คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : รูปแบบชีวิตวิถีใหม่หลังโควิด-19

REUTERS/Thomas Peter

หลังโควิด-19 ไม่ว่าเราจะเริ่มนับหนึ่งกันเมื่อไร เชื่อว่าทุกสิ่งจะไม่เหมือนเดิม ทั้งในแง่การดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิต

“ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ไม่ได้หายไปไหน แต่มี “โควิด” เป็นตัวเร่งให้เปลี่ยนเร็วขึ้น “มายด์แชร์” มีเดียเอเยนซี่ในเครือกรุ๊ปเอ็มจึงจัดทำงานวิจัย “The New Norms-How Life Will Unfold After COVID-19” การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในสังคมหลังวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19

นางสาวณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนธุรกิจ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่า นักการตลาดและแบรนด์ต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่จะมีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต

เพราะดิจิทัลจะไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แต่จะเป็นชีวิต โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานแบบประปา ไฟฟ้า เทรนด์ “ไอโอที” จะได้รับความนิยมมากขึ้น โดย “ดิจิทัล” จะผสานเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คน

Advertisement

งานวิจัยชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคแบ่งได้เป็น 7 รูปแบบ คือ 1.Reverse Globalization การพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น เห็นได้จากช่วงที่จีนปิดประเทศทำให้ทั่วโลกเกิดภาวะสินค้าบางประเภทขาดตลาด เนื่องจากฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่จีน แบรนด์และผู้บริโภคจึงเริ่มตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีความสามารถในการผลิตภายในประเทศและภายในครัวเรือนมากขึ้น

“เราคาดว่าแบรนด์ข้ามชาติยังจะผลิตเพื่อตลาดระดับโลก แต่จะเริ่มสร้างการผลิตในท้องถิ่นและกระจายหาแหล่งต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้พึ่งพาแค่ประเทศเดียวอีกต่อไป”

เทรนด์ถัดไปคือ Digital Takeover แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โควิด-19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคเปิดใจรับ “ดิจิทัล” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนปรับเข้าสู่การใช้ “ดิจิทัล” ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ, ธุรกรรมออนไลน์, การสั่งอาหารผ่านแอพพ์ดิลิเวอรี รวมถึงการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงรูปแบบต่างๆ ในช่วงที่ไม่สามารถจัดอีเวนต์ได้ เช่น กูเกิลร่วมกับพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์ออนไลน์

Advertisement

“ดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานการใช้ชีวิตของผู้บริโภค เช่นเดียวกับสังคมไร้เงินสดที่จะมีบทบาทมากขึ้น เพราะคนกังวลว่า เชื้อโรคอาจปะปนมากับ เงินสดได้ หากพัฒนาให้การชำระเงินเป็นแคชเลสเปย์เมนต์ได้ก็จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้”

ภาพโดย My pictures are CC0. When doing composings: จาก Pixabay

การเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ 3 คือ Emergence of Big Data คำว่า “บิ๊กดาต้า” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว หน่วยงานรัฐ และเอกชนมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประมวล “ข้อมูล” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการจัดการเรื่องการติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาด และความพยายามในการเพิ่มยอดขาย หากประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะขยายฐานผู้บริโภคได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต

4.Elevated Health and Wellness ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าช่วงโควิด-19 ระบาด ทั้งในแง่การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือ และการเตรียมตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ติดโรค การรักษาสุขอนามัยกลายมาเป็นกิจวัตรสำคัญของผู้บริโภคทำให้เกิดบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องสุขลักษณะ หลายแบรนด์จึงปรับกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นว่าเข้าใจและเตรียมพร้อมในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

“ในอนาคตระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศจะพัฒนาทั้งเรื่องคุณภาพ และความง่ายต่อการเข้าถึง”

แนวโน้มที่ 5 Physical Distancing Continues สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการอยู่บ้าน และหากิจกรรมสร้างความสนุกในบ้าน การมีพื้นที่ส่วนตัว การรับบริการ และซื้อสินค้าต่างๆ แบบส่งถึงบ้าน สินค้าและบริการแบรนด์ใด สร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยสำหรับการบริโภคแบบรายบุคคลได้จะดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจ และตัดสินใจเลือกซื้อได้ เช่น ร้านอาหารที่ปรับให้ตอบโจทย์การบริโภคแบบรายบุคคลมากขึ้น ตั้งแต่ร้านทั่วไป ร้านชาบูหรือสุกี้ เป็นต้น

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay


6.Happiness is Redefined
ความสุขนิยามใหม่จากสิ่งเล็กน้อย และเรียบง่ายภายในบ้าน และครอบครัว เช่น การมีเฟอร์นิเจอร์ใหม่ หรือเครื่องครัวทันสมัยขึ้น เพื่อให้มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก ถือเป็นความท้าทายใหม่ของแบรนด์ในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสุขนิยามใหม่ เช่น เดิมอยู่บ้านชงกาแฟธรรมดาเปลี่ยนเป็นการชงกาแฟด้วยเครื่องใหม่ หรือเปลี่ยนจากการทำอาหารในกระทะทั่วไปเป็นหม้อทอดไร้น้ำมัน

การเปลี่ยนแปลงสุดท้าย คือ Prepare for the Next Disruption เห็นได้ชัดเจนว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ทั้งแบรนด์และผู้บริโภคตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤตครั้งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามพึ่งตนเอง และการเสริมทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตหรือการทำงานจากบ้าน ดังนั้น แบรนด์จึงควรมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้ผู้บริโภคพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image