คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : 5G ต้องมีให้ได้

ประสานเสียงตรงกัน นำโดยรัฐบาล และ กสทช.เรื่องการผลักดันบริการ 5G ในประเทศไทย โดยขีดไทม์ไลน์ไว้ชัดเจนว่าต้องเกิดให้ได้ปีหน้า 2563

“กสทช.” เตรียมนำคลื่น 4 ย่าน ได้แก่ 700MHz, 1800 MHz, 2600MHz และ 26GHz ออกประมูลพร้อมกันทีเดียว รวม 56 ใบอนุญาต ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดจะประมูลกันในวันที่ 16 ก.พ.2563 นี้ ราคาเริ่มต้นประมูลต่ำสุดอยู่ที่ 300 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยืนยันว่าราคาตั้งต้นไม่สูงเกินไปจึงมั่นใจว่าจะไม่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ 5G แจ้งเกิดไม่สำเร็จ

โดย “กสทช.” ยังพร้อมปลดล็อกทุกสิ่งอันเพื่อให้การแจ้งเกิด 5G ราบรื่น ตั้งแต่กฎกติกาต่างๆ เช่น การจ่ายค่าประมูลคลื่นที่กำหนดให้ปีแรกจ่าย 10% ปีที่ 2-4 ไม่ต้องจ่าย ปีที่ 5-10 ปีละ 15% หากขยายบริการในพื้นที่ EEC 50% ใน 1 ปี เป็นต้น

Advertisement

ส่วนที่กังวลว่าจะเปิดใช้ 5G เร็วไปทั้งๆ ที่ 3G และ 4G ยังใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพนั้นก็ไม่น่าห่วงเมื่อพิจารณาปริมาณการใช้ดาต้าของคนไทยเทียบกับหลายประเทศพบว่า สูงกว่ามาก โดยคนไทยใช้ดาต้าต่อคนต่อเดือน 9GB สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 5GB

รัฐบาลเองผลักดันเต็มตัว โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา Thailand 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในเครือมติชน โดยระบุว่า การประมูลคลื่น 5G ต้องเกิดในปีหน้าแน่นอนอย่างช้า มี.ค. อย่างเร็ว ก.พ. โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีโอกาสใช้ทั้งภาคการศึกษา ภาคเอกชน ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ

Advertisement

“key factor คือให้บริการประชาชน โดย BOI ต้องมีมาตรการพิเศษดึงดูดนักลงทุนให้มาตั้งที่ไทยให้ได้ ฉะนั้น 5G และ IoT เอกชนต้องตื่นตัว ถ้าไม่ปรับตัวจะไม่ทัน การพัฒนาคนหลักสูตร nondegree ด้าน digital เพื่อ reskill และ upskill จากความร่วมมือระหว่างเอกชน และสถาบันศึกษา เอกชนที่พัฒนาคนจะรับได้สิทธิประโยชน์ BOI ถ้าผลิตคนไม่ทัน จะทำให้ไม่เกิดการลงทุน”

ความท้าทายคือทำอย่างไรให้ประเทศไทยแข็งแรงเพื่อให้ประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนแทนที่จะไปเวียดนาม

“ปี 2020 ไม่ใช่เผาหลอกและเผาจริง แต่มีทั้งความเสี่ยง และโอกาส ช่วงเวลานี้สำคัญมากจะทำอย่างไรให้ไทยมีบทบาทเด่นในภูมิภาคแห่งนี้ ทุกคนต้องร่วมมือกันทำ”

ก่อนหน้านี้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในทำนองเดียวกันว่าแม้ 4G จะเพิ่งประมูลไม่นานแต่ 5G ต้องเกิดปีหน้า เพราะประเทศอื่นในอาเซียนจะเริ่มให้บริการกลางปีหน้า ดังนั้นไทยต้องสร้างจุดเปลี่ยนทำให้ 5G สำเร็จให้ได้เพื่อให้ทั่วโลกเห็นว่าไทยเหมาะสมเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า

“ถ้า 5G ไม่เกิดจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เขาจะมองว่าประเทศไทยล้าหลังที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ 5G เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าภาครัฐทำคนเดียว ต้องคุยกันทั้ง กสทช. โอเปอเรเตอร์รายใหม่รายเก่า รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่ออนาคตของประเทศ สิ่งที่ทำวันนี้ ไม่ได้ทำเพื่อคนวันนี้แต่เพื่อลูกหลานในอนาคต”

