สุจิตต์ วงษ์เทศ : ทุ่งหลวง ‘แก้มลิง’ อยุธยา แหล่งรับน้ำถูกทำลายย่อยยับ

ทุ่งหลวง "แก้มลิง" แหล่งรับน้ำมหึมาถูกทำลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยุธยา [ภาพเส้นทางที่แยกจากถนนสายเอเชีย มีกลุ่มอาคารโรงงานอยู่ลิบๆ ด้านซ้าย (ภาพจาก http://www.google.com/maps/)]

“อยุธยา เมืองมรดกโลก” ด้านทิศตะวันออก มีทางรถไฟและถนนสายเอเชีย ซึ่งนับเป็นฝั่งซ้าย หรือฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ คนแต่ก่อนเคยเรียกทุ่งหลวง มีคุณค่าดังนี้

1.แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ พืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพิเศษ มีรากยาวเป็นวา [2เมตร] เพื่อหนีพ้นน้ำท่วมยอดข้าว เรียก “ข้าวหนีน้ำ”

2.แหล่งรับน้ำมหาศาล [“แก้มลิง”] ในฤดูน้ำหลาก มีลำคลองหนองบึงเต็มไปหมด เพื่อบรรเทาความรุนแรงและลดน้ำท่วมบ้านเมือง เฉพาะลำคลองหลายสายเหมือนใยแมงมุม เคยเชื่อมโยงเป็นเส้นทางคมนาคมกว้างขวาง

ทุ่งหลวง แปลว่า ทุ่งกว้างใหญ่ราบเรียบ [เหมือนแผ่นกระดาน] สุดลูกหูลูกตา

Advertisement

หมายถึงพื้นที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝั่งซ้าย [หรือฝั่งตะวันออก] ตั้งแต่ฟากทิศใต้และตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ไปจนฝั่งเหนือแม่น้ำบางปะกง เขตติดต่อของ จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.สระบุรี และ จ.นครนายก

ด้วยความสำคัญของทุ่งหลวง ทำให้พื้นที่ทางตะวันออกของอยุธยาสมัยก่อนถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ใช้ทำเกษตรกรรม

พื้นที่สีเขียวของอยุธยาถูกรัฐบาลต่อมายกเลิก ราว 32 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ.2530

บริเวณที่สงวนไว้สำหรับการทำเกษตรกรรม ยกให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แล้วจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม” หลายแห่ง ในเขตหลายอำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อ.เมืองฯ, อ.อุทัย, อ.วังน้อย, อ.บางปะอิน

ส่งผลให้มีชุมชนขนาดใหญ่กระจายเต็มทุ่งหลวงรองรับธุรกิจการค้าและผู้ใช้แรงงาน สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเสียหายใหญ่หลวงจนทุกวันนี้ยังแก้ไม่ได้

พ.ศ.2554 น้ำท่วมใหญ่เพราะธรรมชาติแปรปรวน บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมนับร้อยถูกน้ำท่วมเสียหายมหาศาล โรงงานบางส่วนย้ายหนีไปที่อื่น แต่ส่วนมากยังอยู่โดยลงทุนเพิ่มเพื่อป้องกันน้ำหลากท่วมใหม่ซ้ำอีก

อำนาจรัฐหวังรวยเฉพาะหน้าจากโรงงานอุตสาหกรรมทุนข้ามชาติ โดยยอมทำลายตนเอง ดังนี้

[1.] ทำลายความร่มเย็นธรรมชาติที่มีประวัติศาสตร์แน่นนับคับคั่ง [2.] ทำลาย “แก้มลิง” พื้นที่รับน้ำธรรมชาติขนาดมหึมา [3.] ทำลายทรัพยากรท่องเที่ยว มีทั้ง “คุณค่า” อันประมาณมิได้ และ “มูลค่า” คือรายได้จากการท่องเที่ยวไม่รู้จบ

สุนทรภู่เคยเดินทางนั่งเรือผ่านทุ่งหลวงอันทรงคุณค่า ราว 180 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2381 พรรณนาไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้า [เป็นวัดในลายแทง อยู่เขาพนมยงค์ หินกอง อ. หนองแค จ. สระบุรี]

ทุ่งหลวง อยุธยา ไม่มีวันเหมือนเดิม แต่น่าจะมีหนทางเยียวยาส่วนที่รอดเหลือจากการทำลายให้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้บ้าง

แต่อำนาจหวังรวยเฉพาะหน้า มีพลังเหนือกว่าสิ่งอื่นใด “คุณค่า” อะไรๆ ไม่มีความหมายเมื่อทำลายแล้วได้ “มูลค่า” ส่วนตนจนเกินประมาณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image