อาศรมมิวสิก : ดนตรี: เส้นทางของความเหลื่อมล้ำ : โดย สุกรี เจริญสุข

อาจารย์กมลมาศ เจริญสุข และอาจารย์พลเยี่ยม ผลิตผลการพิมพ์

ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่แรกเกิด
เมื่อวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา อาจารย์กมลมาศ เจริญสุข และ อาจารย์พลเยี่ยม ผลิตผลการพิมพ์ จากโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ ได้มีโอกาสเดินทางไปที่เมืองเรมไชด์ (Remscheid) ประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาอาจารย์ไวโอลินนานาชาติ ครั้งที่ 11 (11th International Music Teachers Exchange Conference) ซึ่งจัดโดย อาจารย์เคิร์สติน วอร์ทเบิร์ก (Kerstin Wartberg) โดยแขกรับเชิญคนสำคัญในงานนี้ คือ อาจารย์เคิร์ท ซาส์สแมนน์เฮาส์
(Kurt Sassmannshaus) ผู้เขียนหลักสูตรการเรียนการสอนไวโอลินที่แพร่หลายมากในประเทศเยอรมนี เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของ โดโรธี ดิเลย์ (Dorothy DeLay) ปรมาจารย์ครูสอนไวโอลินชื่อดังอีกด้วย
คณะกรรมการจัดงานได้เชิญครูสอนไวโอลินไทยไปเสนอผลงานการสอนไวโอลินเด็กไทยและการสอนดนตรีเด็กเล็กในประเทศไทย ซึ่งถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงมาก สำหรับอาจารย์เคิร์สติน วอร์ทเบิร์ก ได้เดินทางมาสอนครูผู้สอนไวโอลินในเมืองไทยครั้งหนึ่งแล้ว แล้วเธอก็ประทับใจในผลงานและได้เชื้อเชิญให้ไปนำเสนอวิธีการและความสำเร็จแก่ครูไวโอลินในระดับนานาชาติครั้งนี้ด้วย
ความโดดเด่นเป็นพิเศษของการเรียนดนตรีเด็กเล็กในประเทศไทยมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก มีเด็กเรียนดนตรีในโครงการ 600 คน โดยเริ่มต้นสอนดนตรีที่เป็นเด็กเล็กอายุ 0-3 ขวบ จำนวน 100 คน ถือเป็นโรงเรียนดนตรีที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดมากที่สุดในโรงเรียนดนตรีทั่วโลก ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจให้กับครูดนตรีเด็กเล็กนานาชาติอย่างมาก
ประเด็นที่สอง เด็กเล็กที่เข้าเรียนดนตรีต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองเข้าเรียนและทำการบ้านเหมือนลูก เพื่อจะเป็นต้นแบบให้กับลูก ซึ่งพ่อแม่เหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง รัศมี 100 กิโลเมตร หากดูไปในรายละเอียดแล้ว พ่อแม่เหล่านี้ทุกคนเป็นผู้ที่มีอันจะกินทั้งสิ้น
ในงานสัมมนาครั้งนี้ มีครูผู้เข้าร่วมจากหลายเชื้อชาติ ส่วนมากมาจากประเทศแถบยุโรป เนื้อหาในการสัมมนาครูดนตรีต้องเรียนเข้มข้นมากและมีวิธีการวิธีคิดใหม่ๆ ในการสอนเด็ก อาทิ เทคนิคการใช้มือซ้ายมือขวาเล่นไวโอลิน การระรัวเสียง (Vibrato) การข้ามเสียง (Shifting) คุณภาพและความตรงของเสียง (Intonation) คันชักและการสีคันชัก (Bowing Technique) เป็นต้น
ส่วนเนื้อหาที่ผู้แทนจากไทยนำเสนอก็คือ ทำไมการสอนดนตรีเด็กจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย เรื่องที่สำคัญ (Why Early Start Is Important?) อาจารย์กมลมาศและอาจารย์พลเยี่ยมได้นำเสนอเรื่องราวและงานวิจัยต่างๆ ว่า หูของเด็กสร้างเสร็จตั้งแต่ 6 เดือนแรกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และมีเส้นประสาทต่างๆ เชื่อมต่อกันได้ดีที่สุดตอนอายุ 0-3 ขวบ จากนั้นอะไรที่ไม่ได้ใช้ก็จะค่อยๆ สลายตัวลง นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเรื่องการสร้างบุคลิกภาพของเด็ก (Character Development) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่ต้องสร้างให้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิด
การจัดสัมมนาเรื่องเด็กเล็กกับการเรียนดนตรีและการสอนไวโอลินเด็กในครั้งต่อไป จะจัดขึ้นในประเทศเยอรมนี ปี พ.ศ.2564 หากครูดนตรีสนใจสามารถติดตามได้ที่ https://en.germansuzuki.com
ในมิติของความเหลื่อมล้ำนั้น ปัจจุบันเด็กที่จะเรียนดนตรีตั้งแต่แรกเกิดได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ พ่อแม่มีฐานะทำธุรกิจคือมีรายได้สูง ครอบครัวมีลูกน้อย 1-2 คน เมื่อมีเด็กที่เรียนดนตรี 1 คน ก็จะมีพ่อแม่ ปู่ย่าหรือตายาย และมีพี่เลี้ยงมากับเด็กทุกครั้ง โดยมากเป็นครอบครัวที่อยู่บ้านไกลจากโรงเรียนดนตรี รัศมี 100 กิโลเมตร จะต้องมีรถขับหรือมีคนขับรถไปส่ง ที่น่าสนใจมากคือไม่มีเด็กคนไหนเป็นหนี้ค่าเล่าเรียนเลย ทุกคนทุกครอบครัวตั้งหน้าตั้งตาเอาใจใส่การศึกษาของลูกและตั้งใจเรียน วัตถุประสงค์หลักของการเรียนดนตรี เพื่อให้เป็นหุ้นส่วนของชีวิตลูก

