คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : 5G ยาวิเศษ

(FILES - Photo by Robyn Beck / AFP)

เข้าสู่ปีใหม่ 2563 แล้วเรียบร้อย สิ่งใหม่ที่จะได้เห็นแน่ปีนี้ทั้งโดยการประกาศของรัฐบาล และการการันตีของโต้โผผลักดัน อย่าง “กสทช.” คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากบริการ 5G ที่กำหนดให้มีการเปิดประมูลคลื่นกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บอกว่าภายในเดือนมีนาคมจะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์ในบางพื้นที่ตั้งแต่เมษายน ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเปิดให้บริการเทคโนโลยีใหม่ก่อนญี่ปุ่นที่ประกาศว่าจะมีในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย

ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า ไทม์ไลน์ของ “กสทช.” จะเป็นไปตามนั้นหรือเปล่า

Advertisement

แต่ที่แน่ๆ บริการ 5G ได้กลายเป็นไฮไลต์สำคัญแห่งปีไปแล้วสำหรับค่ายมือถืออย่างน้อย 2 ใน 3 ราย คือ “เอไอเอส และทรูมูฟ เอช” หากพิจารณาจากการขับเคี่ยวแย่งชิงความเป็นผู้นำในการประกาศความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นบริการให้ลูกค้าของตนเอง

ดังจะเห็นได้จากตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา

(ลูกค้า) ใครจะได้ใช้ก่อนใครจึงน่าจะเป็นอีกจังหวะสำคัญแห่งปีที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เพราะแค่คิวจัดนิทรรศการโชว์เทคโนโลยีในช่วงปลายปียังทุ่มกันสุดตัว

Advertisement

บนเวทีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ล่าสุดก็ด้วย ทั้งคู่ใจตรงกันอีกรอบ โดยต่างขนหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี 5G มาร่วมเป็นไฮไลต์ในช่วงเคาต์ดาวน์บนเวทีด้วย

“เอไอเอส” ใช้เวทีกลางเมืองที่เซ็นทรัลเวิลด์ ส่วน “ทรูมูฟเอช” บุกไอคอนสยาม

แต่ที่ลุ้นตัวโก่งที่สุดหนีไม่พ้น “กสทช.” ในฐานะโต้โผในการจัดการประมูล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลพร้อมกันมากถึง 56 ใบอนุญาต

ถ้าดูแต่เฉพาะราคาตั้งต้นประมูลรวมทุกคลื่นความถี่จะมีมูลค่ามากกว่า 1.6 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

เลขาธิการ กสทช. “ฐากร” ย้ำในทุกเวทีว่าถ้าไม่เกิด 5G เศรษฐกิจของประเทศจะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจมหาศาล

แต่สำหรับเงินรายได้จากการประมูลค่อนข้างชัดเจนว่าคงยากที่จะทะลุ 1.6 แสนล้านบาท ตามราคาตั้งต้นของทั้ง 56 ใบอนุญาต

“คงต้องฝันไป หากขายคลื่นได้หมด” เลขาธิการ กสทช.พูดเอง

ค่อนข้างแน่ชัดว่าเฉพาะในบางย่านคลื่นเท่านั้นที่จะได้เห็นการแข่งขันเคาะราคากันดุเดือด

ที่น่าจับตาเป็นคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่อาจถือได้ว่า “พร้อมใช้” สำหรับการนำมาพัฒนา 5G เพราะมีให้ประมูลทั้งสิ้น 19 ชุดใบอนุญาต (ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาทต่อชุด ประมูลได้สูงสุด 10 ชุด) แต่การจะให้บริการ 5G ได้เต็มประสิทธิภาพต้องใช้แถบคลื่นมากถึง 10 ชุดใบอนุญาต

หมายความว่าในการประมูลรอบนี้จะมีคลื่นเพียงพอสำหรับผู้ให้บริการแค่ 2 ราย และมีเพียงรายเดียวที่จะได้ครบถึง 10 ชุด

มากกว่านั้น รูปแบบการประมูลคลื่นในครั้งนี้เปลี่ยนเป็นใช้วิธี “Clock Auction” ทำให้ราคาปรับขึ้นตามขั้นบันไดที่กำหนดไว้ทุกรอบ แม้ “ไม่เคาะราคาเพิ่ม”

