คอลัมน์ โลกสองวัย : ด้วย ‘ความผูกพัน’ ขอส่งต่อไปยัง ‘มาลา แย้มเอิบสิน’

วันนี้ครอบครัว “รัตตกุล” คงส่งความสุขปีใหม่และเรื่องราวที่บันทึกไว้หลังบัตรอวยพรความสุข “ขอส่งความสุข ความผูกพัน ปี 2563” ไปยังผู้ที่รัก ผู้ที่นับถือ ไปจำนวนมากแล้ว ที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) นำขึ้นมาเสนอ ณ พื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง เพื่อให้น้องหนูและผู้อ่านได้ทราบถึง “การรู้จักและมีความผูกพัน” ต่อกัน คือการส่งเรื่องราวของตัวเองให้ผู้รู้จักและผู้พันได้ทราบถึงว่ารอบปีที่ผ่านมา “เรา” มีเรื่องราวอะไรเล่าสู่กันฟังบ้าง

เมื่อ “พวกเรา” ทำงานที่เดิมกันอย่างมีความสุข ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ล็อกซ์เลย์ CIMB และแม็คโคร ตามลำดับ เลยให้รางวัลกับตัวเอง โดยการยกขบวนไปเที่ยวญี่ปุ่นกันทั้งบ้านเมื่อปลายปีนี้เอง

ปี 2562 ของครอบครัวเราถือว่าเป็นปีที่มีความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้น ความน้อยเนื้อต่ำใจของครอบครัวของเราที่มีความรู้สึกกันมานานได้อันตรธานหายไป

พวกเราขอกราบขอบพระคุณท่านที่อ่านการ์ดนี้ เพราะท่านคือคนที่อยู่เคียงข้างร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับครอบครัวเราเสมอมา ทั้งวันที่ดี และวันที่แย่ คอยส่งและแรงใจมาให้พวกเราอย่างไม่เคยขาด เรารับรู้ถึงความอบอุ่น และความปรารถนาดีของท่านเสมอ

Advertisement

ครอบครัวของพวกเราขอภาวนาให้ทุกท่าน มีหัวใจที่พองโตและเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดบวก พร้อมทั้งยิ้มกว้างรับกับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ขอให้ท่านมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะในปีหน้าตลอดไปค่ะ

ด้านหน้าของการ์ดอวยพร เป็นภาพของครอบครัว “รัตตกุล” มีลายมือชื่อ “พิจิตต รัตตกุล” และรายชื่อตั้งแต่ “พิชัย-ดร.พิจิตต-ชารียา รัตตกุล-ตุ๋ม-ตั๋ม-เจ-เปีย เจต้า-คลาย” เรียกว่าครบถ้วนของครอบครัว “ดร.พิจิตต-ชารียา รัตตกุล”

นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของ “ความรัก ความผูกพัน” ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน เพียงการ์ดส่งความสุขถึงกันสักใบ เขียนถึงกันจากความรู้สึกที่มีต่อกัน จะระบายความรู้สึกนั้นบ้างเพื่อให้ผู้ที่เราส่ง “ความคิดถึง ความผูกพัน” ได้รับรู้ว่ารอบปีหนึ่ง แม้ไม่ได้พบเห็นหน้าตากันสักครั้ง แต่ในรอบปีหนึ่งได้อ่านความรู้สึกที่ “เรา” มีต่อกัน ด้วยตัวหนังสือ ด้วยเสียงโทรศัพท์ที่ทุกวันนี้ไม่ยากเย็นอีกต่อไป เพียงยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแล้วกดรหัสถึง “ใครคนนั้น” ในรอบปีหนึ่ง นานไปบ้าง แต่ดีกว่าไม่ส่งเสียงถึงกันเลย

Advertisement

แล้วฟังเสียงตอบมาซิว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกยินดีปรีดาอย่างไร

ทุกวันนี้ พ่อแม่ลูก พี่น้อง คุยกันด้วยโทรศัพท์มือถือมากกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งเมื่อหลายคนไม่ได้พบหน้าค่าตากันบ้าง เมื่อรู้ว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือคนนั้นหมายเลขอะไร แล้วลอง “กด” ไปหา เชื่อว่า ใครคนนั้นจะยินดียิ่งกว่าอะไรอื่น

วันก่อน ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ได้รับการร้องขอจากเพื่อนคนหนึ่งว่า อ่านหนังสือเล่มเกือบจะสุดท้ายที่ “มาลา แย้มเอิบสิน” แปลจากงานเขียนของ หลุยส์ ลามูร์ ที่ผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” เมื่อ 25 ปีก่อนติดตามมากที่สุด “ลูกผู้ชาย”

เพื่อนคนนั้น “เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์” ซึ่งคำนำหนังสือ “ลูกผู้ชาย” เสถียร จันทิมาธร เขียนไว้ว่า

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ นำต้นฉบับแปลเรื่อง “ลูกผู้ชาย” มาทิ้งไว้บนโต๊ะทำงานของผมตั้งแต่ มาลา แย้มเอิบสิน ยังแข็งแรง ขึ้นล่องระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพฯ คล่องแคล่วราวกระทิงโทน แต่จากนั้นอีกไม่นานเขาก็อำลาจากพวกเราไป…

ทิ้งเอาไว้แต่ต้นฉบับเรื่อง “ลูกผู้ชาย” อันแปลจากงานของ หลุยส์ ลามูร์

หลังจากนั้น เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ไม่ได้พบใครที่นามสกุล “แย้มเอิบสิน” อีกเลย ไม่ว่า “คุณพี่ชูศรี แย้มเอิบสิน” หรือลูกสาวของคุณพี่มาลา

หากคุณพี่ชูศรี หรือลูกสาว หรือใครที่รู้จักกับคุณพี่ทั้งสองขอให้ติดต่อไปที่ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ หนังสือพิมพ์มติชน ด้วยมีผู้ที่ต้องการติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์งานแปลมา จะด้วย “จดหมาย” หรือโทรศัพท์ก็ได้

หวังว่า การสื่อสารระหว่างผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ผ่าน “ภรรยาหรือลูกสาว” ที่ยังอยู่เป็นไปด้วยดีนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image