คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ‘ดิจิทัล’ เปลี่ยนโลก

ไม่ใช่แต่ธุรกิจเก่าเท่านั้นที่โดนรุกรานจากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” แต่ธุรกิจพันธุ์ดิจิทัลทั้งหลายก็ยังทำลายล้างกันเองด้วยสปีดของการเปลี่ยนแปลงแข่งขันและพัฒนาการเร็วจี๋ของเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจท่องเที่ยว ที่มี “ดิสรัปเตอร์” ยุคแรกอย่างเว็บไซต์จองห้องพัก “เอ็กซพีเดีย” ต่อมายังมีเว็บไซต์ “แอร์บีเอ็นบี” (AirBNB) ล่าสุด “OYO” ที่ใครมีห้องมีตึกแถวว่างๆ แปลงโฉมเป็น “บัดเจ็ทโฮเทล” แล้วนำมาขายบนแพลตฟอร์มของ OYO ก็ยังได้

หรือในธุรกิจออนไลน์มีเดียแม้แต่ยักษ์โซเชียล “เฟซบุ๊ก” (Facebook) หนีไม่พ้นโดนคู่แข่งน้องใหม่ “TikTok” ท้าทาย (ก่อตั้งในปี 2017) ว่ากันว่าทำให้เจ้าพ่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก “มาร์ก ซักเคอร์ เบิร์ก” ถึงกับนั่งไม่ติด และยอมรับว่าน้องใหม่จากจีนรายนี้มีฝีมือไม่ธรรมดา แม้ “เฟซบุ๊ก” จะสู้อุตส่าห์งัดไม้ตายด้วยการ “โคลนนิ่ง” แอพพลิเคชั่นชื่อ “Lasso” ออกมาตอบโต้แล้วก็ยังทำอะไรไม่ได้

โดยในรอบปีที่ผ่านมา TikTok มียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมากถึง 750 ล้านครั้ง เอาชนะยักษ์ดิจิทัลแพลตฟอร์มทุกรายไปได้ ไล่มาตั้งแต่ “เฟซบุ๊ก” ที่มียอดดาวน์โหลด 715 ล้านครั้ง ตามด้วย “อินสตาแกรม” (Instagram) ที่มี 450 ล้านดาวน์โหลด, “ยูทูบ” (Youtube) 300 ล้านครั้ง และสแน็ปแชต (Snapchat) ที่มียอดดาวน์โหลด 275 ล้านครั้ง

Advertisement

นาทีนี้คงต้องบอกว่า เหนือเฟซบุ๊กยังมี “TikTok”

เช่นกันกับธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง เมื่อ 2 ปีก่อน ซีอีโอ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) เคยบอกว่า คู่แข่งหนึ่งเดียวของตนเอง ไม่ใช่ใครอื่นเลย หากแต่ คือ “การนอนหลับ” คล้อยหลังไม่ถึงปี เน็ตฟลิกซ์กลับมีคู่แข่งทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่โดดเข้ามาชิงเค้กในสมรภูมิเดียวกันเต็มไปหมด ทั้งเอชบีโอ, ฮูลู, ดิสนีย์ พลัส, ยูทูบ พรีเมียม, อเมซอน รวมถึงแอปเปิล และเท็นเซ็นต์

“เรืองโรจน์ (กระทิง) พูนผล” กูรูสตาร์ตอัพ และประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “สงครามโลกของวิดีโอสตรีมมิ่ง”

Advertisement

“การจ่ายเงินซื้อบริการคอนเทนต์ของผู้บริโภคทุกวันนี้ ไม่รวมคอนเทนต์เกม จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 เท่าของค่าบริการโทรศัพท์มือถือ และไม่มีทางที่ทุกคนจะจ่าย และจ่ายในทุกคอนเทนต์”

นอกจากนี้ เมื่อดูจากสถิติแล้วยังพบว่าคนไทยใช้เวลากับการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก เฉลี่ย 5 ชั่วโมง 13 นาที รองลงไป คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีการใช้งานราว 4 ชั่วโมง ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 13 นาที

