คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : อย่าให้ ‘โควิด’ เป็นผู้คุม

ยังอยู่ในบรรยากาศของโควิด-19 ระบาดกันต่อไป

อยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เหมือนติดคุก

แม้จะไม่มีใครมากักขัง แต่รู้สึกว่าการไปไหนมาไหนในขณะนี้ไม่สะดวก

ไม่สะดวกเพราะไม่ทราบว่า ณ จุดที่จะไปนั้นจะติดเชื้อหรือไม่

Advertisement

ตอนนี้ทั่วโลกจึงถูก “ผู้คุม” ที่ชื่อ “โควิด” กักตัวไว้

หลายประเทศแรกๆ ก็ไม่ยอม แต่เมื่อประชาชนติดเชื้อมากๆ สุดท้ายก็ต้องยอม

โควิดระบาดจึงเหมือนกับธรรมชาติลงโทษ

Advertisement

ลงโทษที่ไปทำสิ่งที่ผิดธรรมชาติ

กระทั่งเกิดเชื้อโรคที่ “อุบัติใหม่”

เชื้อโรคที่ร่างกายไม่มีภูมิต้านทาน เมื่อติดเชื้อก็ป่วย

หลังจากป่วยก็มีโอกาสเสียชีวิต

ทำให้มนุษย์ต้องขังตัวเองอยู่ในบ้าน ต้องหยุดการไปท่องเที่ยว

ระมัดระวังการดื่มกินและอื่นๆ มากมาย

ในขณะนี้ คนที่อยู่อย่างสบายใจ คือคนที่สามารถ “คุมตัวเอง” ได้

มีวินัย สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ใช้ช้อนส่วนตัว กินอาหารปรุงร้อน อยู่ห่างคนอื่น 2 เมตร

พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ ที่แพทย์และพยาบาลแนะนำ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมิให้ไวรัสอุบัติใหม่เข้าสู่ร่างกายได้

ถ้า “คุมตัวเอง” ได้ก็ปลอดภัย

สำหรับคนที่ “คุมตัวเอง” ไม่ได้ รัฐมีมาตรการเข้ามาควบคุม

การประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินแล้วประกาศเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น.

ต่างประเทศประกาศหนักระดับ สั่ง “ล็อกดาวน์” บังคังให้ทุกคนอยู่ในบ้าน

ถือเป็นมาตรการที่ “รัฐ” เข้ามาควบคุม

ใครฝืนกฎของรัฐ ถือว่าทำผิดกฎหมาย ในที่สุดต้องถูกคุมขัง

การ “คุมตัวเอง” เพื่อมิให้ “ถูกควบคุม” นี้ ในภาวะปกติก็มีเหมือนกัน

คนที่ “คุมตัวเอง” ได้ ดูแลตัวเองให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ชีวิตก็ราบรื่น

ส่วนคนที่ไม่สามารถทำได้ จนก้าวล่วงไปละเมิดสิทธิคนอื่น เช่น ไปทำร้ายร่างกาย ไปต้มตุ๋นหลอกลวง ไปเข่นฆ่า และอื่นๆ

ในที่สุดก็ต้องถูกควบคุม

ยิ่งในสถานการณ์ที่ “ไม่ปกติ” เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 การควบคุมตัวเองยิ่งมีความจำเป็น

ยกตัวอย่าง ในสถานการณ์โรคโควิดระบาด ถ้าสามารถคุมตัวเองให้อยู่ในคำแนะนำทางสาธารณสุขได้

โอกาสที่ตัวเองปลอดภัยย่อมมีสูง โอกาสที่ตัวเองจะไม่เป็นพาหะนำโรคไปเติดผู้อื่นก็มีมาก

นั่นเป็นความปลอดภัยในชีวิต

การคุมตัวเองได้ยังจะนำมาซึ่งความปลอดภัยในทางเศรษฐกิจ

เพราะแม้ทั่วโลกจะต้องล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นเหตุให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก

ผู้คนขาดรายได้ รัฐต้องใช้งบประมาณมหาศาลมาเลี้ยงคน

ล่าสุด WHO หรือองค์การอนามัยโลก มีข้อแนะนำ 6 ข้อ สำหรับประเทศที่ต้องการปลดล็อกดาวน์แล้ว

ข้อแนะนำดังกล่าว ประกอบด้วย หนึ่ง ควบคุมการระบาดของโรคได้ สอง สามารถตรวจหาผู้ป่วย หาเชื้อ แยกตัว รักษา และสอบสวนโรค

สาม มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา

สี่ โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณสุขต่างๆ ต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ

ห้า จัดการความเสี่ยงจากผู้เดินทางเข้าประเทศได้

และ หก คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค

เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีข้อเสนอ 5 ข้อทางการแพทย์

ประกอบด้วย หนึ่ง เพิ่มความเข้มในมาตรการสาธารณสุข สอง ทำให้ทุกคน ทุกสังคม และทุกพื้นที่เข้าใจ และปฏิบัติตามมาตรการทางสุขลักษณะ

สาม เปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า โดยมีการประเมินความเสี่ยงองค์กรธุรกิจ และอุตสาหกรรม

ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยง ต้องปรับให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

วิธีการ เช่น ตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย ลดการใช้เสียง เพิ่มการระบายอากาศ การลดจำนวนผู้ติดต่อ โดยใช้การประชุมทางไกล เข้ามาช่วย เป็นต้น

สี่ ปิดแหล่งแพร่โรคที่สำคัญบริการ เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศ สนามการพนัน

และห้า มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์การแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

มาตรการเหล่านี้ จังหวัดไหน ร้านค้าไหน ทำได้ ก็ปลดล็อกดาวน์ได้

สรุปก็คือ ถ้าสามารถ “คุมตัวเอง” ได้ ก็ทำการค้ากันได้

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ทั้งโลกตกอยู่ภายใต้การระบาดของ “โควิด” ไปไหนมาไหนเหมือนมี “ผู้คุม” เฝ้ามอง

เราน่าจะคุมตัวเองดีกว่าปล่อยให้ใครมาควบคุม

คุมตัวเอง ด้วยมาตรการทางสาธารณสุข

ป้องกันมิให้ไวรัสเข้าร่างกาย และส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโควิด

คุมธุรกิจตัวเอง ด้วยมาตรการทางสาธารณสุข

เน้นความสะอาด เน้นความปลอดเชื้อ ทำให้ร้านโล่งโปร่ง กำหนดระยะห่างบุคคล 1 เมตร

ทำเช่นนี้ได้ ธุรกิจการค้าก็เริ่มขับเคลื่อนได้

และถ้าคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การค้าสามารถดำรงอยู่

แม้โควิดจะอยู่ต่อยาวนานแค่ไหนก็ไม่สำคัญแล้ว

เพราะเรา “การ์ดสูง” สามารถคุมตัวเองได้ โดยไม่ต้องให้ “โควิด” มาเป็นผู้คุม เหมือนเช่นทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image