คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : 5G สู้วิกฤตโควิด-19

เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การเรียน และการทำงานจากที่บ้าน (Learn & Work From Home) สะดวกขึ้นมาก เรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผลแต่ละองค์กรแต่ละสถาบันการศึกษาต้องไปวัดผลกันอีกที แต่วิกฤตโควิด-19 ผลักดันให้ทุกคนต้องหันมาเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” โดยพร้อมเพรียงกัน

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบให้ “เลื่อนวันเปิดเทอม” ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็น 1 กรกฎาคม โดยให้แต่ละสถาบันการศึกษาดำเนินการปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น มีระบบการเรียนออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นักเรียนนักศึกษาไม่ยากเท่าไร คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้วหลังวิกฤตครั้งนี้ก็น่าจะยิ่งเชี่ยวชาญขึ้นไปอีก

เป็นมนุษย์ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

Advertisement

การทำงานจากที่บ้านทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง แต่ “ค่าไฟและค่าอินเตอร์เน็ต” สวนทางกัน

ผ่านมาเกือบเดือนหลายบ้านเริ่มบ่นเรื่องค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมาก เมื่อหักกลบลบกันแล้วค่าใช้จ่ายจะมากขึ้นหรือน้อยลงคงแล้วแต่ละครอบครัว

กลุ่มนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้หารือกับสถาบันการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการระบบสื่อสารต่างๆ ในการจัดแพคเกจอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือให้ใช้ฟรีที่ความเร็ว 4 Mbps

Advertisement

ไม่จำกัดการใช้ เพื่อให้เข้าถึงบทเรียน ทำงาน และสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้

เป็นการช่วยลดภาระเรื่องค่าใช้อินเตอร์เน็ตไปได้บ้าง

ส่วนประชาชนทั่วไป “กสทช.” ร่วมกับค่ายมือถือจัดให้เช่นกัน แต่เป็นการเพิ่มสปีดอินเตอร์เน็ตฟรี 10GB (ใช้ได้ 30 วัน) กดรับสิทธิผ่านมือถือได้ตั้งแต่ 10-30 เมษายนนี้

บริษัทเอกชนทั้งหลายก็ออกมาช่วยกันอย่างขยันขันแข็งไม่ใช่น้อย

ในฟากผู้ให้บริการระบบสื่อสาร “เอไอเอส” เป็นรายล่าสุดหลังทำประกันโควิด-19 ให้กับลูกค้า และพนักงานไปตั้งแต่ช่วงที่สถานการณ์การระบาดยังไม่รุนแรง

หนนี้ถึงกับมีวิชั่นระยะสั้น เรียกว่า “AIS 5G สู้ภัยโควิด-19”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ “เอไอเอส” ประกาศว่าจะทุ่มสรรพกำลังทั้งเครือข่ายเทคโนโลยี และพลังของ “คน” เพื่อพาคนไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้

โดยครั้งนี้ “เอไอเอส” มุ่งไปยังการนำเทคโนโลยี 5G มาสนับสนุนบริการทางการแพทย์ และงานสาธารณสุข

ด้วยว่าศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ทั้งในแง่ของ ความเร็ว (Speed) การตอบสนองต่อการสั่งงานรวดเร็ว หรือมี ความหน่วง (Latency) ต่ำ และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้หลากหลาย จึงเหมาะที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิบัติงานทางการแพทย์

“เรามีประสบการณ์การทดลองทดสอบ 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการแพทย์จึงเชื่อว่า 5G จะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมแก้ปัญหา และนำพาประเทศก้าวพ้นวิกฤต COVID-19 ไปได้”

ไม่ใช่แต่พลังสมองยังจัดสรรงบประมาณในเบื้องต้น 100 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน 3 ภารกิจเร่งด่วน ได้แก่

1.การติดตั้งเครือข่าย 5G ใน 20 รพ. ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยจะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม รพ.ใน กทม.และปริมณฑล อีก 130 รพ.ในต่างจังหวัดอีก 8 รพ. รวม 158 รพ. ภายในเมษายนนี้

2.ผลักดันนวัตกรรมการแพทย์ด้วยการตั้งศูนย์เฉพาะกิจ AIS Robotic Lab ระดมนักวิจัยนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine และโซลูชั่นงานบริการทางแพทย์ โดยทำงานร่วมกับ รพ. เพื่อให้สอดรับกับความต้องการเฉพาะของแต่ละ รพ.

และ 3.พัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G Telemedicine เวอร์ชั่นใหม่ ROBOT FOR CARE จำนวน 21 ตัว โดยจะทยอยส่งมอบให้ รพ. 20 แห่ง ที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหมอ พยาบาล

เรียกว่าใช้ความถนัดของตนเองในฐานะภาคเอกชน ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแล “Digital Infrastructure” อย่างเต็มที่

“วิกฤตครั้งนี้ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการนำประเทศชาติผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปพร้อมกันได้ ผมเชื่อในศักยภาพของคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหน้าที่ใด เราต่างมีหัวใจเดียวกันที่พร้อมช่วยเหลือและประคับประคองให้บ้านเมืองเราก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

ซีอีโอ “เอไอเอส” กล่าวด้วยว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมเจอเหมือนกันทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจแบบปกติได้และอาจส่งผลให้รายได้ไม่เป็นไปตามคาดหมาย พร้อมยกตัวอย่างกรณีการเปิดเบอร์ใหม่ของลูกค้าที่จะน้อยลง เพราะต้องดำเนินการที่ศูนย์บริการ ในทางกลับกันลูกค้าก็ปิดเบอร์น้อยลง

“เราไม่ได้ห่วงเรื่องนั้นแต่ห่วงประชาชนว่าจะไม่มีแรงจับจ่ายมากกว่า ยิ่งสถานการณ์ลากยาว ก็ยิ่งมีผลกระทบมาก”

มากไปกว่านั้น วิกฤตครั้งนี้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนรวดเร็วมาก มีการเปิดรับการใช้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” มากขึ้นมากทำให้ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” เกิดได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้จึงเป็นโอกาสของสารพัดบริการดิจิทัล

ในทุก “วิกฤต” จึงมาพร้อม “โอกาส”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image