คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ไทยนำเทรนด์ผู้บริโภคดิจิทัล

การค้าขายผ่านช่องทาง “ออนไลน์” รุ่งเรืองสวนทุกวิกฤต แม้ไม่ใช่ทุกสินค้าจะขายได้ แต่ในภาพรวมยังโตฉุดไม่อยู่ ยิ่งในช่วงนี้ที่ผู้บริโภคเลือกใช้เวลาอยู่กับบ้านมากกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริการอย่าง “ฟู้ดดิลิเวอรี” โตอยู่แล้วยิ่งโตไปกันใหญ่

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำด้านการรับรู้ และการนำเทคโนโลยี “ดิจิทัล” มาใช้ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการซื้อสินค้าหรือบริการบนช่องทางออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง

จากการสำรวจของยักษ์โซเชียลเน็ตเวิร์กโลก “เฟซบุ๊ก” และ “เบน แอนด์ คอมพานี” ในหัวข้อ “Riding the Digital Wave: Southeast Asia’s Discovery Generation” เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำรวจกลุ่มคนจำนวน 12,965 คน ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง และนักลงทุนชั้นนำอีกกว่า 30 คน (เฉพาะในไทย มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 1,954 คน) พบว่ากลุ่มชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต มีส่วนผลักดันผู้บริโภคยุคดิจิทัลให้เติบโตขึ้นอย่างมากด้วย

โดยในปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้บริโภคดิจิทัลราว 90 ล้านคน และเพิ่มขึ้นถึง 2.8 เท่า ในปี 2561 มาอยู่ที่ 250 ล้านคน ทั้งคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 310 ล้านคน

Advertisement

ในขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์จะเติบโตถึง 4 เท่าทั่วทั้งภูมิภาค และเฉพาะในประเทศไทยจะเติบโตเกือบ 5 เท่า เป็นรองแค่เวียดนาม ทั้งยังนิยม “แชต” กับแบรนด์สินค้าต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับ 1

พฤติกรรมการค้นพบสิ่งใหม่ๆ เป็นเทรนด์ที่เด่นที่สุด

โดย 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยระบุว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าต้องการจะซื้ออะไร ขณะไล่ดูสินค้าออนไลน์ และมากกว่า 76% รู้จักผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ใหม่ๆ จากช่องทางออนไลน์

ผู้บริโภคไทยยังชื่นชอบการซื้อของจากหลากหลายช่องทาง จากการสำรวจพบว่า 90% มีการเปรียบเทียบราคาสินค้าจากทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และราคาหน้าร้านก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ทั้งพร้อมเปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ โดยเกือบ 60% ลองซื้อสินค้าจากร้านออนไลน์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในปีที่ผ่านมา ต่างจากสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนแค่ 35%

ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์ มี 3 อย่างด้วยกัน คือ 1.ยอดรีวิวสินค้าในเชิงบวกจากผู้ใช้คนอื่น 2.ราคาหรือโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจ และ 3.ความน่าสนใจของตัวผลิตภัณฑ์

ที่น่าสนใจก็คือกว่า 61% ของผู้บริโภคไทยพร้อมซื้อสินค้าทันทีโดย ไม่ต้องการรอช่วงลดราคา หรือโปรโมชั่น เรียกได้ว่าเป็นนักช้อปตัวจริง

จอห์น แวกเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร เฟซบุ๊ก ประเทศไทย บอกว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกกำลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อการซื้อขายสินค้าไม่ได้จำกัดเพียงแค่ที่ร้านค้าอีกต่อไป ขณะเดียวกันผู้คนมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง

ข้อสรุปหลักที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ คือความสำคัญของการออกแบบเส้นทางการค้นพบสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจได้จากหลายช่องทางในเวลาเดียวกัน

“ธุรกิจต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ยังได้รับโอกาสในการแข่งขันภายใต้ขอบเขตที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะทั้งในไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์และการเติบโตของธุรกิจ เนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทใดเป็นผู้เล่นหลัก และพบอีกว่า โดยเฉลี่ย ผู้บริโภคในไทยมักสำรวจข้อมูลกว่า 3 ช่องทางออนไลน์ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า

ใช่หรือไม่ว่า การครองใจผู้บริโภคในระยะยาวเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ โดยผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของแบรนด์ระบุว่ามีแนวโน้มที่จะช่วยโปรโมตสินค้ามากกว่า 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

มีถึง 40% มักจะช่วยบอกต่อสินค้าประเภทเดียวกัน อีก 20% ของคนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การทำตลาดด้วยการให้ “ราคาที่ดี มีสิทธิประโยชน์ และส่งฟรี” ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้มากขึ้นถึง 20%

ดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ตเนอร์ บริษัท เบน แอนด์ คอมพานี ย้ำว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการนำดิจิทัลมาใช้มากขึ้น และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดการซื้อขายออนไลน์ในระดับภูมิภาค โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้

แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องจับความสนใจ และแนวคิดของผู้บริโภคให้ทันเพื่อนำมาประยุกต์ให้เข้ากับแผนการตลาด และการขาย ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image