คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Chasing Trane สู่เส้นทางแห่ง ‘ตำนาน’ และ ‘ต้นฉบับ’ มือแซกโซโฟนผู้ยิ่งใหญ่ ‘จอห์น โคลเทรน’

ภาพประกอบจาก Youtube Video/ Grand Cinema

เสียงแซกโซโฟนจากการบรรเลงของ “จอห์น โคลเทรน” นั้น ถูกยกย่องเสมอว่าเป็นดนตรีสุดน่าทึ่ง เพราะเสียงเพลงของโคลเทรนได้ผ่านระดับอารมณ์ที่หลากหลาย มีลักษณะของการหลอมรวมวัฒนธรรมต่างๆ เป็นดนตรีที่เข้าไปสัมผัสในใจทุกคนกระทั่งดิ่งลึกไปถึงเสียงคร่ำครวญ ที่ครวญออกมาผ่านแซกโซโฟนของเขา หรือแม้กระทั่งเพลงมาตรฐานทั่วไปที่เราเคยได้ยิน หากได้มาบรรเลงในแบบฉบับของโคลเทรน ผู้ฟังอย่างเราก็รู้สึกราวกับว่านั่นคือการได้ฟังเพลงนั้นเป็นครั้งแรก

เพลงของโคลเทรน จึงมีเอกลักษณ์และจิตวิญญาณอย่างเต็มเปี่ยม เปรียบเหมือนแสงสว่างที่สุดที่คุณฟังได้ ผ่านระดับเสียงแซกโซโฟนที่โดดเด่นมาก ในยุคสมัยที่ยังไม่มีใครทำระดับเสียงแบบนั้นจากแซกโซโฟนได้ และแน่นอนมันได้กลายเป็น “ต้นฉบับ” และ “มาตรฐาน” ในที่สุด

ภาพยนตร์สารคดี “Chasing Trane : John Coltrane Documentary” คือสารคดีที่เล่าเรื่องตามขนบของสารคดีแนวอัตชีวประวัติของนักดนตรี ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องราววัยเด็ก การฝ่าฟัน โอกาสของชีวิต มาสู่จุดพลิกผัน จุดตกต่ำ จุดสูงสูด การผจญภัยในอาณาเขตใหม่ๆ ไปจนถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของผลงานสร้างสรรค์ชั้นยอดที่กลายเป็น “ตำนาน”

สารคดีเดินเรื่องผ่านการบอกเล่าของบรรดาลูกๆ เพื่อนเก่าแก่ในวงดนตรี นักดนตรีรุ่นใหม่ บุคคลมีชื่อเสียงที่เป็นแฟนคลับตัวยงของโคลเทรน ซึ่งต้องยอมรับว่าสารคดีจงใจนำเสนอในแนวทางสดุดีนักแซกโซโฟนผู้ยิ่งใหญ่จนเราอาจจะเห็นเพียงมุมสว่างไสวของโคลเทรนแทบทั้งหมด จุดดำมืดเดียวที่เห็นคือ ช่วงที่เขาเสพติดเฮโรอีนจนถูกไล่ออกจากวงแจ๊ซชั้นเลิศในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นวงของดิซซี่ กิลเลสพี และไมล์ส เดวิส

Advertisement

แต่มิอาจโทษได้ว่าสารคดีไม่ได้เล่าในทุกมิติ หากแต่เพราะเรื่องราวชีวิตของ “จอห์น โคลเทรน” ถูกตัดตอนจบด้วยเหตุแห่งการที่เขามีชีวิตอยู่ถึงวัย 40 ปี ก่อนจะอำลาโลกใบนี้ไป ฝากความทรงจำต่อผู้คนผ่านผลงาน 45 สตูดิโออัลบั้ม อาทิ “Blue Train” (1957) , “My Favourite Things” (1961) และ “A Love Supreme” (1965)

