สุจิตต์ วงษ์เทศ : อาจารย์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนผ่านยากสุดในโลก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวปาฐกถาหัวข้อ อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 กับภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองในภูมิภาค ในการประชุมวิชาการ อาเซียนพลัส : สันติภาพ ความมั่นคง และความคาดหวังในอนาคต การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์ วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562)

อาจารย์มหาวิทยาลัยถ้าไม่พัฒนาตนเอง หรือเปลี่ยนผ่านยาก บรรดาประเทศอาเซียนรวมถึงไทยก็พัฒนาคนไม่ได้ สรุปจากข่าว ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย มีปาฐกถาในงานของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง [มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2562 หน้า 7] และมีหลายตอนที่ควรตระหนักอย่างยิ่ง เช่น

การศึกษาไทยในขณะนี้ยังขัดกับยุค 4.0 ซึ่งมีความต้องการด้านทักษะ การพัฒนาคนต้องเน้นสหสาขา ส่วนมหาวิทยาลัยของไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ การร่วมมือกันระหว่างคณะวิชาต่างๆ นั้นพูดง่าย แต่เกิดไม่ง่าย จะทำอย่างไรให้เกิดปฏิสัมพันธ์

ยุค 4.0 ห้องเรียนต้องเปลี่ยน อาจารย์ต้องเป็นแค่โค้ชคอยแนะนำการแก้ปัญหา เดี๋ยวนี้การค้นข้อมูลจากกูเกิลง่ายมาก

คนเป็นอาจารย์ต้องรู้ศาสตร์อื่นๆ รู้ถึงภาคปฏิบัติมากขึ้น และให้นักศึกษาทำงานกับเครื่องมือจริง ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมแล้วเรียนรู้จากภาคเอกชน จึงจะได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ มีประสบการณ์ตรงและจริง

Advertisement

ก่อนจะถึงจุดนั้น อาเซียนต้องได้อาจารย์พันธุ์ใหม่ด้วย “แต่อาจารย์คือคนที่เปลี่ยนผ่านยากที่สุดในโลก”

“วันดีคืนดีมีคนมาบอกว่าสิ่งที่สอนอยู่นั้นล้าหลัง ก็โกรธและไม่ยอมรับ ถ้าเป็นเช่นนี้ อาเซียนก็พัฒนาคนไม่ได้” ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สรุปตอนท้าย

นอกจากโกรธและไม่ยอมรับความจริงว่าตนล้าหลังแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยบางแห่งยังห้ามนักศึกษาอ่านงานค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นวิชาการสากล เพียงเพราะเป็นหนังสือของคนมาบอกว่าตนล้าหลังซึ่งอยู่ต่างมหาวิทยาลัย

Advertisement

เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยไทยและอาจารย์เหล่านั้นก็พัฒนาตนเองไม่ได้ แถมถอยหลังตกคลองน้ำเน่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image