่มีการแก้ไขจึงส่งตัวแทนดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งไม่เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นข่าว” บริษัทที่เป็นตัวแทนแถลงกรณีที่เกิดขึ้น บริษัทที่อ้างว่าเป็นตัวแทนจากญี่ปุ่นปรากฏว่ายกเลิกสัญญาไปแล้ว ตำรวจชี้แจงว่าไม่มีอำนาจจับปรับ หรือเรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ ยังเป็นการเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ หรือแจ้งความเท็จ ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอผลการสอบสวนรวบรวมพยานทั้งหมดก่อน

เรื่องราวทั้งหมดปรากฏเป็นข่าวไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้ตำรวจต้องทำงานรอบคอบกว่านี้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่เด็กและเยาวชนได้ ทั้งอาจต้องเป็นคดีกันต่อไป

Advertisement

กระนั้น เรื่องราวของลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ผู้ทำงานศิลปะ อาทิ การวาดภาพ หรือเขียนเรื่อง น้องหนูต้องศึกษาว่าลิขสิทธิ์คืออะไร เป็นอย่างไร

ไม่ใช่ว่าทำโดยไม่ศึกษาไตร่ตรองให้รอบคอบ เช่นไปอ่านเรื่อง หรือเห็นภาพถูกใจแล้วลงมือเขียนหรือวาดภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลืยนแบบ หรือจำแบบ และรูปแบบของภาพนั้น รูปนั้น มาเขียนให้เป็นของตัวเอง แม้จะไม่เหมือน หากแต่มีเค้าโครงจากภาพนั้น เรื่องนั้น เช่น นำรูปประโยคหรือบางส่วนของภาพ อาทิ เค้าหน้า หรือบางส่วน แม้แต่จะนำมาจากภาพถ่าย ก็ไม่ได้

นับเป็นความผิดในการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน

Advertisement

ทุกวันนี้ งานเขียน งานวาดภาพ งานถ่ายภาพ หรืองานอื่นใด ไม่เพียงแต่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น งานที่เจ้าของผลงานนำออกแสดงต่อสาธารณชน หรืองานที่เจ้าของผลงานเก็บไว้เอง หากน้องหนูไปรู้ไปเห็นแล้วชอบ นำมาเขียน ลอกเลียนแบบทั้งหมด หรือบางส่วน นับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

น้องหนูต้องระวังไว้ให้ดี

ขณะที่การนำบางส่วนของเรื่อง เช่น บางประโยคเด็ด หรือบางส่วนของภาพเขียน หรือบางส่วนของภาพถ่าย หากจะนำมาเสนอในเรื่องของตน ภาพของตน น้องหนูต้องอ้างอิงว่ามาจากไหน ใครเป็นเจ้าของ เพราะเรื่องของลิขสิทธิ์หากมีการนำมาอ้างและแจ้งว่ามาจากที่ไหน ใครเป็นเจ้าของ ย่อมทำได้ เช่นสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ไม่ว่าเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ หรือสื่อโทรทัศน์ แม้แต่สื่อโซเชียลมีเดีย ต้องอ้างเช่นกัน

เรื่องของกฎหมายวันนี้มีกฎหมายออกมามากมาย ไม่แต่เพียงกฎหมายลิขสิทธิ์เท่านั้น ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับเด็ก ดังข่าวของน้องหนูซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ น้องหนูจะเห็นได้ว่า สื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ จะไม่นำเสนอให้เห็นหน้ารู้ว่าเป็นใคร และชื่อเสียงเรียงนาม จะบังหน้า คาดตาด้วยแถบสีดำ และใช้นามสมมติ รวมทั้งจะไม่บอกสถานที่อยู่หรือชื่อผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นใคร ลูกเต้าเหล่าใคร

การเรียนรู้เรื่องของกฎหมายจะเป็นประโยชน์กับตัวน้องหนูเอง และยังเป็นประโยชน์กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไมการ์ตูนบนกระทงว่าจะเป็นเรื่องอะไร ด้วยจะไม่ทำให้เราทำผิดหรือละเมิดกฎหมาย

เห็นไหม แค่เขียนตัวการ์ตูนลงบนกระทง ยังเกือบหลงทาง เสียเวลา เสียขวัญ ยังเกือบเสียเงินด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image