สุจิตต์ วงษ์เทศ : ท่องเที่ยว สร้างรายได้ดี ทุกพื้นที่ถ้ามีนักท่องเที่ยว

ซ้าย-ศิลาจารึกปราสาทเมืองเก่า เป็นจารึกประจำอโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 (ภาพจากรายงานการขุดแต่งปราสาทหินเมืองเก่าฯ หน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากร พ.ศ.2533) ขวา-จารึกปราสาทเมืองเก่า ถูกทิ้งขว้างเหมือนหินสับปะรังเคก้อนหนึ่งในห้องคลังโบราณวัตถุ อยู่ติดห้องสำนักงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ (อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา) [ภาพจาก มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2561 หน้า 13] ปัจจุบันอาจแก้ไขแล้ว แต่ไม่ให้เกียรติชุมชนชาวบ้านที่สูงเนิน จึงไม่แบ่งปันข้อมูลใดๆ

“ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่ดี แต่การท่องเที่ยวยังอยู่ได้”

“เชื่อว่าจากนี้ไปไม่น่าเกิน 7 ปี จะได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวเท่ากับประชากรประเทศ และมีนัยสำคัญต่อจีดีพีประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำเพราะการท่องเที่ยวกระจายในทุกพื้นที่”

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 [ข่าวจาก มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2562 หน้า 10]

ย้อนอ่าน : คำต่อคำ ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ อีอีซี-โอกาสประเทศไทย และเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ?

Advertisement

“การท่องเที่ยวกระจายในทุกพื้นที่” ก็จริง แต่กระจายแค่ชื่อ “การท่องเที่ยว” ส่วน “นักท่องเที่ยว” ไม่กระจาย ดังนั้นไม่ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยิ่งถ่างให้เหลื่อมล้ำกว้างมากขึ้น

สูงเนิน

อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นตัวอย่างอัพเดต ชาวสูงเนินรู้จักและเห็นคุณค่าของการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวไม่มี หรือมีไม่มากพอจะเป็นมูลค่าลดความเหลื่อมล้ำ

“ของดีมีอยู่” เต็มสูงเนิน แต่คนทั่วไปไม่รู้จักทั้งชื่อสูงเนินและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในสูงเนิน

ปัญหาน่าจะมีหลายอย่างเกินกว่าจะยกทั้งหมดมาตรงนี้ แต่อย่างหนึ่งซึ่งสำคัญคือรัฐราชการมองข้าม “ของดีมีอยู่” ได้แก่ วัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์ เลยไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว

แม้ขายได้ไม่มาก แต่ช่วยหล่อหลอมอย่างอื่นตามมาอีกไม่น้อย คือข้อมูลความรู้ที่มีพลังต่อ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

มิหนำซ้ำยังใจร้ายใจดำ เมื่อทางการขุดพบ ศิลาจารึกของพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 จากปราสาทเมืองเก่า [บ้านเมืองเก่า ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา] แล้วเอาไปยัดเข้าห้องเก็บของเป็นหินสับปะรังเคก้อนหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ นครราชสีมา

นอกจากไม่อ่านข้อความในจารึกแล้วเผยแพร่สู่สาธารณะ ไม่จัดแสดงอย่างสมศักดิ์ศรี แล้วยังไม่มีแก่ใจบอกข้อมูลความรู้แก่ชุมชนชาวบ้านที่ศรัทธาและภูมิใจในปราสาทเมืองเก่า “อโรคยศาล”

ชาวบ้านถ้ารู้ข้อมูลบ้างก็ร่วมกันสร้าง “สตอรี่” ได้บ้างเพื่อขายการท่องเที่ยว [กรณีนี้ผมเคยเขียนบอกตั้งแต่ปีก่อน แต่ทางการไม่มีแก่ใจเพื่อชาวบ้านสามัญชน]

อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา อยู่กึ่งกลางระหว่างเขาใหญ่กับอนุสาวรีย์ย่าโมในตัวเมืองโคราช การคมนาคมในอนาคตสะดวกสบายอย่างยิ่งยวด เพราะถูกขนาบด้วยของเก่า-ของใหม่ [1.] ทางรถไฟ สายเก่าตั้งแต่สมัย ร.5 ขณะนี้กำลังสร้างขนานไป คือ รถไฟความเร็วสูง [2.] ทางรถยนต์ สายหลัก คือ ถนนมิตรภาพ สมัยสงครามเย็น ขณะนี้กำลังสร้างอีกเส้นทางหนึ่งขนานไปคือ มอเตอร์เวย์

สูงเนินเป็นที่ตั้งเมืองนครราชสีมาเก่าสุด แรกสุด ก่อนไปสร้างใหม่บริเวณทุกวันนี้เป็น อ.เมืองนครราชสีมา [มีอนุสาวรีย์ย่าโม] หลักฐานวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีมีเพียบ ล้วนเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวโดเด่น ได้แก่

1.เมืองเสมา ขนาดใหญ่โตมโหฬาร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ เก่าแก่ราว 1,500 ปีมาแล้ว [สมัยทวารวดี] 2.พระนอน แบบ “ทวารวดี” แกะสลักจากหินทราย ใหญ่ ยาว เก่าสุดในไทย และ 3.ศาสนสถาน ทั้งพุทธและพราหมณ์ ที่สำคัญคือ มี หินตั้ง ในศาสนาผี พบทั่วไปในหมู่บ้านเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image