คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : โซเชียลมีเดียพลิกธุรกิจ

(ภาพ-AP)

โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์ที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ จากความนิยมในการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยทำให้ทั้ง “เฟซบุ๊ก” (Facebook) และ “อินสตาแกรม” (Instagram:IG) กลายเป็นช่องทางค้าขายสำคัญของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไปแล้ว

ในมุมมองของแม่ทัพ Facebook ประเทศไทย “จอห์น แวกเนอร์” เชื่อว่า โซเชียลมีเดียยังคงเป็นสิ่งที่จะมาพลิกเกมธุรกิจในปี 2020 นี้ด้วย จากในช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่าเทรนด์ที่มาแรงบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก มี 3 อย่างด้วยกัน คือการแชร์คอนเทนต์แบบชั่วคราว, คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ และการส่งข้อความทางแชต ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นในปีนี้

และจะได้เห็นพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่การใช้แพลตฟอร์มผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้น มีคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอมากขึ้น มีการใช้ Stories มากขึ้น และมีการสนทนาและการทำธุรกิจผ่านการทักแชตที่เพิ่มมากขึ้น โดยภูมิภาคเอเชียยังครองตลาดผู้ใช้งานมือถือรายใหม่มากที่สุดในโลก (61%) ในขณะที่มีจำนวนผู้รับชมวิดีโอเพิ่มขึ้นด้วย

ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่ากว่า 54% ของผู้ชมวิดีโอสตรีมมิ่งทั่วโลกมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจาก Video on Mobile หรือวิดีโอที่รับชมบนมือถือจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม

Advertisement

การศึกษาวิจัย และประสบการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของ “เฟซบุ๊ก” พบว่าประสบการณ์การรับชมวิดีโอที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้ม

เติบโตมากขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กลุ่มที่รับชมวิดีโอระหว่างเดินทาง “on-the-go” และกลุ่มที่ชื่นชอบการดูและตั้งใจเข้ามารับชมวิดีโอ “captivatedviewing”

และกุญแจสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้มากที่สุด คือการค้นหา และใช้งานได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนบนคอมมูนิตี้ออนไลน์หรือการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูง

Advertisement

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” บอกว่าในขณะที่ธุรกิจบริการสตรีมมิ่งกำลังเติบโตต่อเนื่อง “ผู้ชม” จะมองหาแบรนด์ที่สื่อสารข้อเสนอต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด รวมไปถึงแบรนด์ที่สร้างสรรค์ประสบการณ์การรับชมได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล

“เรายังเห็นแนวโน้มของผู้ใช้งานที่หันมาแชร์ประสบการณ์แบบชั่วคราวกันอย่างรวดเร็ว จากยอดผู้ใช้ฟีเจอร์ Stories มากกว่า 500 ล้านรายต่อวัน ทั้งบนเฟซบุ๊ก, เมสเซนเจอร์, อินสตาแกรม และว็อทส์แอป ยิ่งผู้คนใช้ Stories มากขึ้นเท่าไรก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้นักการตลาดใช้ฟีเจอร์ที่คนนิยมใช้นี้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นเท่านั้น”

เช่นกันกับการส่งข้อความที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยในต้นปี 2018 ที่ผ่านมา “เฟซบุ๊ก” เปิดเผยสถิติการส่งข้อความว่า มีจำนวนมากกว่า 8 พันล้านข้อความระหว่างผู้คนกับธุรกิจบน Messenger ในทุกๆ เดือน และจะเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 2 หมื่นล้านข้อความภายในปีนี้

เป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้คนคาดหวังที่จะสื่อสารกับธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับที่พวกเขาส่งข้อความให้กับเพื่อนๆ และเมื่อมีคนใช้แอพพ์ส่งข้อความมากขึ้นก็จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวตามเทรนด์นี้ได้ทันเช่นกัน

ปัจจุบันมีธุรกิจที่ใช้ Messenger เป็นประจำทุกเดือนกว่า 40 ล้านราย เช่น มีการส่งหรือรับข้อความทาง Messenger โดยผู้คนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มส่งข้อความหาผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉลี่ยมากกว่าทั่วโลก

63% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกส่งข้อความไปให้ธุรกิจในช่วงวันหยุดปลายปีที่แล้ว และปัจจุบันมีธุรกิจกว่า 5 ล้านรายใช้แอพพลิเคชั่น WhatsApp Business ทุกเดือน

ความนิยมในการส่งข้อความที่มากขึ้นยังสะท้อนถึงการเติบโตของการซื้อขายสินค้าผ่านการส่งข้อความและแชตออนไลน์ด้วย จากรายงานการศึกษาระดับโลกของ Boston Consulting Group และเฟซบุ๊กใน 9 ประเทศ พบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการซื้อขายสินค้าผ่านแชตออนไลน์แซงหน้าประเทศอื่น ทั้งในแง่การรับรู้และการใช้แชตออนไลน์เพื่อซื้อสินค้า

จากกลุ่มสำรวจตัวอย่างทั้งหมด 9 ประเทศ พบว่าประเทศไทยมียอดการทำธุรกรรมจากการซื้อขายผ่านแชตออนไลน์มากที่สุดเป็นอันดับแรก (40%) ตามด้วยเวียดนาม (36%) รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย (29%) มาเลเซีย (26%) และฟิลิปปินส์ (23%)

ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายผ่านแชตออนไลน์ในประเทศอื่นๆ ยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น อาทิ สหรัฐอเมริกา (5%) เม็กซิโก (6%) อินเดีย (10%) และบราซิล (11%)

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” เชื่อว่าภูมิทัศน์การค้าจะยังเปลี่ยนแปลงต่อไปตามพฤติกรรมและวิธีที่ผู้คนเลือกโต้ตอบกับธุรกิจ ผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดยยังรักษาความเป็นส่วนตัวได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยอิทธิพลของแพลตฟอร์มและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบนมือถือ ทำให้วิธีที่ผู้คนค้นพบสินค้าใหม่ทุกวันนี้กลายเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ผู้คนเชื่อมโยงได้มากขึ้น

ตอกย้ำให้เห็นด้วยว่าการสร้างธุรกิจและแบรนด์ให้ปรากฏบนแพลตฟอร์มและค้นหาได้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจคว้าชัยชนะในศึกการค้ายุคใหม่ได้

สิ่งที่ธุรกิจต่างๆ ควรทำเพื่อเตรียมพร้อม ได้แก่ 1.การสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนด้วยการออกแบบเว็บไซต์ที่รองรับการใช้งานบนมือถือ, แอพพลิเคชั่น การตลาด และการสื่อสารแบบเรียลไทม์ เพื่อลดช่องโหว่และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า

2.ธุรกิจต้องพิจารณาว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทีมทั้งหมดมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันอย่างไร เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นตามความคาดหวังของลูกค้า และ 3.การสร้างความสัมพันธ์ต้องอาศัยแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ ยินดีทดลองปฏิสัมพันธ์และเชื่อมต่อรูปแบบใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยี AR/VR การทำวิดีโอแนวตั้งไปจนถึงการสร้างช่องทางและแพลตฟอร์มขึ้นใหม่เพื่อสร้างความแตกต่างไปจากธุรกิจอื่น

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” ทิ้งท้ายด้วยว่าธุรกิจควรเลือกวัดผลเฉพาะสิ่งที่สำคัญ และแบรนด์ต้องใช้พื้นที่ของตนเองในการสร้างสรรค์ไอเดียให้เป็นจริงเพื่อดึงดูดความสนใจและรักษาความสนใจจากผู้คนให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการขยายพื้นที่ให้ใหญ่มากขึ้น น่าสนใจมากขึ้นหรือเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น

ก็อย่างที่รู้กันว่าในยุค Attention Economy ธุรกิจต่างๆ ต้องทำทุกทางในการดึงความสนใจของผู้บริโภค ใครช่วงชิงได้มากกว่าย่อมมีโอกาสมากกว่าด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image