คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : สวัสดีปีชวด แจกของขวัญภาษีที่ดิน

24 ธันวาคม ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสเจ้าของคอนโดเฮทั้งแผ่นดิน

ซานตาคลอสเมืองไทย “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง แจกของขวัญให้สัมภาษณ์จะมีการผ่อนปรนการนำคอนโดมาปล่อยเช่า ซึ่งครั่นเนื้อครั่นตัวว่าอาจต้องเสียภาษีแพง

ถ้าคอนโดเป็นที่อยู่อาศัยจ่ายภาษีล้านละ 300 บาท หรือ 0.03% แต่ถ้านำมาปล่อยเช่ากลายเป็นทำการค้า เสียภาษีล้านละ 3,000 บาท หรือล้านละ 0.3%

ไม่รู้มีเทวดาหรือมารดำมารขาวที่ไหนร่ายมนตร์ปลุกเสก งานนี้อาจมีเฮเพราะจะให้นับคอนโดทุกห้องเป็นที่อยู่อาศัย

Advertisement

แมงเมาธ์เริ่มทำงาน กระซิบกระซาบมาว่าประดาไฮโซเศรษฐี CEO ตลอดจนผู้มีบารมีทางการเงินทั้งหลาย job sideline หรืองานอดิเรกคือซื้อคอนโดปล่อยเช่านี่แหละ

ของเดิมถ้าปล่อยเช่าเจอ 2 เด้ง 1.จ่ายภาษีแพง 2.ต้องแจกแจงรายการว่ามีกี่ห้อง ราคาเท่าไหร่ …แบบนี้ก็จะกลายเป็นการแสดงบัญชีทรัพย์สินภาคเอกชน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนักการเมือง (ฮา)

ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ถือโอกาส round up สถานการณ์อลหม่านอันเนื่องมาจากรัฐบาลเตรียมบังคับจัดเก็บ Property Tax-ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

กฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 จัดเก็บจริงวันที่ 1 มกราคม 2563

เรื่องโกลาหลอลหม่านนอกจากเจ้าของคอนโด ยังมีอีกกลุ่มเป็นเจ้าของที่ดินเปล่ากับเจ้าของทรัพย์สินที่ทำตัวเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง

กลุ่มผ้าขี้ริ้วห่อทองนี่แหละ Property Tax เป็นตัวเปิดโปง เอ้ย ไม่ใช่ เปิดเผยทรัพย์สินที่ถือครองในมือ เรื่องของเรื่องกลัวจ่ายภาษีแพงล้านละ 3,000 บาท ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินเปล่ากับถ้าที่ดินผืนนั้นเอาไปทำการค้าไม่ว่าจะเป็นให้เช่าทำห้าง โรงแรม โรงงาน ฯลฯ

เรื่องของเรื่องอยากจ่ายภาษีถูกที่สุด ก็เลยต้องพยายามทำยังไงก็ได้ให้เป็นที่ดินเกษตรกรรม จ่ายถูกสุดล้านละ 100-1,000 บาท

เราก็เลยได้อ่านข่าวบันเทิงในพื้นที่ข่าวเศรษฐกิจ มีเศรษฐีที่ดินย่านรัชดาภิเษก 20 กว่าไร่ ตีราคาขำๆ วาละ 1 ล้าน 1 ไร่คูณด้วย 400 ตารางวา ถ้า 25 ไร่ที่ดินก็มูลค่า 10,000 ล้านบาท เท่านั้นเอง

ประกาศขายมาหลายปีดีดัก ตั้งแต่เศรษฐกิจฟูจนยุคเศรษฐกิจแฟ่บก็ยังไม่ไปไหน ในระหว่างนี้ก็เลยมีข่าวว่าเขาหาทางออกปลูกต้นมะนาวซะเลย

การจะบอกว่าที่ดินเกษตรกรรม ประชาชนเจ้าของไม่สามารถพูดเองเออเอง แต่ต้องให้ส่วนราชการเป็นคนพูดให้ เรื่องนี้รายละเอียดชัดเจนจริงๆ น่าจะรอไม่เกิน 4 เดือน

รอให้ 3 กระทรวงคือ “เกษตร-คลัง-มหาดไทย” เกี้ยเซี้ยว่านิยามที่ดินเกษตรมีอะไรได้บ้าง ทำเป็นกฎหมายลูกตั้ง 8 ฉบับ

เพราะถึงยังไงก็ต้องมี “รูระบาย” หรือต้องมีปฏิบัติการ “ปลดล็อก ปล่อยผี” ให้กับเจ้าของที่ดินใจกลางเมืองกันบ้างแหละ

เหลียวกลับมาดูข้อมูลพร้อมใช้ นิยามที่ดินเกษตรตอนนี้ก็ต้องพึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพลางๆ ดูปีล่าสุดก็แล้วกัน “คู่มือการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตร”

อ่านหัวข้อเดียว “นิยามศัพท์การขึ้นทะเบียนเกษตร” มี 12 หน้า สรุปกลมๆ 34 หัวข้อหลัก 80 กว่าหัวข้อย่อย

เช่น จะเป็นเกษตรกรหรือครัวเรือนก็ได้ แต่ข้อกำหนดคือ 1 ทะเบียนบ้านเท่ากับ 1 ครัวเรือน

ทำเกษตรหรือ “ประกอบการเกษตร” หมายถึง ปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ ฟาร์มสัตว์น้ำ ฟาร์มแมลงเศรษฐกิจ นาเกลือ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกิน ขาย หรือใช้งานในฟาร์ม มาถึงตรงนี้เริ่มลงรายละเอียด 13 ข้อ

