คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : แกะรอย ‘Itaewon Class’ กับ 3 จุดเด่นที่ทำให้เป็นซีรีส์เกาหลียอดฮิต

ภาพประกอบ Netflix

ทราบกันดีถึงอิทธิฤทธิ์ของซีรีส์เกาหลีที่มัดใจคนดูในระดับสากลอย่างมากมานานนับทศวรรษ แต่ละปีจะมีซีรีส์เกาหลีที่กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เกิดขึ้นเสมอ ในบ้านเราคุ้นชินกันดีถึงกระแสซีรีส์ใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างกระแสมาแล้วผ่านไปให้คนจดจำพูดถึง การถอดรหัสวิเคราะห์ซีรีส์เกาหลีกลายเป็นกรณีศึกษาในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการรวบรวม “หมัดเด็ด” ที่ซีรีส์เกาหลีมักจะสร้าง “แพตเทิร์น” ทำให้คนดู “อิน” และ “ติดใจ” จนกลายเป็น Soft Culture อันแสนคลาสสิก ที่พัฒนาตามยุคสมัยในการดึงผู้คนให้อินไปกับเรื่องราว บรรยากาศ สถานที่ อาหาร รูปแบบการใช้ชีวิต แฟชั่น ท่วงท่า สิ่งเหล่านี้สร้างรายได้ให้เกาหลีใต้มาหลายสิบปีมานี้

หนึ่งในความสำเร็จของซีรีส์เกาหลีเรื่องที่ฮิตมากๆ นั้น มักจะมาจากการเขียนบทเล่าเรื่องที่รัดกุม กล้าเสนอมุมมองและเล่าเรื่องเปิดประเด็นใหม่ๆ ไปจนถึงการสร้างมิติให้ตัวละครไม่ดูแบนราบ ชัดเจนว่าการสร้างละครเกาหลีเรื่องหนึ่งๆ ให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล นอกจากจะได้เรตติ้งคนดูในเกาหลีใต้เอง ยังเรียกความนิยมจากชาวต่างชาติได้มากขึ้นจนซีรีส์เกาหลีเป็นหนึ่งใน “สินค้าทางวัฒนธรรม” ของเกาหลีใต้ไปในที่สุด และแท้จริงซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องสร้างโดยมีเป้าหมายทางการตลาดในระดับสากลจนดูเป็นเรื่องปกติและแสนง่ายของละครเกาหลีไปแล้ว

ในช่วงที่ผู้คนรับชมคอนเทนต์ความบันเทิงในแบบสตรีมมิ่งกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในยุคไวรัสโควิด-19 ระบาดนานนับเดือน หนึ่งในซีรีส์เกาหลีที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดเวลานี้ คือ Itaewon Class หรือในชื่อภาษาไทย “ธุรกิจปิดเกมแค้น” ซึ่งเป็นซีรีส์อีกหนึ่งเรื่องโด่งดังและตอกย้ำว่าเกาหลีใต้ยังคงผลิตสินค้าวัฒนธรรมออกมาถูกใจตลาดได้สำเร็จ

Itaewon Class คืองานรีเมกจากเว็บตูนของเกาหลี สร้างในนามซีรีส์ Original ของ Netflix เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มที่มีคาแร็กเตอร์เฉพาะทางชื่อ “พัคแซรอย” ที่มีชะตาชีวิตพลิกผัน หลังพ่อเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ตัวเขาเองต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมต่างๆ นานา ติดคุก ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ ชีวิตวัยรุ่นกลายเป็นแรงงานกรรมกรบนเรือประมงอยู่หลายปี ชะตากรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเขามีเรื่องบาดหมางกับตระกูลธุรกิจร้านอาหารอันดับหนึ่งในเกาหลีใต้

Advertisement


“พัคแซรอย”
ใช้ความแค้นที่ฝังลึกตั้งแต่ช่วงติดคุก วางเป้าหมายชีวิต และเดินหน้าอย่างไม่ย่อท้ออยู่หลายปี ผลักดันสร้างตัวเองขึ้นมาจากศูนย์เพื่อขึ้นมาต่อสู้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มเพื่อนฝูงหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มาร่วมทีมสานฝันกับเขาเปิดร้านอาหารขึ้นในย่านอีแทวอนในกรุงโซล

เรื่องราวในซีรีส์ดำเนินในช่วง 15 ปี ของจุดเริ่มต้นความแค้นและเส้นทางขวากหนามของ “พัคแซรอย” ที่งัดข้อกับตระกูลธุรกิจใหญ่ มีการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบทางธุรกิจกันทั้งสองฝ่าย โดยมีเส้นเรื่องที่ทำให้เราเห็นความมุ่งมั่นของชายคนหนึ่งที่ต้องการเอาชนะสิ่งที่ยากที่สุด พร้อมกันนั้นก็เล่าเรื่องคู่ขนานไปกับความรัก ความสัมพันธ์ที่เขามีต่อผู้คนรอบข้าง

Advertisement

ประเด็นสำคัญที่ซีรีส์เรื่องนี้สร้างพลังต่อคนดูได้มาก มี 3 จุดเด่นหลัก คือ หนึ่ง – ตัวละครหลัก “พัคแซรอย” ที่มีมิติอย่างมากในการพาเรื่องราวขับเคลื่อนไปข้างหน้า นอกจากบุคลิกคาแร็กเตอร์ รวมทั้งทรงผมที่มีเอกลักษณ์ จุดดึงดูดสำคัญคือตัวละครนี้มีความเชื่อระดับ “ยึดมั่น” ในเป้าหมายใหญ่ระยะไกลชนิดไม่แปรเปลี่ยน มีความทะเยอทะยานในชีวิตใช้ “ความแค้น” “พลังลบ” “ความเศร้า” มาขับเคลื่อนชีวิต จากคนที่มีชีวิตติดลบทำงานแบกหามจนเริ่มสร้างธุรกิจเล็กๆ ล้มลุกคลุกคลานต่อสู้จนขึ้นสู่ตำแหน่งนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

