คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : ย้อนรอยทัวร์คอนเสิร์ตปี 1975 กับ ‘บ๊อบ ดีแลน’ Rolling Thunder Revue: A Bob Dylan Story by Martin Scorsese

ภาพประกอบจาก Youtube Video/Netflix

“ผมจำอะไรเกี่ยวกับทัวร์คอนเสิร์ตโรลลิ่งธันเดอร์ไม่ได้เลย…คือมันเกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วจนเหมือนผมยังไม่เกิด” บ๊อบ ดีแลน ในวัย 77 ปี ให้สัมภาษณ์แบบตลกหน้าตายไว้กับ “มาร์ติน สกอร์เซซี”

ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครู เมื่อปี 2018 เมื่อเขาต้องนึกย้อนไปถึงหนึ่งในทัวร์คอนเสิร์ตที่เอาเข้าจริง “ช่างน่าจดจำ” ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ราวกับว่าความทรงจำนั้นก็ปลิวไปกับสายลม

ทว่าภาพยนตร์กึ่งสารคดี “Rolling Thunder Revue: A Bob Dylan Story by Martin Scorsese” หนังปี 2019 ได้รวบรวมฟุตเทจเก่าที่บันทึกช่วงเวลา 3 เดือนของการทัวร์คอนเสิร์ต Rolling Thunder Revue ทั่วสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม ในปี 1975 มาถ่ายทอดผ่านมุมมองและสายตาของ “สกอร์เซซี”

“ผมพยายามจะพูดเข้าไปถึงแก่นของมัน ถึงเรื่องที่ว่าไอ้ทัวร์โรลลิ่งธันเดอร์มันเกี่ยวกับอะไร แต่ผมก็ไม่รู้เลย เพราะจริงๆ มันไม่มีความหมาย มันก็แค่เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน นั่นแหละความจริง” บ๊อบ ดีแลน พูดราวกับประชดประชันตัวเองในฐานะราชาเพลงโฟล์ก ผู้เขียนเพลงดั่งบทกวีพ่วงด้วยนักดนตรีนักเขียนเพลงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

Advertisement
ภาพประกอบจาก Youtube Video/Netflix

ไม่มีคำโม้โอ้อวด ไม่มีความทรงจำให้พูดถึงมากนัก ไร้ซึ่งการแสดงถึงอารมณ์อันอิ่มเอมในอดีตที่โชติช่วง…เป็นภาพของ “บ๊อบ ดีแลน” ผู้ให้ความรุ่งโรจน์ในอดีต ก็คืออดีต เป็นการเปิดเรื่องอย่างยั่วล้อตลกร้ายสไตล์ “มาร์ติน สกอร์เซซี”

แต่เมื่อฉากในหนังกึ่งสารคดีเรื่องนี้ฉายให้เห็น

“บ๊อบ ดีแลน” ในวัยหนุ่มเขียนขอบตาเข้ม ทาหน้าสีขาว สวมหมวกปีกใบกว้างประดับด้วยดอกไม้ กำลังเล่นกีตาร์ขับร้องเพลง “มิสเตอร์แทมโบรีนแมน” อันโด่งดัง เราก็มิอาจละสายตาได้ตลอด 2 ชั่วโมงเศษจนภาพยนตร์จบลง

Advertisement

“บ๊อบ ดีแลน” ในวัยชรา บอกต่อหน้ากล้องในหนังเรื่องนี้จนควรจะเป็นประโยคอมตะไว้ว่า “ชีวิตไม่ใช่เรื่องของการค้นหาตัวเอง หรือค้นหาอะไรทั้งนั้น ชีวิตเป็นเรื่องของการสร้างตัวเอง และก็สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ”

คนดูอย่างเรามิอาจแน่ใจนักว่านั่นคือ ข้อความที่ “บ๊อบ ดีแลน” ตั้งใจจะสื่อออกมาจริงๆ หรือเพียงแสร้งประดิษฐ์ประโยคคมคายแห่งชีวิตผ่านอาการหน้าตาย เพราะหนังกึ่งสารคดีเรื่องนี้ “สกอร์เซซี” ตั้งใจใช้วิธีเล่าให้ปะปนทั้งความจริงและความลวงกลมกลืนกันไป เพื่อท้าทาย “ยุคแห่งข่าวปลอม” และเสียดสีผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า พูดอะไรไม่รับผิดชอบ หรือพูดโกหกหน้าตายได้ผ่านสื่อ และโซเชียลมีเดียแบบไม่แคร์โลก