คุณภาพคือความเหลื่อมล้ำเมื่อโตขึ้น

Jason Camelio และ Damien Bracken ผู้บริหารระดับสูงของวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี

เมื่อเด็กที่เรียนดนตรีและโตขึ้นแล้วจะเรียนต่อไปอย่างไร เมื่อยังเป็นเด็กเล็กส่วนใหญ่เด็กเรียนอยู่ในโรงเรียนชั้นนำของสังคม หรือเรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติ เด็กเรียนดนตรีจนกลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิต จะเรียนดนตรีเป็นอาชีพหรือเรียนอย่างอื่นเป็นอาชีพ แต่ก็มีดนตรีอยู่ในหัวใจ เด็กเหล่านี้มีความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ มีความพร้อมด้านการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยี มีความพร้อมด้านดนตรี และมีความพร้อมด้านการเงิน ที่สำคัญก็คือ เด็กกลุ่มนี้ไม่มีเป้าหมายที่จะอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย
โลกใบนี้เล็กลงมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพราะเด็กกลุ่มนี้ได้เดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อน 2 ขวบ มีหนังสือเดินทางตั้งแต่วัยเด็ก มีความรู้เรื่องรสนิยม ความเป็นอยู่ และการแต่งกาย มีรสนิยมเรื่องอาหารการกิน มีวัฒนธรรมเรื่องการอ่าน มีความสามารถในการค้นหาข้อมูล มีความรู้วัฒนธรรมที่เป็นสากล โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เด็กเรียนรู้และตัดสินใจว่าต้องการอะไรในชีวิต
มีสถาบันอุดมศึกษาจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาคัดเลือกเด็กกลุ่มนี้ไปศึกษาต่อต่างประเทศในแบบให้ทุนการศึกษา เพราะเด็กมีความสามารถสูงเพียงพอที่จะได้รับทุน ซึ่งเป็นทุนของผู้มีความสามารถ ไม่ใช่ทุนยากจนหรือทุนของผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นทุนจองตัวและประมูลตัวให้ไปเรียนในสถาบัน เพื่อที่จะได้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันดนตรีต่อไป
ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2562 วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี (Berklee College of Music) ได้จับมือกับสถาบันดนตรียามาฮ่า และสมาคมโรงเรียนนานาชาติ (International Schools Association of Thailand) จัดการสอบคัดเลือกนักเรียนไทยเพื่อไปศึกษาต่อดนตรีที่เบิร์กลี โดยส่งบุคลากรระดับสูงมาถึง 2 คน (Damien Bracken และ Jason Camelio) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกรับนักศึกษา ทั้งนี้ได้ส่งรองผู้อำนวยการฝ่ายรับนักศึกษาเข้ามาสำรวจก่อนแล้วเมื่อเดือนกันยายน
วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี ที่เมืองบอสตัน ได้ขยายการศึกษาดนตรีเข้าสู่ภูมิภาค โดยส่งคนไปคัดเลือกนักศึกษาที่มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน แต่ไม่รู้จักบรรยากาศการศึกษาดนตรีในประเทศไทย จึงไม่ได้เข้ามาในเมืองไทย ต่อมา ดร.พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด เดินทางไปเจรจากับผู้บริหารวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี จนสามารถสร้างโอกาสในการศึกษาดนตรีให้กับเด็กไทยขึ้น
วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีรับนักศึกษาที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่มีความสามารถทางดนตรี ทั้งระบบการศึกษาที่เป็นปริญญาและระบบวิชาชีพ โดยที่วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลีเปิดสอนวิชาดนตรีที่ตลาดต้องการ ดนตรีสมัยนิยม (ป๊อป ร็อก แจ๊ซ) ดนตรีเทคโนโลยี ดนตรีที่เป็นอุตสาหกรรมบันเทิง การบันทึกเสียงและการบันทึกการแสดงดนตรี ธุรกิจดนตรี ดนตรีประกอบภาพยนตร์ เป็นต้น ข้อได้เปรียบของการจัดการศึกษาของเขาก็คือ มีประสบการณ์จัดการศึกษาดนตรีให้กับเด็กทั้งโลก ทั้งหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว มีทั้งประกาศนียบัตรและปริญญา โดยที่วิทยาลัยดนตรีจัดการกับหลักสูตรได้เอง มีศาสตราจารย์ ดร.กูเกิล ศาสตราจารย์ ดร.ยูทูบ ศาสตราจารย์ ดร.วิกิพีเดีย เปิดสอนทั่วโลก สอนตลอด 24 ชั่วโมง
ศิษย์เก่าคนแรกของไทยที่ไปเรียนดนตรีวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี เมื่อปี พ.ศ.2508-2509 คือ อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้รับทุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อกลับมาได้ร่วมมือกับ ดร.ถาวร พรประภา เปิดโรงเรียนสยามกลการสอนดนตรีเป็นแห่งแรกของไทย อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้วางรากฐานวิชาดนตรีแจ๊ซและการเรียบเรียงเสียงประสานให้กับนักดนตรีอาชีพ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาดนตรีในไทยให้ก้าวหน้าอย่างมาก วันนี้มีศิษย์เก่าของเบิร์กลีอยู่ 70 คน

