คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Venezuela Film Night Tribute to UNHCR for Refugee and Migrant Crisis ในความทุกข์ยาก ความหวังคงอยู่ชั่วนิรันดร์

กว่า 5 ปีมานี้ ชาวเวเนซุเอลามากกว่า 4.5 ล้านคน ต้องหนีออกจากบ้านเกิด…แม้แต่ชนชั้นกลางผู้มีฐานะมั่นคงอาศัยอยู่ในเมือง ยังกลายสภาพเป็น “ประชากรผู้ทุกข์ยาก” เข้าเกณฑ์ผู้ยากไร้ได้ชั่วข้ามคืน นับประสาอะไรกับชาวบ้านรากหญ้าที่ใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำต่างยิ่งประสบชะตากรรมอันหนักหน่วงจนแทบจะตายทั้งเป็นอยู่ในประเทศตัวเอง…หายนะที่ฉายภาพราวกับจุดจบของโลกนี้เกิดขึ้นจากความ “ล่มสลาย” ของระบบในประเทศที่เคยร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกาอย่างเวเนซุเอลา ประเทศที่มีน้ำมันดิบเป็นสินทรัพย์

แม้เราจะคุ้นชินว่าปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย มักเกิดจาก “สงคราม” เป็นหลัก แต่กรณีปัญหาของเวเนซุเอลา…มีจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ต่างออกไป

นับตั้งแต่ พ.ศ.2558 ประชาชนชาวเวเนซุเอลาต้องเดินทางออกจากประเทศเพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากความรุนแรงและความขาดแคลนทางสาธารณูปโภคที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพ เช่น อาหาร ยารักษาโรค และการบริการขั้นพื้นฐาน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่า เฉลี่ยแต่ละวันมีชาวเวเนซุเอลามากกว่า 5,000 คนต่อวัน ต้องออกจากประเทศเพื่อแสวงหาความปลอดภัยและความคุ้มครอง

สภาพที่กลายเป็น “วิกฤตการณ์” การลี้ภัยและอพยพที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคละตินอเมริกา และมีความร้ายแรงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงวิกฤตซีเรีย

Advertisement

ความทุกข์ยาก ชะตากรรมชีวิตอันพลิกผันของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลา ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สารคดีสั้น ในงาน “Venezuela Film Night : Tribute to UNHCR for Refugee and Migrant Crisis” จัดโดย UNHCR ร่วมกับสื่อพันธมิตร

งานครั้งนี้จัดฉายหนังสารคดีสั้น 2 เรื่อง และสารคดีข่าวอีก 1 เรื่อง ซึ่งลงไปถ่ายทำจากสถานที่จริงในพื้นที่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลา ที่ชายแดนประเทศโคลอมเบีย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่รองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลามากที่สุดในโลกในเวลานี้

หนังสารคดีสั้นและสารคดีข่าวใน “Venezuela Film Night : Tribute to UNHCR for Refugee and Migrant Crisis” พาเราไปติดตามดูสภาพชีวิตสุดแร้นแค้นของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่ถูกเรียกว่า “Walker” ซึ่งพวกเขาต้องเดินเท้าฝ่าฟันเพื่อหาช่องทางหนีออกจากประเทศตัวเองเข้าสู่ชายแดนประเทศโคลอมเบียด้วยเส้นทางต่างๆ ตัดสลับการพูดคุยกับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยถึงสิ่งที่เขาต่างต้องเผชิญความโหดร้ายราวกับจุดจบของโลก ผนวกด้วยการเล่าถึงที่มาของเหตุแห่งความล่มสลายของประเทศแห่งนี้จาก “อภิมหาเงินเฟ้อ”

Advertisement

เริ่มจากสารคดีสั้นเรื่อง “Sin Fronteras: Venezuela at the Crossroads” ผลิตขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง “ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก” ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR และแมงกาต้า โปรดักชั่นส์ เพื่อขยายการรับรู้และความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาสู่สายตาชาวโลก

บางเรื่องราวในหนังสารคดีเราจะได้เห็นชีวิต “นักการเงิน” ชาวเวเนซุเอลา ที่เคยมีฐานะดี แต่ลงเอยที่ต้องข้ามมาอยู่ในโคลอมเบียพร้อมลูกชาย ประทังชีพด้วยอาชีพถักกระเป๋า บ้านของเขาคือ บ้านสังกะสีหลังน้อยนิด แต่เรากลับได้เห็นพลังของความกระหายที่จะมีชีวิตที่อยู่รอด และหวังว่าจะได้กลับไปใช้ชีวิตที่เวเนซุเอลาพร้อมครอบครัวอีกครั้ง

“สิ่งที่เหลือในชีวิต…คือความหวัง” เป็นแก่นสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่ง “ปู ไปรยา” ในฐานะเป็นผู้เล่าเรื่องหลักในสารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงมุมมองของเธอว่า “เมื่ออยู่ดีๆ เงินกลายเป็นกระดาษในประเทศหนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราเมื่อเงินไม่มีค่าแล้ว…ปูได้ลงพื้นที่กับทีม สิ่งที่เราได้เห็นคือ นึกภาพจุดจบของโลกจะเป็นอย่างไร มองไปตรงชายแดนเวเนซุเอลา-โคลอมเบีย อันนี้คือภาพจุดจบของโลก เมื่อมนุษย์ต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่รอด แต่เราเห็นเขาทำได้ด้วยความหวังด้วยใจสู้ เราเห็นถึงความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อของชาวเวเนซุเอลาผ่านหนังสารคดีเรื่องนี้”

