คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Ladies First ‘ดีปิก้า คูมารี’ นักกีฬายิงธนูหญิงผู้ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

ภาพประกอบ Youtube Video/Netflix

การอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมชนบท เติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ ที่สืบต่อกันมาว่า หากมีลูกสาวต้องเลี้ยงดูให้โตมาในขีดวงจำกัดได้รับการศึกษาน้อย อยู่แต่บ้าน ทำความสะอาดบ้าน หัดทำอาหาร เพื่อโตขึ้นไปแต่งงานดูแลครอบครัว เลี้ยงลูก ภาระพ่อแม่จบลง ผ่องถ่ายชีวิตลูกสาวไปสู่การตัดสินใจของสามีแทน ในบรรยากาศเช่นนั้นไม่มีใครนึกภาพออกว่าจะมีผู้หญิงคนหนึ่ง แหกความเชื่อออกไปเล่นกีฬาจนได้ชื่อว่าเป็น “นักกีฬา” ภายใต้ค่านิยมของคนในหมู่บ้านที่ยิ่งเชื่อกันว่า เป็นผู้หญิงไม่สมควรเล่นกีฬาให้ดูโลดโผน

“บ่อยครั้งฉันก็อยากจะตอบโต้กลับไป แต่ฉันมาคิดดูว่าถ้าฉันโต้ตอบด้วยคำพูด คนอาจจะลืมมันไป แต่ถ้าฉันโต้ตอบด้วยการยิงธนูของฉัน พวกเขาจะไม่มีวันลืมลง” ดีปิก้า คูมารี นักกีฬายิงธนูหญิงกล่าวไว้ในภาพยนตร์สารคดี “Ladies First”

หนังสารคดีเปิดเรื่องด้วยภาพการแข่งขันยิงธนูในห้วงกีฬาโอลิมปิกที่กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 เป็นจังหวะการแข่งขันหนีการตกรอบ 16 คนสุดท้าย ระหว่างนักกีฬาหญิงจากอินเดีย และไต้หวัน

ถึงตรงนี้คนดูจึงได้รู้จัก นักกีฬายิงธนูหญิงมือวางอันดับหนึ่งของอินเดีย “ดีปิก้า คูมารี” ผู้เคยคว้าแชมป์โลก และสร้างสถิติระดับโลกจนเป็นประวัติศาสตร์ ในฐานะนักกีฬายิงธนูหญิงดาวรุ่งของโลกที่มีอายุน้อย “ดีปิก้า” คว้าแชมป์ระดับโลกตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงอายุ 22 ปี ยังเหลือเพียงเธอยังไม่เคยชนะ “เหรียญทองโอลิมปิก” เลยสักครั้ง

Advertisement

โอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโรคือ การพยายามครั้งที่สองของเธอ หลังต้องพ่ายแพ้ชวดเหรียญทองในโอลิมปิกที่ลอนดอน ซึ่งขณะนั้นเธออายุ 18 ปี และฟอร์มการเล่นกำลังร้อนแรง

เฉกเช่นนักกีฬาระดับโลกหลายคนที่เป็นตำนานในเส้นทางอาชีพ แต่มักจะมีอาถรรพ์กับการแข่งขันโอลิมปิก ดีปิก้ายังไม่สามารถคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกทั้งสองครั้งได้ แต่ทุกวันนี้เธอยังคงฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเดินหน้าสู่ความพยายามครั้งที่สามในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2020

Advertisement

กระนั้นเรื่องราวของนักกีฬายิงธนูหญิงมือหนึ่งของอินเดียคนนี้ ก็มีมากกว่าการ “สู้ไม่ถอย” ใน “Ladies First” พาไปรู้จักชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตของ “ดีปีกา คูมารี” ที่มาไกลจากจุดเริ่มต้นที่หมู่บ้านราตู ในรัฐฌารขัณฑ์ รัฐที่จนที่สุดเป็นอันดับสองของอินเดีย พ่อเป็นคนขับสามล้อ แม่ทำงานในโรงพยาบาลเล็กๆ ของหมู่บ้าน

ความยากจนถูกสะท้อนผ่านบ้านที่ก่อสร้างง่ายๆ ใช้วัสดุจากดินโคลน เวลาฝนตกก็ต้องเอาหม้อ กระทะมารองน้ำที่รั่วลงมา แม้มีที่นอน แต่ไม่มีห้องน้ำ ต้องออกไปอาบน้ำที่แม่น้ำใกล้เคียง

ความที่เป็นลูกสาวคนโต ชีวิตจึงไม่มีอะไรมากนอกจากช่วยเหลืองานบ้านเป็นหลัก

“ดีปีก้า” มิอาจปล่อยให้ตัวเองเป็นหญิงสาวที่โตมาเพื่อจะถูกพ่อแม่จับแต่งงาน ทั้งสภาพครอบครัวที่ยากจน และชีวิตที่ไร้คุณค่าความหมาย ทำให้เธอหาหนทางออกจากหมู่บ้านได้สำเร็จ เมื่อมี “หนทาง” เดียว ปรากฏขึ้นมาก็เลือกกระโจนเข้าสู่เส้นทางที่ตัวเองก็ยังไม่แน่ใจนัก คือ การเข้าฝึกเรียนเป็นนักกีฬายิงธนูที่โรงเรียนซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 130 กิโลเมตร เด็กหญิงอายุ 12 ปี เพิ่งเคยได้ยินเกี่ยวกับกีฬายิงธนูเป็นครั้งแรกและอยากไปเรียนโรงเรียนไกลบ้านแห่งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญที่จะได้เรียน “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย โรงเรียนมีทั้งอาหารและเสื้อผ้าให้

