คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ธรรมะหลวงปู่

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก 'มูลนิธิสื่อธรรมหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช'

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นพระนักปฏิบัติ

ได้ติดตามฟังเทศน์ทาง You tube มาระยะหนึ่ง ทราบว่าหลวงพ่อร่ำเรียนวิชาจากพระอาจารย์หลายรูป

แม้จะเกิดไม่ทัน หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แต่หลวงพ่อปราโมทย์ก็มีโอกาสศึกษาจากศิษย์หลวงปู่มั่น

มีโอกาสได้เรียนวิชาจากหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น

Advertisement

วันก่อนมีข่าวว่าไทยเสนอชื่อหลวงปู่มั่นให้ยูเนสโกพิจารณาประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก

วันต่อมาหลวงพ่อปราโมทย์เทศน์ถึงคำสอนของหลวงปู่มั่น

หลวงพ่อปราโมทย์นำคำสอนที่ค้นพบจาก Google มาอ่านให้ฟัง

เป็นการอ่านสลับกับการอธิบายธรรม

ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ฟัง เพราะปกติแล้วหลายคำสอนของหลวงปู่ ฟังแล้วไม่เข้าใจ

เมื่อมีผู้รู้มาอธิบายให้เข้าใจก็ยินดี

และเมื่อได้ฟังหลวงพ่ออธิบายธรรมจากคำสอนของหลวงปู่มั่นแล้วพอมองเห็นทิศทางปฏิบัติ

ความยินดียิ่งเพิ่มขึ้น

หลวงพ่อปราโมทย์ยกตัวอย่างคำสอนของหลวงปู่มั่นให้ฟังหลายคำสอน

อาทิ คำสอนที่ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน

“สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรนำมาผูกพัน เพราะสิ่งนั้นได้ล่วงไปแล้ว จะนำกลับมาสู่ปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้

ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายต่อสิ่งที่ล่วงไปแล้ว จะเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว ไม่สมหวังตลอดไป

“อนาคต” ที่ยังมาไม่ถึง เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้อง

“อดีต” ปล่อยไว้เป็นอดีต อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน

“ปัจจุบัน” เท่านั้นที่จะสำเร็จได้ เพราะอยู่ในความสามารถที่ทำได้ ไม่สุดวิสัย

คำสอนนี้ฟังแล้วเข้าใจได้

คำสอนต่อไปเป็นเรื่องการฝึกสมาธิ ที่ไม่ให้ติดยึดติดความสงบ

“การฝึกสมาธิ อย่ามุ่งความสงบอย่างเดียว จะเป็นมิจฉาสมาธิ ต้องพิจารณาทุกข์ถึงจะพ้นทุกข์

ระวังอย่ามุ่งแต่สงบ อย่าให้จิตไปติดเฉย ถ้าจิตติดเฉยอย่างเดียว จะเป็นมิจฉาสมาธิ”

หลวงพ่อปราโมทย์ขยายความว่า สมาธิที่ดีคือการเจริญปัญญา

การเจริญปัญญาคือการรู้ทุกข์

ทุกข์ในที่นี้คือ รูป นาม กาย ใจ

หรือ ขันธ์ทั้งห้า อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ขันธ์ทั้งห้านี่แหละคือตัวทุกข์

การนั่งสมาธิต้องพิจารณาทุกข์จึงจะพ้นทุกข์

นอกจากนี้ การนั่งสมาธิและการพิจารณาทุกข์นั้น ให้พิจารณาไม่พ้นกาย

อย่าเอาจิตออกนอก

“อย่าให้จิตออกนอกกาย ให้พิจารณาอริยาบททั้งสี่ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน

การพิจารณาเมื่อเห็นสิ่งหนึ่งชัดเจนแล้ว สิ่งอื่นจะปรากฏชัดด้วย

หลวงพ่อปราโมทย์ขยายความคำสอนหลวงปู่มั่นในเรื่องดังกล่าวว่า นี่คือ การพิจารณา “กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม”