อย่างไรก็ตาม ในฐานะความเป็น “ศิลปินอัจฉริยะ” ของ จอห์น โคลเทรน หนึ่งในมือแซกโซโฟนและนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊ซก็คุ้มค่าที่เราจะได้ย้อนรอยไปติดตามดูห้วงชีวิตที่ชายผู้มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงได้สร้างสรรค์ผลงานจนมีอิทธิพลต่อนักดนตรีรุ่นหลังเป็นจำนวนมาก

ชีวิตของโคลเทรนนั้นเริ่มต้นด้วยความเรียบง่ายท่ามกลางยุคสมัยทุกข์ยากของคนดำ เขาเกิดในห้วงทศวรรษที่ 20 ในเมืองเล็กๆของรัฐนอร์ทแคโรไลน่า ภายใต้บรรยากาศถูกกดขี่จาก “กฎหมายจิม โครว์” ที่เป็นกฎหมายแบ่งแยกและจำกัดสิทธิความเป็นอยู่ของคนผิวดำให้ต่ำกว่าคนผิวขาว จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ จอห์น โคลเทรน จะเติบโตมากับรากแห่ง “ดนตรีบลูส์ และแจ๊ซ” ดนตรีที่มีไว้พร้อมห่อหุ้มความเจ็บปวดของพวกเขา

Advertisement

หนังสารคดีย้อนรอยชีวิตวัยเด็กของโคลเทรน ที่เริ่มเล่นดนตรีชิ้นแรก คือ แคลริเน็ท และเชื่อว่าดนตรีคือ สิ่งเยียวยาความสูญเสียคนในครอบครัวของเขา โคลเทรนจึงยึดการเล่นดนตรีไว้แน่นราวกับสิ่งที่ปกป้องชีวิต

แต่ใช่ว่าการถูกยกย่องให้เป็นอัจฉริยะทางดนตรีของเขา จะเป็นพรสวรรค์ติดตัว แท้จริงโคลเทรนฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองอย่างมีวินัยตลอดเวลา ทำให้เขาก้าวมาสู่จุดที่เป็นมืออาชีพได้ในที่สุด

บรรดานักวิจารณ์ดนตรีต่างเห็นตรงกันว่า ในช่วงแรกเริ่มชีวิตนักดนตรีของโคลเทรนนั้น เขาอยู่ห่างไกลจากดาวจรัสแสงมาก เพราะอัลบั้มแรกของเขา (ปี 1946) สมัยที่เข้าประจำการเป็นทหารเรือ และอยู่ในวงดุริยางค์ทหารเรือเขายังเล่นแซกโซโฟนในระดับทั่วไปค่อนไปในทางไม่เก่งมากนักด้วยซ้ำ ทั้งยังเป็นการเล่นในลักษณะเลียนรูปแบบของ “ชาร์ลี พาร์คเกอร์” นักดนตรีแจ๊ซชื่อดังขวัญใจของเขา

ถึงจุดหนึ่งเมื่อฝีมือ ประสบการณ์ วินัย พรสวรรค์และพรแสวงทั้งหมดได้ประกอบร่างให้เขาเขยิบขึ้นไปอีกในฐานะ “นักสร้างสรรค์” ผู้สร้าง “ต้นฉบับ” แรกให้เดินรอยตาม

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น เราจะได้เห็นประสบการณ์ล้ำค่า ที่โคลเทรนได้ซึมซับร่วมงานกับ “ไมล์ส เดวิส” ผู้เป็นนักดนตรีแจ๊ซแถวหน้าสาย “ทดลอง” และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในยุคนั้นผ่านวง “ไมล์ส เดวิส ควินเท็ต” รวมทั้งร่วมงานกับ “ดิซซี กิลเลสพี” ผู้นำสายบีบ็อพ และโมเดิร์นแจ๊ซในช่วงทศวรรษ 40

