คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : บันทึกฝ่าวิกฤต

ประชาชนออกมารับข้าวสารอาหารแห้งที่ผู้ใจบุญนำมาช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดโควิด-19

คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : บันทึกฝ่าวิกฤต

ข้อดีของการเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ต่างๆ เป็นเวลานานๆ คือ การได้บันทึกบทเรียน

บทเรียนแห่งความอยู่รอด

เพราะทุกวิกฤตที่ต้องเผชิญหน้า เรามักจะได้รับบทเรียนจากวิกฤตนั้นเสมอ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โลกใบนี้ได้บันทึกเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ เอาไว้

Advertisement

รวมถึงบันทึกความอยู่รอดจากวิกฤตนั้นๆ ไว้ด้วย

บันทึกเหล่านั้นสามารถนำมาเป็นบทเรียน คนรุ่นต่อไปได้อ่าน สามารถนำมาเป็นแนวทางเพื่อความอยู่รอดต่อไปได้

วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ก็เช่นกัน

เริ่มมีผู้บันทึกหลากหลายเรื่องราวเอาไว้แล้ว

วิกฤตการณ์ครั้งนี้ใครๆ ก็ล้วนตกอยู่ในอันตราย

ทางหนึ่ง คือ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะไวรัสที่ระบาด เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ติดง่าย และเมื่อป่วย ก็มีโอกาสเสียชีวิต

อีกทางหนึ่ง คือ เป็นอันตรายทางเศรษฐกิจ เพราะการระบาดของไวรัสทำให้เกือบทุกธุรกิจต้องหยุดนิ่ง

ทำให้รายได้ที่เคยมี กลับกลายเป็นไม่มีไปในทันที

ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบ ลูกจ้างในธุรกิจนั้นๆ ก็ได้รับผลสะเทือน

ลูกจ้างบางคนต้องหยุดทำงาน บางคนต้องลดรายได้ ชีวิตต้องพึ่งพิงระบบสวัสดิการของรัฐ

แต่ในจำนวนนี้ มีบางธุรกิจยังยืนหยัดต่อสู้

เมื่อไม่นานมานี้ โครงการ SPACE by Chulalongkorn Businness School ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้ศึกษาแนวทางการต่อสู้ต่างๆ

แล้วสรุปบันทึกการปรับตัวของธุรกิจในวิกฤต โควิด-19 เอาไว้เป็นข้อๆ

ผลการศึกษา พบรูปแบบการปรับตัวของธุรกิจในช่วงนี้ 8 รูปแบบด้วยกัน

รูปแบบที่หนึ่ง คือ การช่วยหางานใหม่ให้พนักงาน

ยกตัวอย่าง เครือเซ็นทรัลที่โยกพนักงานจากบริษัทในเครือที่่ต้องหยุดให้บริการ เช่น ร้าน B2S ร้าน Powerbuy ไปช่วยงาน ท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต แทน