1.ทำนาทำไร่ เนื้อที่ 1 ไร่ขึ้นไป 2.ปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เพาะเห็ด เนื้อที่ 1 งาน (100 ตารางวา) ขึ้นไป 3+4.ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น สวนป่า 1 ไร่ขึ้นไป และ 15 ต้นขึ้นไป (น่าจะต่อไร่)

5.เลี้ยงโคนม 1 ตัวขึ้นไป 6.เลี้ยงวัวควาย 2 ตัวขึ้นไป 7.เลี้ยงหมู แพะ แกะ 5 ตัวขึ้นไป 8.เลี้ยงสัตว์ปีก 50 ตัวขึ้นไป 9.เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (พวกขายลูกปลากระมัง) 10.นาเกลือ 1 ไร่ขึ้นไป

11.ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 12.ฟาร์มแมลงเศรษฐกิจ ตัวอย่าง เลี้ยงผึ้ง ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคู ไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์ ฯลฯ 13.เป็นนิยามเรื่องรายได้ ต้องมี 8 พันบาท/ปีขึ้นไป

เอกสารกรอกขอเป็นเกษตรกร เขาให้ระบุ “อาชีพหลัก” ด้วย ถ้าทำงานประจำก็กรอกไปว่าอาชีพหลักคือรับเงินเดือนประจำ จะเป็นมนุษย์เงินเดือน ข้าราชการ เจ้าของกิจการ ก็ได้ทั้งนั้น

รายละเอียดที่จะกรอกข้อมูลลำบากคงเป็นเรื่องอุปกรณ์เครื่องใช้ เพราะลงรายละเอียดถี่ยิบ ประเด็นอยู่ที่เกษตรกรจำแลงจะเอาอะไรมากรอกกันล่ะทีนี้ (ฮา)

เขาถามกระทั่งแหล่งน้ำ มาจากอ่าง เขื่อน หนองน้ำ คลองชลประทาน น้ำบาดาล …อืมม์ เข้าใจว่าต่อไปนี้แหล่งน้ำคงมาจากน้ำประปามากขึ้น (ฮาอีกแล้ว)

ยิ่งอ่านยิ่งสนุก เพิ่งรู้ว่าการระบุประเภทสวนมีทั้งสวนเดี่ยว ปลูกพืชชนิดเดียวกัน, สวนแซม ปลูกพืชยืนต้นเป็นหลัก แซมด้วยพืชอายุสั้น-พืชล้มลุก, สวนผสม ก็ปลูกพืชปนๆ กันนั่นแหละ

สำหรับแลนด์ลอร์ดหัวก้าวหน้า ถ้าอยากแปลงกายเป็นเกษตรกร เขามีนิยามระบบเกษตรยั่งยืน 5 ระบบด้วยกัน มี 1.เกษตรผสมผสาน ทำ 2 อย่างขึ้นไป 2.เกษตรอินทรีย์ แปลงปลูกไร้สารเคมีทั้งหลาย

3.เกษตรธรรมชาติ ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ย ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ใช่พื้นที่รกร้าง (เขาเขียนนิยามอย่างนี้จริงๆ)

4.เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เน้น 4 ส่วน ขุดสระกักน้ำ ปลูกข้าว ไม้ผล และบ้านอยู่อาศัย ผลผลิตใช้บริโภคเป็นหลัก

และ 5.วนเกษตรหรือไร่นาป่าผสม อันนี้เริ่มใหญ่โต เลียนแบบป่าธรรมชาติ มีความหลากหลายทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง

ความหมายดั้งเดิม การขึ้นทะเบียนเกษตรเพื่อเป็นฐานข้อมูลและเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” เวลารัฐบาลให้การสนับสนุนต่างๆ นานา เงินอุดหนุนปัจจัยการผลิต เงินช่วยภัยแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ

ปี 2561 มี 4,117,679 ครัวเรือน ล่าสุด ณ พฤษภาคม 2562 มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพิ่มเป็น 7,915,141 ครัวเรือน เรียกว่าเพิ่ม 100% ก็ได้

เกษตรกรจำแนกตามช่วงอายุ พบว่าวัยเด็กอายุน้อยกว่า 14 ปี สัดส่วน 18.20% วัยแรงงานอายุ 15-64 ปี 67.61% และวัยสูงอายุเกิน 65 ปี 14.19%

คาดว่าดาต้าเบสเกษตรกร 2020 กระทรวงเกษตรฯ อาจตก-กะ-ใจจนตกเก้าอี้ เพราะฐานข้อมูลเดิม รายได้เงินสดครัวเรือนภาคเกษตรเฉลี่ย 370,040 บาท/ครัวเรือน รายได้เงินสดนอกภาคเกษตร 172,667 บาท/ครัวเรือน

หลังมี Property Tax บังคับใช้ รายได้ในภาคเกษตรอาจบวกลบไม่มาก แต่รายได้นอกภาคเกษตรที่คาดว่ามาจากเล่นหุ้น เก็งกำไรคอนโด-ทองคำ รายได้ธุรกิจส่งออก-เจ้าของกิจการ-นายหน้าที่ดิน และอื่นๆ จิปาถะบันเทิง คงสูงจนน่าเกลียด

ของขวัญปีใหม่ภาษีที่ดิน สุขใจถ้วนหน้า ประชารัฐจงเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image