ย่ำไปในดงเพลง : Streets of London เพลงของคนอีกชนชั้น โดย เขบ็ดหัวโต

ย่ำไปในดงเพลง : Streets of London เพลงของคนอีกชนชั้น : โดย เขบ็ดหัวโต

ย่ำไปในดงเพลง : Streets of London เพลงของคนอีกชนชั้น : โดย เขบ็ดหัวโต

1960 คือยุคแห่งการ “แสวงหา” ของบรรดาคนหนุ่มสาวในสังคมตะวันตก

ค่านิยมดั้งเดิมที่เคยยึดถือกันมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกทั้งสองครั้งถูกตั้งคำถาม

ระบบการเมืองและโลกที่ตึงเครียดเพราะการแข่งขันกันขึ้นเป็นจักรวรรดิใหม่ของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตถูกตั้งคำถาม

Advertisement

สงครามทั้งในระดับภูมิภาค และสงครามเย็นในระดับโลกถูกตั้งคำถาม

ฯลฯ

ดนตรีและศิลปะที่เป็นผลผลิตของยุคสมัยก็สะท้อนค่านิยมและรสนิยมที่เปลี่ยนไป

Advertisement

“สังคมนิยม” เป็นหนึ่งในอุดมการณ์และค่านิยมใหม่ของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

เพราะถึงจะไม่เห็นด้วยกับแนวทาง “จักรวรรดินิยม” ของโซเวียต

แต่ก็ให้คุณกับความเสมอภาค ความเท่าเทียม และมนุษยนิยม

ราล์ฟ แมคเทล ผู้แต่ง Streets of London ก็ได้รับอิทธิพลแห่งยุคสมัย

เกิดในลอนดอนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1944

ชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก และมี Woody Guthrie นักดนตรีโฟล์ก-นักเพลงเพื่อชีวิตของสหรัฐอเมริกาเป็นขวัญใจ

ถึงได้ยึดเอาดนตรีโฟล์คเป็นแนวทางและอาชีพมาตั้งแต่หนุ่มจนปัจจุบัน

และเหมือนวัยรุ่นตะวันตกอีกจำนวนมาก ที่เมื่อจบมัธยมปลายแล้วออกเดินทางตระเวนหาประสบการณ์ ก่อนจะเลือกเส้นทางชีวิตว่าจะเรียนต่อแขนงไหน หรือทำอะไรดี

แมคเทลเลือกตระเวนเดินทางไปทั่วยุโรป

และได้แรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้เมื่อผ่านปารีส

เพราะเห็นชีวิตและความทุกข์ของคนจนคนไร้บ้าน ในช่วงที่ยุโรปยังฟื้นตัวกลับจากสงครามไม่เต็มที่

และมีคนถูกทอดทิ้งหรือตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทันอยู่จำนวนมาก

ถึงจะเขียนเพลงเกี่ยวกับคนจน คนด้อยโอกาส โดยมีแรงบันดาลใจจากต่างแดน

แต่ฉากที่อยู่ในใจของแมคเทลคือลอนดอนบ้านเกิด

ถึงขั้นที่ตอนแรกจะตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Streets of Paris

แต่เพราะคิดถึงฉากในใจอย่างที่ว่า จึงเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น Streets of London

และเพราะอีกอย่างหนึ่งตอนนั้นมีเพลงชื่อ The Poor People of Paris อยู่แล้ว

ถึงเพลงนั้นจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคนยากไร้เลยก็ตาม

แมคเทลแต่งเพลงนี้เมื่อปี 1967 แต่วางจำหน่ายเพลงเมื่อปี 1969 ในอัลบั้ม Spiral Staircase

แต่กว่าจะตัดออกมาเป็นแผ่นซิงเกิลก็ปาเข้าไปปี 1974

ถึงอย่างนั้นความนิยมก็ไม่ได้หายไปไหน

เพลงขึ้นถึงอันดับ 2 ของ UK Chart และเพียงวันแรกก็ทำสถิติขายซิงเกิลได้ 90,000 แผ่น

มีศิลปินกว่า 200 คน ซื้อลิขสิทธิ์เพลงนี้ไป cover

และยังไม่จางหายไปจากใจคนฟัง

ปี 2017 แมคเทลขึ้นเวทีคอนเสิร์ตกับ Annie Lennox ให้มูลนิธิ Crisis ที่ตั้งขึ้นมาอนุเคราะห์คนไร้บ้านในอังกฤษ เป็นการฉลองครบรอบ 50 ปี ทั้งของเพลงนี้และของมูลนิธิ

ซีดีการแสดงสดของทั้งคู่ขายได้มากเป็นอันดับหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปี 2017

เชื่อว่าคนที่เล่นกีตาร์โปร่ง (โดยเฉพาะหลังยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่เสรีภาพเบ่งบาน อิทธิพลเพลงโฟล์กและเพลง “แสวงหา” ทั้งหลายก็เบิกบาน) แล้วจะไม่เคยหัดหรือไม่เคยเล่นเพลงนี้เห็นจะไม่มี

ไม่ว่าใครก็ขึ้นต้นเพลงว่า

Have you seen the old man in the closed down market
Picking up the papers with his worn out shoes
In his eyes you see no pride and hanging loosely at his side
Yesterdays paper, telling yesterdays news

So how can you tell me you’re lonely
And say for you that the sun don’t shine
Let me take you by the hand and lead you through the streets of London
I’ll show you something to make you change your mind

ได้ทั้งนั้น

ที่พิเศษก็คือ กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แมคเทลแต่งเนื้อให้เพลงนี้เพิ่มขึ้นมาอีกท่อน

ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส

In shop doorways, under bridges, in all our towns and cities
You can glimpse the makeshift bedding from the corner of your eye
Remember what you’re seeing barely hides a human being
We’re all in this together, brother, sister, you and I.

ที่นึกถึงเพลงนี้ขึ้นมา เพราะเห็นภาพคนอดอยาก คนตกงาน คนได้รับความทุกข์แสนสาหัส

ในช่วงที่โรคระบาดกำลังแพร่อยู่ในสังคมไทย

และขณะที่เพื่อนร่วมสังคมส่วนหนึ่งพยายามหาทางช่วยเหลือ เท่าที่กำลังและความสามารถจะทำได้

หรือช่วยกันเรียกร้องมาตรการเยียวยาที่ทั่วถึง เท่าเทียม พอเพียง และทันเวลากว่านี้จากรัฐ

ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อ “คำสั่ง” การปิดกิจการ ปิดเมือง

ที่ตัดวงจรอาชีพ ปิดช่องทางทำมาหากินของคนจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนตัวเล็กตัวน้อย

ก็ยังอุตส่าห์มีคนอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นใจ ไม่ตระหนักในทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน

ไม่เข้าใจไม่เท่าไหร่ ยังตั้งแง่เอากับคนตกทุกข์ได้ยากและคนที่ออกมาช่วยกันเรียกร้อง “สิทธิ” ด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยมีสภาพเป็น “สังคมซอมบี้”

ไล่กัดกินคนด้วยกันเอง

เพราะไม่คิดว่าอีกฝ่ายเป็นคนเหมือนตัวเอง

สงสัยอยู่ว่า ถ้าแมคเทลออกจากอังกฤษมาเมืองไทยวันนี้ เขาจะเขียนเพลง Streets of Bangkok ออกมาว่าอย่างไร

จะมีคนฟังแล้วอกแตกตายไหม

สงสัยจริงๆ

Streets of London – Ralph McTell
https://www.youtube.com/watch?v=DiWomxklfv8

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image