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สมาธิของคนจะสั้นลงจาก 12 วินาทีในปี 2000 เหลือ 8 วินาที ประมาณว่า สั้นกว่าปลาทองที่มีสมาธิ 9 วินาทีเสียอีก และคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอีกแล้ว เพราะสมาธิเหลือแค่ 1.7 วินาที สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการสร้างคอนเทนต์โฆษณาของแบรนด์สินค้าต่างๆ ในขณะที่คนใช้งานบนโมบายวิดีโอเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2016 เป็น 20%”

ในฟากของธุรกิจค้าปลีก ผู้บริหาร KBTG บอกว่า ยังคงอยู่ท่ามกลางพายุ “ดิสรัปต์” โดยหายนะของวงการค้าปลีกยังคงดำเนินต่อไป

“ในปี 2017 เป็นปีที่ห้างสรรพสินค้าในอเมริกาปิดตัวมากที่สุด แต่ทำไม อเมซอน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐถึงซื้อกิจการของห้างสรรพสินค้าโฮลล์ฟู้ด ในราคา 13.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก็เพราะมองว่าธุรกิจ grocery Delivery หรือการส่งของชำจะเติบโตได้ถึง 2 เท่า เพื่อให้ส่งของชำได้จากร้านของอเมซอนทันที”

เซ็กเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในธุรกิจค้าปลีกยังเป็น “ออฟไลน์” ไม่ใช่ “ออนไลน์” แต่จะทำอย่างไรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้คุ้นชินกับ “ออนไลน์” มากยิ่งขึ้น

“อเมซอน” ยังไปต่อด้วยการพัฒนาลำโพงอัจฉริยะที่ผสานกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ผู้บริโภคสั่งของได้เร็วขึ้น และมีแอพพลิเคชั่นแนะนำสินค้าให้ด้วย โดยสินค้าทั้งหมดจะเป็นแบรนด์ของอเมซอนเองด้วย เพราะได้กำไรมากกว่า

“อาลีบาบาก็ใช้โมเดลเดียวกับอเมซอนในการสร้าง นิวรีเทลหรือค้าปลีกรูปแบบใหม่ขึ้นมาผนวกทั้งอีคอมเมิร์ซ, ห้างสรรพสินค้า, การขนส่ง, เพย์เมนต์ เป็นอีโคซิสเต็มส์ โดยบอกว่า ออมนิชาแนลตายไปแล้ว และเรากำลังเข้าสู่ยุคฮาร์โมไนซ์รีเทลที่ทำให้ customer is the channel”

ไม่ใช่แค่นั้น “กระทิง” บอกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอีกสเต็ป คือ การที่ผู้ผลิตสินค้าขายสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง เช่น ดอลลาร์เชฟคลับ ขายใบมีดโกนออนไลน์ให้ลูกค้าจนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ยูนิลิเวอร์ต้องมาซื้อกิจการไป หรือในไทย มีสตาร์ตอัพชื่อ “Pomelo” ขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์ที่เพิ่งมีหน้าร้าน และล่าสุดระดมทุนได้มากกว่าพันล้านบาท

“หัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจแบบ Vertical อีคอมเมิร์ซและ D2C (Direct to consumer) ประสบความสำเร็จ คือการผลิตสินค้าของตนเอง”

และสิ่งที่ผู้ผลิตแบบ D2C ทำคือ มีสินค้าให้เลือกไม่กี่อย่าง แต่ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้าที่ดีเลิศ ซึ่งเกิดจากการใช้วิธีการแบบสตาร์ตอัพ เพราะในทุกวันจะมีข้อมูล มีตัวชี้วัดแบบเรียลไทม์มาวิเคราะห์ยอดขายสินค้าแต่ละตัวได้ทำให้รู้กำไรต่อชิ้น รู้ว่ามีลูกค้าใหม่เท่าไร เป็นต้น จะมีตัวเลขต่างๆ เข้ามาทุกวันเพื่อให้ปรับแผนสร้างการเติบโต

โดมิโนดิสรัปชั่น เกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกับโซเชียลมีเดีย, ค้าปลีกจากอีคอมเมิร์ซ, บริการทางการเงินกับธนาคาร และอื่นๆ ที่จะยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น การปรับเปลี่ยนตนเองได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งขององค์กรของธุรกิจในยุคนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image