การนั่งสมาธิพิจารณาลมหายใจที่มีสูดเข้าและปล่อยออก

มีเกิด มีดำรงอยู่ และดับไป

นี่เป็นหนึ่งในการพิจารณากายในกาย

หากพิจารณาจนทะลุแล้ว จะเข้าใจทั้งหมด

หลวงปู่มั่นสอนว่า “การพิจารณานั้น อย่าให้จิตหนีออกนอกกาย จะชัดเจนหรือไม่อย่าท้อถอย เพ่งพิจารณาอยู่ที่นี่แหละ พิจารณาเป็นอสุภะก็ได้ เป็นธาตุก็ได้ เป็นขันธุ์ก็ได้

พิจารณาที่ว่านี้มีเป้าหมายให้ได้เห็นกฎไตรลักษณ์

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พิจารณาให้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เมื่อพิจารณาแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้วจะพบกับความสำเร็จ

การพิจารณาเช่นนี้สามารถพิจารณาได้กับทุกสิ่ง

สามารถพิจารณาได้เสมอๆ ตลอดเวลา

หากใครต้องการสำเร็จถึงขั้นนิพพาน หลวงปู่มั่นมีคำแนะนำไว้ให้

นั่นคือ ต้องรู้ใจตน มือได้ใจแล้วคือได้ธรรม

รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล

ถึงใจแล้วคือถึงพระนิพพาน

หลวงพ่อปราโมทย์ขยายความคำว่า “ถึงใจ” คือ การสลัดทิ้งตัวจิตผู้รู้ กลายเป็นพุทธภาวะ

คำ คำนี้หลวงตามหาบัวเรียกว่า “ธรรมธาตุ” หลวงปู่ดุลย์เรียกว่า “จิตหนึ่ง” ท่านพุทธทาสเรียกว่า “จิตเดิมแท้” หลวงปู่บุดดาเรียกว่า “ใจเดียว” หลวงปู่เทศน์เรียกว่า “ใจ”

แต่ละคำมีความหมายเดียวกัน

นั่นคือ การสลัดทิ้งตัวจิตผู้รู้

ใครสามารถฝึกจนก้าวไปถึงตรงนั้น

นั่นคือการสัมผัสกับพระนิพพาน

การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องผ่านการฝึกฝน ทุกคนที่ต้องการก้าวไปสู่วิมุตติ หลวงปู่มั่นก็มีคำแนะนำ

นั่นคือ “ปรารถนารวงข้าว ต้องรักษาต้นข้าว ปรารถนาวิมุตติ แต่เกียจคร้านจะพบวิมุตติไม่ได้เลย?

ฟังหลวงพ่อปราโมทย์อ่านคำสอนหลวงปู่มั่นให้ฟัง พร้อมทั้งอธิบายธรรมให้รู้ แล้วรู้สึกได้ว่าคนไทยโชคดี

โชคดีที่อยู่ใกล้กับพุทธศาสนา

มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา

มีพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่นำทางสู่การพ้นทุกข์

และมีพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธองค์ที่นำคำสอนของพระพุทธองค์มาเผยแผ่

โปรดสรรพสัตว์ให้เข้าใจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เข้าใจในทุกข์ มองเห็นเหตุแห่งทุกข์

และรู้วิธีพ้นทุกข์

ทุกอย่างล้วนอยู่ใกล้ตัวคนไทย

หนทางดับทุกข์อยู่ใกล้ๆ ตัวพวกเรานี่เอง

เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะมองไม่เห็น จึงไม่รู้ หรือรู้ก็ไม่เข้าใจ

วิชาความรู้สึกต้องมีครู พระพุทธศาสนาจึงต้องมีพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์

ทำหน้าที่อธิบายวิชา เทศนาให้เข้าถึงพระธรรม

ทางหนึ่งไปกราบพระสงฆ์ที่วัด ไปศึกษาที่โรงเรียน

อีกทางหนึ่งสามารถซึมซับเนื้อหาจากออนไลน์ผ่านทางแท็เล็ตที่วางอยู่เบื้องหน้าเรานี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image