แต่ชีวิตคนมีช่วงที่ดีที่สุดก็ย่อมมีช่วงตกต่ำที่สุด แม้จะร่วมงานกับวงแจ๊ซระดับตำนาน แต่เมื่อโคลเทรนถูกจับได้ว่าเขาเสพและติดเฮโรอีนอย่างหนัก ทั้งไมล์ส เดวิส และดิซซี กิลเลสพี ก็มิอาจให้เขาอยู่ร่วมวงได้

นักดนตรีชั้นเยี่ยมที่มีปัญหายาเสพติดหลายคนทนทุกข์ทรมาน บ้างก็ละชีวิตนักดนตรีผู้มีพรสวรรค์ไปตั้งแต่ยังหนุ่มสาว แต่โคลเทรนกลับสู่เส้นทางที่เขารักได้ทันท่วงที หลังจากใช้วิธีเลิกยาแบบหักดิบไม่ผ่านการบำบัดทางการแพทย์ โคลเทรนก็ได้กลับเข้าวงของไมล์ส เดวิส

เป็นครั้งที่สอง จะมีข้อแตกต่างอยู่บ้างตรงที่ช่วงที่สองของการเข้าร่วมวง โคลเทรนรู้ดีว่าจากนี้ “เขาคือใคร” และเขากำลังหา “เส้นทางของตัวเอง”

“ผมมีความปรารถนาที่คิดว่าเราทุกคนมี นั่นคือ การได้เป็นต้นฉบับเท่าที่เป็นได้” จอห์น โคลเทรนเคยกล่าวไว้

ในที่สุดเขาตัดสินใจออกจากวงเดวิด ไมล์ส และแสวงหาสร้างสรรค์แนวทางใหม่ให้ตัวเอง วงการดนตรีแจ๊ซอเมริกาจึงได้ยลเสียงเพลงแบบใหม่ที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะได้ยินจากดนตรีแจ๊ซ สิ่งที่อยู่ในเพลงของโคลเทรน เป็น “เสียงทางจิตวิญญาณ” ที่เข้มข้น สดใหม่ สัมผัสได้ถึงการผสมผสานดึงรวบวัฒนธรรมต่างๆมาไว้ในดนตรีของโคล เทรน

“ผมต้องทดลองต่อไปเรื่อยๆ ผมชอบดนตรีตะวันออก แอฟริกา สเปน สกอตแลนด์ อินเดีย และจีน เป็นด้านสากลของดนตรีที่ดึงผมเข้าไป และนั่นคือที่ที่ผมต้องการไป” โคลเทรนกล่าวไว้

ภาพลักษณ์ของความทะเยอทะยานทางดนตรีและต้องการจะทดลองสิ่งใหม่ของโคลเทรน ถูกฉายผ่านวง “เดอะ คลาสสิค ควอเท็ต” ที่เขาพยายามลองแนวคิดใหม่ๆ แสวงหาผู้เล่นใหม่ๆ ของใหม่ๆ ผ่านการทดลองมากมายกับผู้เล่นหลากหลาย เพื่อให้ได้กลุ่มนักดนตรีที่เขาต้องการ   เพื่อพาวงไปสู่อาณาเขตใหม่

โดยรวมภาพยนตร์สารคดี “Chasing Trane : John Coltrane Documentary” ได้พาเราไปย้อนรอยดูชีวิตของนักแซกโซโฟนผู้เป็นตำนานที่มีรูปแบบของการทำสิ่งที่เหนือความคาดหมาย และไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา

เสมือน “นักเดินทาง” ที่จะต้องเดินทางต่อไป เมื่อมาถึงเป้าหมายหนึ่งแล้ว จำต้องคิดต่อทันทีว่าจะต้องเดินทางไปไหนต่อเรื่อยๆ เพื่อผลักดันให้เขาเก่งและแกร่งขึ้น ผ่านความท้าทายมากขึ้น ราวกับมิใช่เพียงนักดนตรีที่เล่นแซกโซโฟนเท่านั้น แต่ “จอห์น โคลเทรน” ได้เล่นดนตรีกับชีวิตของตัวเองไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image