แต่สิ่งที่เป็นเรื่องแน่แท้ของหนังกึ่งสารคดีเรื่องนี้คือ การตามย้อนรอยไปดูจุดตั้งต้น และ “ขบวนการคอนเสิร์ต” ที่รวมชุมชนคนดนตรี ผองเพื่อน และกวี ที่ร่วมออกทัวร์ไปกับบ๊อบ ดีแลน ในยุคที่ “แพตตี้ สมิธ” ยังละอ่อนในวงการดนตรี แต่ร้องเพลงพร้อมอ่านบทกวีได้สุดพังก์ “โจนี่ มิตเชล” ผันตัวจากจิตรกรมาเป็นนักร้องนักเขียนเพลง “อัลเลน กินสเบิร์ก” กวีร่วมสมัย ผู้ขึ้นเวทีอ่านบทกวีสังคม-การเมืองที่ผสมด้วยถ้อยคำธรรมดาที่ทั้งงดงามและหยาบคาย นอกจากนี้ยังมี “โจน เบเอส” ศิลปินหญิงเพื่อชีวิต และ “สการ์เล็ต ริเวียร่า” นักไวโอลินสาวผู้มีคาแร็กเตอร์พิศวงร่วมทัวร์คอนเสิร์ตไปด้วยกัน

ทัวร์คอนเสิร์ต “Rolling Thunder Revue” จึงเป็นภาพของเพื่อนฝูงที่มาเล่นดนตรีรอบกองไฟกันทั้งคืน มาสนุก นั่งอ่านบทกวี และมีปฏิสัมพันธ์กันโดยใช้ดนตรีเชื่อมโยง ด้วยจุดมุ่งหมายของคอนเสิร์ตนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ “บ๊อบ ดีแลน” ยังโด่งดัง แต่เขาเลือกทัวร์คอนเสิร์ตตามเมืองเล็กๆ จัดในหอประชุมขนาดความจุหลักพันต้นๆ เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับคนฟัง และได้สื่อสารกับชุมชนที่เขาไปเยี่ยมเยือน ไม่ว่าจะเป็นการไปร้องเพลงในชุมชนผู้มีเชื้อสายอินเดียนแดง กระทั่งช่วงทัวร์เขาแต่งเพลงใหม่ เพลง “Hurricane” เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้นักมวยผิวดำที่ตกเป็นแพะรับบาป ซึ่ง “บ๊อบ ดีแลน” บอกไว้ในเวลานั้นว่า คอนเสิร์ตนี้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของเขาที่สุด

ไม่ว่าสิ่งที่ “บ๊อบ ดีแลน” พูดไว้ต้นเรื่องว่าจำอะไรจากทัวร์คอนเสิร์ตนี้ไม่ได้เลยจะเป็นมุขขำขันหรือเรื่องจริง คนดูอย่างเรากลับเห็นแรงปรารถนาและความตั้งใจอย่างมากของเขาในห้วงวัยยุค 70 ในฉากที่ร้องเพลงเพื่อชีวิตเรียกหาความยุติธรรมอย่างเพลง “The Lonesome Death of Hattie Carroll” นั้น เป็นเรื่องจริงที่ทรงพลังมาก

ความดีงามของหนังเรื่องนี้คือ “สกอร์เซซี”

ใจเย็นพอที่จะให้หนังดำเนินเรื่องโดยปล่อยฟุตเทจแต่ละเพลงแบบจัดเต็มเพลงแล้วเพลงเล่าเพื่อให้เราได้สัมผัสถึงการร้องเพลงดั่งบทกวีที่เกรี้ยวกราดของ “บ๊อบ ดีแลน” สลับเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องและใกล้ชิดในคอนเสิร์ต ซึ่งความจริงความลวงจะถูกแต่งแต้มในช่วงบทสัมภาษณ์นี่เอง มีหลายตัวละครที่ออกมาแสดงเป็นตัวเองด้วยบทพูดปลอมๆ อาทิ การให้นักแสดงสาวใหญ่ฮอลลีวู้ด “ชารอน สโตน” มาเล่าเรื่องเป็นตุเป็นตะว่าได้ร่วมทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้กับบ๊อบ ดีแลน ชนิดคนดูแทบหลงเชื่อ ซึ่ง “สกอร์เซซี”

ไม่ได้ทิ้งร่องรอยให้คนดูรู้ได้ว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม แต่จงใจเล่าให้เป็นเรื่องจริงผสมน้ำยากันให้สุดไปข้างหนึ่ง หรือฉากที่ “บ๊อบ ดีแลน” พูดว่า ไอเดียทาหน้าสีขาวขึ้นคอนเสิร์ตได้มาจากที่เขาไปดูคอนเสิร์ตวงคิส Kiss ซึ่งพูดง่ายๆ ว่า “อำ” คนดู เพราะข้อเท็จจริงเขาได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฝรั่งเศสปี 1945 เรื่อง Children of Paradise

ภาพยนตร์ “Rolling Thunder Revue: A Bob Dylan Story by Martin Scorsese” คือการจับคู่ของแท้ระหว่าง “บ๊อบ ดีแลน” กับ “มาร์ติน สกอร์เซซี” ที่ร่วมกันให้บทเรียนว่า การโกหกนั้นง่ายมาก โดยเฉพาะในห้วงที่ผู้ชมต้องการจะเชื่อคุณ

หนังเรื่องนี้จึงบอกเราว่าในเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง จึงมีได้ทั้งความลวงในความจริง และความจริงในความ

ลวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image