คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Broken เมื่อโลกผุพังจาก ‘ของมันต้องมี’

ภาพประกอบจาก Youtube Video/Netflix

โลกแห่งการสร้าง “ผลิตภัณฑ์” ที่น่าหลงใหลจำนวนมากออกสู่ท้องตลาด ผลิตภัณฑ์ที่ออกมายั่วเย้าสร้างแรงดึงดูดให้เกิดภาวะ “ของมันต้องมี” ตลอดเวลา ด้านหนึ่งการทะลักของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาวางจำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์นี้ก็มี “ราคาที่ต้องจ่าย” ให้กับทั้งตัวเรา สังคมและโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซีรีส์สารคดี Broken คือซีรีส์ที่พาไปดูโลกแห่งการผลิตสินค้าและเบื้องหลังรวมทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยโฟกัสไปที่สินค้ายอดนิยมอย่างเครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์ สินค้าจากพลาสติก ไปจนถึงสินค้าในกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากอย่างบุหรี่ไฟฟ้า

“Broken” ได้นำเสนอมุมมองที่ทำให้เราได้ตระหนักและเข้าใจว่าภัยผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีที่มาและทิศทางของปัญหามาจากไหนและที่สุดเราจะหาทางออกได้อย่างไร

แม้ตัวเรื่องจะไม่ได้มีประเด็นใหม่หวือหวานัก เรื่องราวที่ปรากฏในซีรีส์สารคดีชุดนี้เป็นปัญหาที่เคยถูกพูดถึงตามหน้าข่าวสาร แต่วิธีร้อยเรียงและดำเนินเรื่องในสารคดี “Broken” รวมทั้งการตามติดไปดูกรณีศึกษาต่างๆ ก็ช่วยทำให้การมองปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคกระจ่างชัดมากขึ้น เช่นในตอนที่เล่าถึงภัย “เครื่องสำอางปลอมระบาด”

Advertisement

หนังสารคดีพาไปสำรวจเพื่อไตร่ตรองให้เห็นทุกมุมของโครงสร้างของปัญหานี้ก็จะพบถึงมูลเหตุและแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการระบาดของเครื่องสำอางปลอม เริ่มต้นจากธุรกิจด้านสินค้าหมวดเครื่องสำอางในช่วง 10 ปีมานี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตัวธุรกิจไม่ได้ถูกผูกขาดโดยรายใหญ่เพียงไม่กี่รายอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกและรู้จักสรรหาอะไรต่ออะไรมากขึ้น

ขณะเดียวกันมีการสร้างความหลงใหลในสินค้าผ่านการทำการตลาดที่สร้างแรงดึงดูดจากบรรดา “อินฟลูเอนเซอร์” จนกระทั่งถึงไมโครอินฟลูเอนเซอร์ด้านบิวตี้ในโลกออนไลน์ ผนวกด้วยความนิยมซื้อขายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ และวัฒนธรรมการรีวิวสินค้าต่างๆ ก็ได้เปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคไปอย่างสิ้นเชิง

Advertisement

ด้วยอีกด้านหนึ่งที่สินค้าเครื่องสำอางจากฟากฝั่ง “แบรนด์อินดี้” เติบโตสูงขึ้นมากตลอดหลายปีมานี้ มีแคมเปญสินค้าที่เปลี่ยนวิธีการทำการตลาดเครื่องสำอางจากเดิมที่ใช้โฆษณาทั่วไป หรือผ่านสื่อกระแสหลัก

ก็กลับกลายเป็นการพุ่งเป้าตรงไปที่โซเชียลมีเดียส่งสารถึงผู้บริโภคผ่านผู้นำกระแสในโซเชียล บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการแต่งหน้าและการประยุกต์ใช้เครื่องสำอาง

กระทั่งเมื่อแบรนด์เครื่องสำอางเจ้าใหญ่เก่าแก่ที่ครองตลาดมานานก็ยังมิอาจหลีกเลี่ยง ต้องโดดมาร่วมวงใช้รูปแบบการตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์ บิวตี้บล็อกเกอร์เช่นกัน

ทั้งหมดนี้นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมอินฟลูเอนเซอร์” ที่ส่งผลให้การแต่งหน้าไม่ใช่เรื่องสำหรับสาวๆ อีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องราวสำหรับทุกคน