โดยการประมูลจะจบเมื่อ “ความต้องการชุดคลื่น” ที่ผู้เข้าประมูลเสนอ มีจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับชุดคลื่นความถี่ที่นำออกประมูล

เลขาธิการ กสทช.ประเมินว่าคลื่นความถี่ที่น่าจะได้รับความสนใจ มีผู้เข้าร่วมประมูลแน่ๆ มี 2 แถบความถี่ คือคลื่น 2600 MHz ที่มี 19 ชุดใบอนุญาต และคลื่น 26 GHz ที่มี 4 ชุดใบอนุญาต

ถ้าเป็นไปตามที่ประเมินไว้ “กสทช.” จะได้เงินจากการประมูลทั้งสองย่านคลื่นนี้อย่างน้อยที่สุด 37,070 ล้านบาท (คำนวณจากราคาตั้งต้นคลื่น)

ห่างไกลจากมูลค่ารวมของแถบคลื่นที่เตรียมจะนำออกมาประมูลทั้งหมดมาก เรียกว่าได้ไม่ถึง 1 ใน 3 ด้วยซ้ำ

ไม่มากก็น้อย ตัวแปรที่อาจทำให้มูลค่าคลื่นขยับขึ้นไปได้อีกบ้างที่เห็นในเวลานี้ คือ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) และหรือ บมจ.ทีโอทีจากแรงผลักดันของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

รัฐมนตรีดีอีเอส “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ให้เหตุผลว่า นอกจากต้องการให้ภาครัฐมีคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G เพื่อประโยชน์สาธารณะจะได้ไม่ต้องพึ่งพาเอกชนที่คำนึงถึงผลกำไรขาดทุนเป็นหลักแล้วยังจะทำให้การแข่งขันในการประมูลคลื่นดุเดือดขึ้น

มากกว่าเงินรายได้จากการประมูลคลื่น

ข้อมูลจากการศึกษาของสำนักงาน กสทช.เปิดเผยว่า บริการ 5G จะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท

เทคโนโลยี 5G ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม แบ่งออกได้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การใช้เครื่องจักร และเซ็นเซอร์อัจฉริยะต่างๆ มูลค่า 634,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 1.24 ล้านบาท จากการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหนะ

อุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้ในการวิเคราะห์ และจัดการผลผลิต คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 9.6 หมื่นล้านบาท, ภาคสาธารณสุขที่จะช่วยลดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจลดภาระด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการสาธารณสุขเป็นมูลค่ากว่า 3.8 หมื่นล้านบาท

เลขาธิการ “กสทช.” บอกอีกว่า 5G ยังจะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาหลักในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม

ไม่รวมผลประโยชน์โดยตรงที่เกิดจากการลงทุนโครงข่าย 5G ของบรรดาค่ายมือถือทั้งหลาย

จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าในช่วงของการพัฒนาเทคโนโลยี 3G และ 4G ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเฉลี่ย 69,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับ 3G เพิ่มเป็น 89,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเป็น 4G

และพบว่าเมื่อบริษัทโทรคมนาคมลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.016 ในช่วง 4 ไตรมาสที่มีนัยสำคัญทางสถิติ และการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ร้อยละ 10 ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 ในปี 2560

สำหรับ 5G ซึ่งมีความเร็ว และการตอบสนองการรับส่งข้อมูลได้ดีกว่า 4G มากจึงเชื่อว่าจะนำมาสู่การลงทุนเป็นมูลค่าที่สูงกว่าด้วย และยังทำให้เกิดการใช้อินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่อ อุปกรณ์ (IoT) บริการเสมือนจริง Virtual Reality (VR) และระบบอัจฉริยะต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต, การขนส่ง, การสื่อสาร ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน และคาดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกมาก

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังมุ่งมาดปรารถนามากว่า 5G จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และเชื่อว่าจะเป็นไฮไลต์ดึงดูดการลงทุนที่สำคัญยิ่งของปีนี้

สรรพคุณของเทคโนโลยี 5G จึงไม่ต่างอะไรกับยาวิเศษ และทำไปทำมาอาจกลายเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวใหม่ในจังหวะที่เครื่องยนต์ตัวอื่นๆ กำลังมีปัญหาอย่างหนักด้วย แต่จะมีประสิทธิภาพสักแค่ไหนคงต้องรอดูกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image