สุจิตต์ วงษ์เทศ : ความเป็นสมัยใหม่ ในเมืองร้อยเอ็ด

แนวคูเมืองร้อยเอ็ดทิศตะวันออกที่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นสมัยใหม่ (ภาพเก่าจากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด)

จ.ร้อยเอ็ด มีศูนย์กลางความเป็นเมืองอยู่ที่บึงพลาญชัย ซึ่งล้อมรอบด้วยคูน้ำคันดินโบราณ ที่ได้รับการดูแลรักษาเอาใจใส่อย่างดียิ่งจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด, กรมธนารักษ์, กรมศิลปากร

เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ดูแลรักษาความสะอาดและความร่มรื่นรวมกิจกรรมทั้งหลายต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ลงมือพัฒนาท้องถิ่นของตน

กรมธนารักษ์ ผลักดันการสงวนรักษาพื้นที่คูน้ำคันดินโบราณเมืองร้อยเอ็ดและทั่วประเทศ เพราะเป็นหน่วยราชการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากที่ดินของรัฐ แล้วมีแนวคิดอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ควบคู่กันไปได้เยี่ยมยอด

กรมศิลปากร อนุรักษ์คูน้ำคันเดินเมืองโบราณร้อยเอ็ดเป็นโบราณสถาน

Advertisement

คูน้ำคันดินของเมืองร้อยเอ็ด น่าจะทำขึ้นราวหลัง พ.ศ.1000 สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (โบราณคดีไทยมักเรียกสมัยทวารวดี) แล้วแต่งเติมเสริมต่อสืบเนื่องสมัยหลังจนเป็นรูปร่างอย่างที่เหลือให้เห็นทุกวันนี้

 

แผ่นป้ายใหญ่โตเกินความจำเป็น ปักบนแนวคันดินริมคูน้ำเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งควรลดขนาดแล้วออกแบบเรี่ยดินเพื่อนอบน้อมต่อสภาพแวดล้อมที่งดงามและร่มเย็น

ผมเคยสำรวจคูน้ำคันดินเมืองร้อยเอ็ดตั้งแต่เป็นนักเรียนโบราณคดี ราวเรือน พ.ศ.2510 เห็นการบุกทำลายแล้วถูกปล่อยปละละเลยเป็นแหล่งโสโครกน่าขยะแขยงโคตรๆ

คาดไม่ถูกคิดไม่ถึงเมื่อเห็นการพัฒนาในทิศทางที่ดีตั้งแต่หลัง พ.ศ.2540 ปัจจุบันเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่ได้รับการดูแลรักษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย (เรื่องนี้ผมเคยเขียนแสดงความคารวะหลายครั้งแล้ว และยังอยากเขียนถึงบ่อยๆ)

คุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานฯ มติชน ชวนไปเที่ยวอีสาน แต่ผมถูกสิงด้วยสันดานวัยรุ่น (60 ปีที่แล้ว) เลยลุยล่วงหน้าไปเมืองหลวงของทุ่งกุลาร้องไห้ที่ร้อยเอ็ดเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา เห็นคูน้ำคันดินมีน้ำและแมกไม้ร่มรื่นอย่างยิ่ง เป็นพยานการอยู่ร่วมกันอย่างวิเศษระหว่างเมืองโบราณกับความเป็นสมัยใหม่ในโลกไม่เหมือนเดิม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image