ในช่วงต้นเราจะเห็นตัวละคร “พัคแซรอย” เป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการร้านอาหารที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและผู้คนรอบข้าง มีความเป็นผู้นำที่น่ายกย่อง แม้จะดูสวนทางในโลกจริงว่านักธุรกิจลักษณะนี้จะสร้างธุรกิจขึ้นมาต่อกรกับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นทุนใหญ่ครองตลาดได้อย่างไร แต่ซีรีส์ก็วางโครงเรื่อง “ตัวช่วย” ให้ “พัคแซรอย” ต่างๆ นานา พร้อมกันนั้นในช่วงท้ายเราก็ได้เห็นว่า “โลกของทุน” ที่สุดก็มิอาจปฏิเสธได้ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ยังเป็นเรื่องที่คลาสสิกในแง่การทำธุรกิจเพื่อประสบความสำเร็จในระดับวงกว้าง


สอง – การเล่นกับความแตกต่าง
ซีรีส์หยิบจับเรื่องราวที่ไม่ได้รับการยอมรับแพร่หลายในเกาหลีมานำเสนอไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ย่านอีแทวอน มาเป็นสัญลักษณ์ความแตกต่าง เพราะย่านอีแทวอนในอดีตเป็นย่านที่เที่ยวกลางคืนยอดนิยมของชาวต่างชาติตั้งแต่ยุคทศวรรษ 60-70 ซึ่งขณะนั้นคนเกาหลีทั่วไปจะไม่มาละแวกนี้ ถือเป็นย่านกลางคืนที่มีเอกลักษณ์พิเศษตั้งแต่อดีต เพราะเป็นที่รวมความ “แตกต่าง” ที่สวนทางกับสังคมอนุรักษนิยม จนถูกตีตราเป็นย่านอโคจร เพราะมีทั้งกลุ่มเพศที่สาม หญิงขายบริการ ไปจนถึงแหล่งรวมชาวต่างชาติในเกาหลี แต่ปัจจุบันอีแทวอนเป็นย่านธุรกิจการค้า ย่านแฮงก์เอาต์ชื่อดังย่านหนึ่งในกรุงโซล มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมาก ซึ่งเรื่องราวในซีรีส์ Itaewon Class ได้สร้างคาแร็กเตอร์ตัวละครที่มีเอกลักษณ์เข้ามาเป็นทีมตัวละครหลักเพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มเพศที่สาม ชาวต่างชาติบางชาติพันธุ์ที่ถูกเหยียด ไปจนถึงนักเลงหัวไม้ที่กลับใจมาทำงานหาเลี้ยงชีพสุจริต ไปจนถึงเด็กวัยรุ่นที่ปฏิเสธการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันยังสอดแทรกแนวคิดความแตกต่างการทำธุรกิจระหว่างวัยของคน 3 เจเนอเรชั่น ตั้งแต่นักธุรกิจยุค Baby Boomer นักธุรกิจเจน Y และนักธุรกิจที่เป็นคนรุ่นใหม่เจน Z

สาม – เล่าเรื่องที่มีอรรถรสด้วยวิธีการ “คู่ตรงข้ามแบบสุดขั้ว” ซีรีส์ปูเรื่องดราม่าของการขับเคี่ยวเพื่อเอาชนะทางธุรกิจโดยสร้างขั้วตรงข้ามให้ตัวละครตั้งแต่การต่อสู้แบบมวยรอง การต่อสู้ระหว่างความยากจนกับร่ำรวยโดยมีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน การต่อสู้ของผู้เฒ่ามากประสบการณ์กับเด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่น ไปจนถึงการสร้างคาแร็กเตอร์ความดี ความชั่วแบบชัดเจนเพื่อสาแก่ใจคนดู

และทีเด็ดที่ทำให้คนดูจับใจและต้องจดจำ คือการสร้างคาแร็กเตอร์หญิงสาวสองคนที่อยู่เคียงข้าง “พัคแซรอย” ให้มีมิติที่คนดูจะหลงรักตัวละครทั้งสองแบบรักพี่เสียดายน้อง โดยตัวละครหญิงสาวทั้งสองคนนั้นก็มีทั้งหน้าตา บุคลิกภาพ นิสัยและพฤติกรรมที่ต่างกันสุดขั้ว

ยังมีรายละเอียดเสริมประกอบอีกมากมายที่สร้างเสน่ห์และอรรถรสให้ซีรีส์เรื่องนี้ แม้จะมีจุดที่เล่าเรื่องอืดและยืดไปบ้างช่วงท้ายเรื่อง แต่การวาง 3 จุดเด่นภาพใหญ่นี้ ทำให้ซีรีส์ “Itaewon Class” ถูกจริตคนดูจนถูกพูดถึงกันแบบปากต่อปาก พ่วงด้วยกิมมิคเมนูอาหารเกาหลีอย่าง “ซุปเต้าหู้อ่อน” หรือ “ซุนดูบูจิเก” และ “ซอสโคชูจัง” กลายเป็นอาหารและวัตถุดิบยอดนิยมในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image