งานใหม่ที่พนักงานโยกไปทำก็ต้องหางานที่คล้ายของเดิม เพื่อให้เรียนรู้ได้เร็ว

รูปแบบที่สอง คือ การปรับโมเดลธุรกิจ

อาทิ Smiling Tuk Tuk เคยบริการทัวร์แบบไพรเวท

บริการนักท่องเที่ยว โดยให้คนขับรถตุ๊กตุ๊กพาไปแวะตามที่ต่างๆ

ตอนนี้นักท่องเที่ยวไม่มีแล้ว บริษัทจึงหันมาบริการ Delivery แทน

ใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ ใช้เครือข่ายเดิมที่เคยมี

ชูจุดเด่นของรถตุ๊กตุ๊กที่สามารถขนส่งสินค้าปริมาณ และมีขนาดใหญ่ได้

เปิดเป็นบริการ Delivery ให้ลูกค้า

สาม คือ รูปแบบการหารายได้ปัจจุบันจากลููกค้าในอนาคต

มีตัวอย่างจาก Wongnai ที่ร่วมกับร้านอาหารบน Platform ออก Gift Voucher

ใช้ข้อความสื่อสารว่า เพราะเรารอได้ … แต่ร้านอาหารอาจจะรอไม่ได้

ซื้้อ Voucher วันนี้้ เพื่่อช่วยกันสนับสนุุนร้านโปรดของคุุณ

คููปองมีอายุุ 1 ปี ใช้ได้ถึงเดือนเมษายน 2564

รูปแบบนี้ บริษัทการบินอย่าง แอร์ เอเชีย ก็ใช้

เปิดให้จองตั๋วล่วงหน้า เพื่อไปเที่ยวเอาตอนปลายปี

รูปแบบที่สี่ เป็นการผลิตสินค้าใหม่ที่่เหมาะกับวิกฤต

มีตัวอย่างจาก Issue ที่ออกสินค้าที่เหมาะกับวิกฤต เช่น หมวก Face Shield

ห้า คือ การสร้างความร่วมมือใหม่

มีตัวอย่าง จาก โฮสเทล Once Again ย่านสำราญราษฎร์

พวกเขาสร้าง Platform ชื่อ Locall.bkk ขึ้นมาเพื่อขายอาหารและขนม

ทำงานร่วมกับคนทั้งซอยสำราญราษฎร์

รวมมือกับเพื่อนบ้าน ย่านประตูผี ย่านเสาชิงช้า

เปิดรับ Order ผ่าน Line และจ่ายเงินผ่าน QR Code มีทีมวิ่งจัดส่งเอง

ใช้พนักงานเป็นทรัพยากร ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีช่วยสร้าง Platform ไลน์ และการชำระเงินผ่าน QR Code

ร่วมมือกับร้านค้าในชุมชนให้อยู่รอดไปด้วยกัน

รูปแบบที่หก เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้

รูปแบบนี้ สวนสนุก Sanrio Puroland นำมาใช้

สวนสนุกดังกล่าวมีตัวละครหลักๆ เช่น Kitty, My Melody, Little Twin Stars เป็นตัวชูโรง

แต่สวนสนุกต้องหยุดให้บริการเพราะโควิดระบาด

บริษัทจึงตัดสินใจทำคลิปลง Youtube

เป็นคลิปการ์ตูนแสดงความคิดถึงแฟนคลับ

และยังผลิตคลิปโฆษณาบอกกล่าวว่า พนักงานของสวนสนุกยังทำงานรอคอยลูกค้า

ปรากฏว่า เพียง 2 สัปดาห์ มีผู้เข้าชมคลิปโฆษณาใน Youtube ดังกล่าวกว่า 5 แสนคน

คนเข้าไปดูมากขนาดนั้น แสดงว่าพวกเขาก็คิดถึงสวนสนุกดังกล่าวเหมือนกัน

เป็นการสร้างความประทับใจ และตอกย้ำแบรนด์ไปในตัว

รูปแบบที่เจ็ด เป็นการปรับสินค้าเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์

รูปแบบนี้ SCG เป็นตัวอย่างที่ดี

ใช้เทคโนโลยีสร้างบ้าน SCG Heim มาสร้างห้องตรวจและคัดกรองโควิด-19

สร้างเสร็จห้องตรวจและคัดกรองบริจาคให้โรงพยาบาล 7 แห่ง

นวัตกรรมการสร้างบ้ายของ SCG ช่วยให้ประกอบห้องตรวจเสร็จ ภายใน 3 วัน

ห้องที่สร้างปิดสนิท มีเทคโนโลยีคุมความดันอากาศ ใช้ UV ฆ่าเชื้อโรค

ผลผลิตของ SCG หมอพยาบาลนำไปใช้

ตอกย้ำให้คนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการก่อสร้างของ SCG มากขึ้น

และยังทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีงามอีกด้วย

รูปแบบสุดท้าย คือรูปแบบที่แปด เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับ การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในช่วงวิกฤต

ถ้าเป็นโรงแรม อาจใช้เวลานี้ รีโนเวทห้องพัก

หากเป็นบริษัททัวร์ อาจกระตุ้นให้พนักงานศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

ช่วยกันออกแบบโปรแกรมทัวร์ใหม่เพื่อนำมาใช้หลังวิกฤต

หรือ ถ้าเป็นสวนสนุก อาจนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ ปรับปรุงการให้บริการ

เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นผลการศึกษาของโครงการ SPACE

เป็นรูปแบบที่ธุรกิจปรับตัวสู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น

เป็นความพยายามที่ทำให้หลายชีวิตอยู่ได้

จึงกลายมาเป็นบันทึก เพื่อเป็นบทเรียนในการดำรงอยู่

เป็นบันทึกแห่งความอยู่รอดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image