บางกอกเกี้ยน : บทเรียนเรียนเรื่องปลา กับรัชกาลที่ 9

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จะว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเรื่องปลาก็ได้ แห่งคณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน ว่าถึงเรื่องพบปลากระโห้ในบ่อพิพิธภัณฑ์คณะประมง พบปลาตัวใหญ่ยักษ์โผล่หัวขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ 3 ตัว อ้าปากพะงาบๆ ดูดน้ำเข้าไปในปาก

แล้วว่าประวัติปลากระโห้กระทั่งถึงเรื่องปลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทำตั้งแต่เรื่องปลาบู่ปลานิล

แล้วว่า ผมเลิกคิดที่จะหาคำอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไรไปแล้ว

คนที่คิดถึงแผ่นดินไทยตลอดเวลา

Advertisement

คนที่ทำให้แผ่นดินไทยดีขึ้นทุกครั้งทุกครา แม้แต่ในเวลาเล่นเรือใบ

คนเช่นนี้อยู่เหนือความเข้าใจของผม จึงมิบังอาจไปสรรหาคำอธิบายใดๆ

ผมมองไปที่ปลากระโห้อีกครั้ง ก่อนบอกลูกศิษย์ให้ไปเอาถุงแพลงตอนมา กรองน้ำ

ในน้ำผมพบโคปีปอด

เมื่อสิ่งแวดล้อมในบ่อสิบไร่เปลี่ยนไป บางครั้งอาจมีแพลงตอนพืชเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

โคปีปอดเป็นแพลงตอนสัตว์ คอยควบคุมปริมาณแพลงตอนพืช

แต่เมื่อแพลงตอนสัตว์มีมากไป ปลากระโห้พวกนี้ก็เป็นผู้ควบคุมอีกที

สมดุลเช่นนี้ ทำให้บ่อสิบไร่คงอยู่ได้ ที่นี่ไม่เคยมีเหตุการณ์น้ำเน่าปลาตาย

ผมไม่ทราบว่าปลากระโห้ทั้งสามตัวมาจากไหน แต่แอบเดาว่า บางตัวอาจเป็นลูกหลานปลาจากสวนจิตรลดา

เพราะกรมประมงก็อยู่ห่างไปเพียงไม่มาก อีกทั้งบ่อนี้อยู่มาเนิ่นนาน

แม้พระองค์ไม่อยู่กับพวกเราแล้ว แต่ปลาของพระองค์ยังคงอยู่ ยังช่วยดูแลระบบนิเวศในแหล่งน้ำไทย ดูแลแม้แต่ในบ่อสิบไร่ สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ประมง ที่เก็บรักษาหลายเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ไว้ในนั้น ในน้ำ บนบก ไม่ว่าที่ใดในแผ่นดินและผืนน้ำของไทย

มองไปรอบตัว ผมทราบแล้ว พระองค์ไม่ทรงประทับอยู่เพียงบนฟ้าให้เราแหงนหน้ามองเมื่อเวลาคิดถึง ผมก้มหน้าดูปลากระโห้สามตัวกำลังกินแพลงตอนอย่างเพลิดเพลิน…

ธรณ์จบเรื่องนี้ด้วยหมายเหตุว่า-เขียนเรื่องนี้หลังตีหนึ่ง เพื่อไม่ให้ไม่ต้องร้องไห้จนตาบวมแล้วคนอื่นสงสัย จะได้ร้องและหลับไปเลย

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (14 มิ.ย. 62)-เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เปิด “ไลน์” อ่านเรื่องนี้หลังจากนั้นไม่นาน อ่านแล้วจัดการพิมพ์ไว้อ่านบนกระดาษอีกหน และอีกหน แล้วคิดว่า เรื่องของ “คนปิดทองหลังพระ” อย่าง “ธรณ์” แม้จะเขียนลงบน “ไลน์” ซึ่งมีใครต่อใครอ่านแล้วไม่น้อย แต่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) มิได้เขียนหนังสือบน “ไลน์” แต่เขียนหนังสือผ่าน “สื่อกระดาษ”-หนังสือพิมพ์ เพียงวันหนึ่งมีผู้อ่านนับแสน

จึงขออนุญาตผ่าน “ใจถึงใจ” นำมาลงตีพิมพ์อีกครั้ง ให้บรรดาน้องหนูทั้งหลายได้มีโอกาสอ่าน

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) จำได้ว่า “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เคยเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปฏิสันถารกับสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเรื่องเกี่ยวกับปลา จำรายละเอียดไม่ได้ว่า เป็นอย่างไร แต่จำได้ตอนหนึ่งว่า

ทั้งสองพระองค์ ทรงรู้เรื่องปลาและการเลี้ยงปลา ถึงขนาดว่า สมเด็จพระจักรพรรดิพระราชทานปลานิลมาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเลี้ยง มีรายละเอียดมากกว่านี้มาก จึงได้ทราบมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เสวยปลานิล มีรับสั่งว่า เราเลี้ยงมาจะกินได้อย่างไร ทำนองนี้

เรื่องปลากับรัชกาลที่ 9 ควรเป็นบทเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้น่าจะดีไม่น้อย ท่านรัฐมนตรีว่าดีไหมเอ่ย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image