ความเปลี่ยนแปลง

Advertisement
ดร.พีรวัฒน์ ชูเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด

เมื่อการศึกษาดนตรีทั่วโลกเปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน การศึกษาดนตรีไทยยังก้าวตามไม่ทัน ตั้งแต่เรื่องวิสัยทัศน์ของผู้นำ ความขยันในการทำงานเชิงรุก ความสามารถ ฝีมือของอาจารย์ยังไม่พัฒนา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดนตรียังช้า รวมทั้งการก้าวทันสู่ตลาดโลกและอาชีพดนตรียังต้องตามโลกอยู่ เมื่อการศึกษาดนตรีของไทยก้าวไม่ทัน สถาบันดนตรีนานาชาติก็ยื่นมือเข้ามาจัดการศึกษาให้กับเด็กไทย เด็กที่มีความก้าวหน้า เด็กที่มีความสามารถทันโลก เด็กก็จะคว้าโอกาสโดยใช้ความสามารถก้าวไปสู่สากล
ผู้แทนของเบิร์กลี เมื่อได้สัมผัสแล้ว เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมสูง เด็กไทยมีความสามารถสูง จึงต้องการทำข้อตกลงกับสถาบันดนตรียามาฮ่า เพื่อเปิดสอนผ่านสื่อออนไลน์ ส่งอาจารย์มาสาธิตการเรียนการสอน (Workshop/Master Class) เพื่อแนะนำให้แก่เด็กไทยและเด็กในภูมิภาค โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับสมัครและคัดเลือกเด็ก ซึ่งมีทุนการศึกษาให้กับคนเก่ง
อีกอย่างหนึ่งที่ได้คุยกัน หากเบิร์กลีจะนำผลงานเพลง (ศิษย์เก่า) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประกอบภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดมาบันทึกเสียงในประเทศไทย ก็จะทำให้เด็กไทยรู้จักและสนใจเบิร์กลีมากขึ้น
ขณะที่สถาบันการศึกษาดนตรีของไทย ยังอยู่ในสภาพ “ครูพักลักจำ” คือ ครูไม่ได้เรียนดนตรีอย่างจริงจัง เป็นครูที่ “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” ทำให้เด็กไทยไปได้ไม่ถึงไหน ในที่สุด พ่อแม่ของเด็กไทยจึงต้องดิ้นรนเพื่อหาโอกาส เพื่อให้ลูกได้เรียนดนตรีกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เด็กไทยมีความก้าวหน้าทางดนตรีมากขึ้น
แม้จะเป็นคนจำนวนน้อยที่มีโอกาส แต่เด็กไทยเหล่านี้มีศักยภาพทางดนตรีสูง มีภาษาอังกฤษที่ดี มีเงินที่จะเรียนในต่างประเทศได้ ซึ่งเด็กเก่งของไทยเหล่านี้ก็ก้าวไปสู่โลกที่เป็นสากล ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่รับผิดชอบการศึกษาได้รู้ตัวว่า ใครเป็นผู้ที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่เด็กไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image