“มนุษย์พอเราไม่เหลืออะไรแล้ว สิ่งที่เหลือคือ ความหวัง แม้เราจะสูญเสียบ้าน ประเทศ อาชีพ การศึกษา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทุกสิ่งอย่าง…เราเห็นถึงความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของพวกเขา” ปู ไปรยา สรุปถึงเรื่องราวในสารคดี พร้อมบอกว่า เรื่องราวในเวเนซุเอลา คือ “บทเรียน” ของประเทศอื่นที่เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่นำมาสู่การล่มสลายของระบบ

ขณะที่สารคดีอีกเรื่องที่ฉายในงานนี้ เป็นสารคดีเชิงข่าว โดยการลงพื้นที่ของ “ฐปนีย์ เอียดศรีไชย” ผู้สื่อข่าวจากรายการข่าว 3 มิติ ผู้คร่ำหวอดและรายงานข่าวด้านสิทธิมนุษยชนมาต่อเนื่องนับทศวรรษ และในหมวกล่าสุดที่เธอเป็นหนึ่งในหัวขบวนก่อร่างสำนักข่าว The Reporters ร่วมกับเพื่อนนักข่าวจำนวนหนึ่ง เพื่อนำเสนอข่าวโดยตรงจากภาคสนาม

“ฐปนีย์” เล่าถึงเบื้องหลังของงานสารคดีเชิงข่าวชิ้นนี้ว่า ในหลายประเทศปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย เกิดจากการประหัตประหารกัน ความขัดแย้ง การเมืองภายในประเทศ และสงคราม ไม่ว่าจะปัญหาในซีเรีย ซูดานใต้ ยูกันดา โรฮิงญา ที่ผู้คนต้องหนีภัยออกจากบ้านตัวเอง มาจนถึงกรณีเวเนซุเอลา ที่มีวิกฤตแตกต่างจากทุกที่ การลงพื้นที่ทำรายงานสารคดีเชิงข่าวชิ้นนี้ที่ชายแดนเวเนซุเอลา-โคลอมเบีย ในทางข่าวคือไปเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ เมื่อประเทศ ประเทศหนึ่ง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดความล่มสลายทุกอย่างในประเทศ พวกเขาจะอยู่อย่างไร

ในฐานะที่เป็นนักข่าวที่ลงพื้นที่ทุกข์ยากหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ “ฐปนีย์” สะท้อนมุมมองของเธอจากกรณีเวเนซุเอลาว่า “เราไปเจอชาวเวเนซุเอลาหนีภัยมา เราฟังเขาเราเห็นใจเขา สงสารเขา แต่สิ่งหนึ่งทุกครั้งที่เราฟัง เราจะรู้สึกว่าเราเองรับพลังจากเขา พลังของการต่อสู้ มีหลายคนที่เราสัมภาษณ์ที่ไปเจอ พ่อแม่พาลูก 3-4 คน หนีมาชายแดน เราเห็นภาพครอบครัวชาวเวเนซุเอลาพ่อแม่ เด็กเล็กๆ ที่ต้องนอนอยู่บนพื้นริมถนน สัมภาระมีแค่รถเข็นที่ข้างในมีผ้าห่ม เสื้อผ้า กระบอกน้ำ มีของใช้ในครอบครัว นี่คือจากคนเคยมีบ้านหลังใหญ่ วันหนึ่งเหลือแค่ผ้าห่มผืนเดียว เขาก็ไม่มีทางเลือก แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นกำลังใจ คือ ทุกคนอดทน และพยายามที่จะใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้อยู่อย่างปลอดภัย”

ปิดท้ายเป็นสารคดีสั้นเรื่อง “HUMANS OF NOWHERE” จาก The STANDARD ที่เริ่มต้นปูเรื่องให้เข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาวิกฤตครั้งนี้ ก่อนจะพาไปดูเรื่องราวชีวิตของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นหมอฟัน ศิลปิน นักการตลาด ซึ่งเรื่องเล่าของแต่ละคน คือการลงเอยที่ “ศักดิ์ศรี” และ “ความหวัง” ซึ่งทุกคนต่างหวังจะได้กลับประเทศไปทำงาน และใช้ชีวิตแบบเดิมเฉกเช่นในอดีต

“Venezuela Film Night : Tribute to UNHCR for Refugee and Migrant Crisis” ได้ฉายภาพวิกฤตเวเนซุเอลาผ่านเรื่องราวในสารคดีที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้พวกเขาจะอยู่ในภาวะวิกฤตที่สุด ภาวะที่คนน่าจะสูญเสียความหวังมากที่สุด …แต่พวกเขาก็กลับมีพลังใจอย่างถึงที่สุดเฉกเช่นกัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image