รัฐมนตรี “ดีอีเอส” ย้ำว่า ถ้าพลาดขบวนรถไฟ 5G ครั้งนี้จะกระทบยี่สิบปีข้างหน้า เพราะการตัดสินใจลงทุนใหญ่ๆ มีรอบในการลงทุนอย่างน้อยยี่สิบปี

ฟากเอกชน 2 รายใหญ่ “เอไอเอส และทรูมูฟเอช” ประกาศว่าพร้อมร่วมมือสนับสนุน และผลักดันบริการ 5G แต่…

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยืนยันคำเดิมว่า ช่วงเวลา “ที่ใช่” ของ 5G ไม่ใช่ปีหน้า แต่เป็นปลายปี 2564 เพราะราคาอุปกรณ์จะลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมขึ้นคือราว 6-8 พันบาท และมีแนวโน้มลดลงอีก

ระหว่างนี้ผู้ให้บริการแต่ละรายเริ่มทดลองทดสอบบริการ 5G ไปแล้วจึงไม่ถือว่าล่าช้า แต่การผลักดันให้ 5G ของไทยเกิดขึ้นเร็วเพื่อเป็น “ผู้นำในอาเซียน” นั้นเป็นสถานการณ์ที่ “ไม่ปกติ” ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นกระบวนการคิด และการประมูลคลื่น “กสทช.” ก็ควรคิดใหม่ทำใหม่ด้วย

“ประเทศอื่นจะสนับสนุนโอเปอเรเตอร์มหาศาล บางแห่งให้คลื่นฟรี โอเปอเรเตอร์ที่ลงทุนมากจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย หากเป็นนโยบายของประเทศ ต้องการผลักดัน 5G ให้เกิดเร็ว เราก็สามารถทำได้ แต่ควรมีกระบวนการคิดใหม่ทำใหม่ ถ้าจะเร่งให้เกิดปี 2563 เราต้องซื้อของแพง ขณะที่ยูสเคสยังไม่มากต้องคิดรอบด้าน เพราะภาระจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นมหาศาล”

ที่สำคัญควรมีกระบวนการป้องกัน ไม่ให้มีคนเข้ามาปั่นราคาประมูลแล้วหนี เพื่อไม่ให้ผู้เล่นหลักต้อง “อมเลือด” ซ้ำรอยการประมูลครั้งก่อนด้วย

วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เสริมว่าจะดูว่าราคาตั้งต้นประมูล 5G เหมาะสมหรือไม่ต้องดูภาพรวม ปัจจุบันในเอเชียหลายประเทศเดินหน้า 5G แล้ว อย่างในจีน รัฐบาลผลักดันเต็มที่จึงให้คลื่นฟรีกับโอเปอเรเตอร์ เช่น ไชน่าโมบายล์ มี 5G ที่มีลูกค้ากว่า 900 ล้านคน

“เขามองว่าคลื่นเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นอีกหลายสิบเท่า ไทยควรดูตัวอย่างความสำเร็จของจีน การผลักดัน 5G ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีที่จะไม่ให้ไทยตกขบวนรถไฟ แต่เกณฑ์ของ กสทช.ยังเปิดโอกาสให้มีการปั่นราคารุนแรง จนอาจกระทบผู้ร่วมประมูลได้ ทรูอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ยอมแพ้แน่ และมั่นใจว่าสุดท้าย 5G มาแน่ เราพร้อมเข้าร่วมภายใต้มูลค่าการลงทุนที่เหมาะสม”

การประมูลคลื่น 5G ที่รัฐบาลปักธงแจ้งเกิดในปีหน้าจะทำได้จริงไหม ลุ้นกันไม่นาน แต่มี 5G แล้วภาคส่วนต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อพลิกเกมแข่งขัน สร้างแต้มต่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจได้แค่ไหน ถึงขั้นดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนหรือไม่เป็นหนังเรื่องยาว

ย้อนอ่าน : กว่า 195 นาทีสุดเข้มข้น เวทีคุย”โรดแมป 5G” ดันไทยก้าวนำอาเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image