เมื่อความวิริยะอุตสาหะและพรสวรรค์มาบรรจบกัน การเรียนรู้ได้ไว ดีปิก้าใช้เวลา 1 ปี พาตัวเองผ่านทดสอบยกระดับเข้าไปเรียนที่โรงเรียนสอนยิงธนู “ตาตา ซัมเศทปุระ” ศูนย์ฝึกยิงธนูชั้นนำของอินเดีย

เรื่องราวเหมือนละครเด็กสาวจากชนบทผู้ขาดความมั่นใจในตัวเองเดินทางเข้าสู่โรงเรียนชั้นนำ ที่นี่ “ดีปิก้า” นอกจากฝึกฝนกีฬายิงธนูแล้ว เธอยังถูกสอนเรื่องการใช้ชีวิต ต้องหัดกินข้าวจากช้อนแทนการใช้มือ และเรียนรู้วิธีแต่งตัวให้เหมะสม

ขณะที่ในเรื่องกีฬาแล้ว ดีปิก้า คว้า “แชมป์โลกเยาวชน” ได้ตั้งแต่ปี 2009 จากนั้นก็ชนะเป็นแชมป์กีฬาเครือจักรภพ และประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2010-2016 เป็นชัยชนะที่สื่อในอินเดียยกย่องว่าเป็น “ที่หนึ่ง” ได้ โดยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนชีวิตให้มาถึงจุดนี้เลย

ชื่อเสียง เงินทอง และความนิยมไล่หลังตามเป็นเงา เธอพาครอบครัวพ้นสถานภาพความยากจนมาได้ แต่ในอีกด้านการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย มีแฟนคลับและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน บวกเข้ากับทักษะความสามารถในฐานะมือหนึ่งของโลกทำให้เธอมั่นใจขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็อาจเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” ในเวลาต่อมาประสาชีวิตมนุษย์ปุถุชน

ความกระหายในเหรียญทองโอลิมปิกของดีปิกานั้นเต็มล้น และเมื่อหวังสูงจนผิดหวังก็ต้องเจ็บปวดมากตามมา นี่คือสิ่งที่ท้าทายพลังและจิตใจอันแข็งแกร่งของนักกีฬา

“ดีปิก้า” พ่ายแพ้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2 ครั้งติดต่อกัน…

หนังสารคดีตามติดชีวิต และพูดคุยกับเธอตั้งแต่ช่วงฝึกซ้อมหนักก่อนวันแข่งขันโอลิมปิก จนถึงเมื่อความพ่ายแพ้นั้นล่วงเลยผ่านไปแล้ว หนึ่งในประเด็นที่สะท้อนคือ ความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังจากความพ่ายแพ้ของนักกีฬานั้นบางคนก็ฟื้นและลุกขึ้นได้เร็ว บางคนก็รู้สึกพ่ายแพ้และสูญเสีย

สำหรับดีปิก้า การแพ้โอลิมปิกเหมือนถูกเหยียบเบรกความมั่นใจของตัวเอง

สารคดีมองความเชื่อมโยงระหว่างการเป็นนักกีฬาหญิงในสังคมที่ไม่เกื้อหนุนและสนับสนุนผู้หญิงในการเล่นกีฬา ยิ่งทำให้นักกีฬาหญิงเหล่านี้รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจได้ตลอดเวลา แม้จะมีทักษะที่เก่งกาจก็ตาม

“ในประเทศของเราขนาดคนที่มีการศึกษาดียังเชื่อว่าเด็กผู้หญิงเล่นกีฬาไม่ได้ เป็นความคิดที่ล้าหลัง คนมักพูดว่า เลดี้เฟิร์สต์ เชิญสุภาพสตรีก่อน แต่เวลาผู้หญิงอยากก้าวหน้าในชีวิตไม่ว่าจะด้านการศึกษา หรือกีฬา ทำไมไม่พูดเลดี้ เฟิร์สต์บ้าง” ดีปิก้าพูดไว้ในสารคดี

แม้จะไม่ได้รับการส่งเสริมที่ดีพอจากภาครัฐทำให้นักกีฬาหญิงในอินเดียส่วนมากไปได้ไม่ไกลมากนัก…

แต่ดูเหมือนดีปิก้า คือกรณีพิเศษที่พยายามทำลายขีดจำกัดนั้น เราได้เห็นความทะเยอทะยานที่มีอยู่เต็มเปี่ยม

“กีฬาสอนบทเรียนให้กับฉัน ทันทีที่คุณยอมแพ้ คุณก็จะแพ้ แต่ตราบใดที่คุณยังสู้ต่อ…ยังรู้สึกมั่นใจได้ว่าคุณจะเป็นผู้ชนะได้”

ฤดูกาลแห่งโอลิมปิก 2020 กำลังจะมาถึงแล้ว… “ดีปิก้า” ยังคงไม่ยอมแพ้ และพยายามอย่างหนักกับโอลิมปิกครั้งที่สามในชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image