หนังสารคดีชี้ให้เห็นว่ายิ่งความนิยมในการซื้อขายออนไลน์ที่พุ่งพรวดมากขึ้นเท่าใด ยิ่งทำให้เครื่องสำอางปลอมระบาดมากขึ้นไปอีก ทว่า ยากมากที่จะโทษสาเหตุเดียวว่าเป็นตัวการให้เครื่องสำอางปลอมระบาด เพราะมีหลายปัจจัยที่สร้างบรรยากาศส่งเสริมการปลอมแปลง เช่น ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเครื่องสำอางมองว่า การตลาดของธุรกิจเครื่องสำอางเอง ก็ได้ส่งเสริมความอยากได้ไอเทมใหม่ล่าสุดผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า “การตลาดสินค้าขาดแคลน”

เกิดเป็น “วัฒนธรรมขายหมด” หรือ Sold Out ขึ้นมา ผ่านการผลิตสินค้าจำนวนน้อยกว่าความต้องการในตลาดสักเล็กน้อยท่ามกลางเครื่องสำอางหลายแบรนด์ในท้องตลาด และเมื่อภาวะสินค้าหมดหาซื้อยากลำบาก ก็ทำให้สินค้าเครื่องสำอางปลอมทำเลียนแบบได้โอกาสเข้ามา

สารคดีมีมุมมองว่าโครงสร้างของธุรกิจและการตลาดได้วนลูปยั่วล้อเร่งเร้ากระตุ้นการบริโภค ลงเอยที่เกิดภาวะ “ของมันต้องมีที่หายาก” และนั่นเอง คือ “จุดเริ่มต้น” ของธุรกิจสีเทา เครื่องสำอางปลอมที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการสินค้าที่มีจำนวนจำกัดนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องสำอางปลอมเหล่านี้ประกาศขายเกลื่อนกลาดบนช่องทางออนไลน์จนดูน่าเชื่อถือ โดยผู้บริโภคที่มีความต้องการในสินค้าต่างถูกหลอกให้เข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของแท้ผ่านการซื้อจากแพลตฟอร์มออนไลน์ พ่วงด้วยธุรกิจรีวิวปลอมคอยเชียร์เสริมเข้าไปด้วย

แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องสากลโลกที่ผู้คนใช้เครื่องสำอางเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น แต่เมื่อมีคนที่ฉวยโอกาสจังหวะนี้ขายเครื่องสำอางยอดนิยมแต่เป็นสินค้าปลอม ท่ามกลางแรงดึงดูดใจของผู้บริโภคที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนต้องการสิ่งที่ใหม่ล่าสุด ดีที่สุด และเรื่องราคาก็มีส่วนสำคัญด้วยไม่น้อย

ในภาพยนตร์สารคดีเราจึงได้เห็น “วงจรของเครื่องสำอางปลอม” ว่าพัฒนามาจากบริบทและมูลเหตุอะไร ก่อนที่หนังจะพาไปดูกรณีศึกษาว่า แหล่งผลิตเครื่องสำอางปลอมนั้นอยู่ที่ไหนบนแผนที่โลก และถูกขนส่งจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่งมาได้อย่างไร โรงงานผลิตมีสภาพหน้าตาอย่างไร กระทั่งการตีแผ่ขั้นตอนวิธีการที่จะทำธุรกิจลักลอบขายเครื่องสำอางปลอม ไปจนถึงการพูดถึงบรรดาสารอันตรายต่างๆ ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งสารหนู ปรอท สารก่อมะเร็ง แบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเครื่องสำอางปลอมที่ถูกตรวจจับกวาดล้าง

และนี่คือเรื่องราวคร่าวๆ เพียง 1 จาก 4 ตอน ทั้งหมดของซีรีส์สารคดีเรื่อง “Broken” ที่พาเราไปสังเกตภัยผู้บริโภคแบบใกล้ตัวในเชิงโครงสร้างปัญหาที่ทำให้เราต่อจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ทั้งหมดของปัญหาได้ทั้งหมด สามารถรับชมได้ในเน็ตฟลิกซ์ เป็นหนังสารคดีที่ตีแผ่และให้มุมมองการ “เล่าเรื่องเชิงข่าว” ที่น่าสนใจ

ที่สำคัญทำให้เราตระหนักได้ถึงเรื่องราวภัยใกล้ตัวที่อาจจะมองปัญหาแค่เพียงผิวเผิน แต่แท้จริงทุกเรื่องราวปัญหาล้วนมีเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอในฐานะ “ผู้บริโภค” ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image