ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ติสตู [email protected] |
เผยแพร่ |
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก โดยมีรายงาน ตัวเลขรายได้จากการขายตั๋วชมภาพยนตร์ทั่วโลก (Global Box Office) หายไปถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนอกจากเบอร์หนึ่งอย่างอุตสาหกรรมหนัง ฮอลลีวู้ด จะกระทบหนักแล้ว ตลาดใหญ่อันดับสองอย่าง จีน ที่มีโรงภาพยนตร์มากถึงกว่า 70,000 โรง ทั่วประเทศต้องปิดตัวลง
เมื่อสหรัฐ จีน คือตลาดผู้ชมขนาดใหญ่ของโลก โดยจีนครองส่วนแบ่งยอดขายตั๋วหนังทั่วโลกที่ 22% ตามหลังสหรัฐเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 29% จึงคาดการณ์กันว่าจุดต่ำสุดที่อุตสาหกรรมหนังทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้จะมีมากถึง 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อเจาะดูที่อุตสาหกรรมหนังของจีน ที่จัดเป็น ตลาดใหญ่อันดับสองของโลก ในปี 2019 ที่ผ่านมา รายได้จากการขายตั๋วหนังตลอดทั้งปีที่แล้วในจีนมากถึง 64,000 ล้านหยวน ซึ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้ในจีนสูงสุด 10 อันดับแรก เป็นภาพยนตร์ของจีนเองถึง 3 เรื่อง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนมีการสร้างหนังมากขึ้น เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่องต่อปี จากปัจจัยชนชั้นกลางในจีนขยายตัวสูงมาก เมื่อมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นก็มีความต้องการเสพคอนเทนต์บันเทิงสูงตามเป็นเงา นั่นทำให้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ปริมาณการจำหน่ายตั๋วหนังในจีนจึงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า
ที่ผ่านมาจึงถือเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมหนังจีน ที่มีตลาดผู้ชมจำนวนมหาศาลและกำลังการบริโภคที่ไม่หยุดยั้ง นั่นจึงทำให้บรรดาสตูดิโอค่ายหนังชั้นนำในฮอลลีวู้ดต่างก็หวังจะเข้ามาคว้าส่วนแบ่งการตลาดในจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้ด้วย อย่างไรก็ดีก็ต้องขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น เพราะภาพยนตร์ต่างประเทศที่นำเข้ามาฉายในจีนต้องแข่งขันกับภาพยนตร์สัญชาติจีนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพยนตร์จีนได้ยกระดับคุณภาพ เนื้อหา และความหลากหลายเพื่อเจาะกลุ่มคนดูเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพยนตร์จีนรุ่นหลังๆ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ชมชาวจีน รวมทั้งยังตั้งเป้าให้ภาพยนตร์จีนตลอดจนถึงแอนิเมชั่นจีนได้แจ้งเกิดในระดับสากลด้วย
อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนจึงถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะดึงเม็ดเงินการบริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 จึงสำคัญมากที่ต้องมองว่าจีนจะกลับมาเปิดโรงหนังแบบปูพรมอีกเมื่อไร และหนังฟอร์มใหญ่ของจีนที่หวังจะกวาดรายได้จากค่าตั๋วจะได้ไฟเขียวให้ถ่ายทำกันในระดับไหน เพราะขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนคลี่คลายลงกว่าสหรัฐอเมริกาเจ้าของอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ดเป็นอย่างมาก
หากมองย้อนไปก่อนจะมีวิกฤตโควิด-19 ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์นั้นถูกท้าทายจากรูปแบบธุรกิจให้บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์บันเทิงอยู่แล้วทั้งจากเจ้าใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ์ และบรรดาสตูดิโอยักษ์หลายค่ายที่แบ่งสัดส่วนธุรกิจมาสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า บรรดาธุรกิจหนังแบบดั้งเดิมจะหันมาเล่นในเวทีสตรีมมิ่งทั้งหมด เพราะในวงการภาพยนตร์เอง โดยเฉพาะฮอลลีวู้ดที่ขึ้นชื่อถึงความเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ที่มีโครงสร้างค่อนไปทางอนุรักษ์ และมีห่วงโซ่อุปทานที่โยงใยกันตั้งแต่เวทีรางวัลใหญ่อย่าง ออสการ์ ที่ยังมีกติกาว่าหนังที่สร้างฉายให้ดูผ่านสตรีมมิ่ง หากจะส่งเข้าประกวดจะต้องผ่านการฉายในโรงภาพยนตร์กี่รอบกี่วัน ไปจนถึงเครือข่ายธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ยังต้องการเป็นผู้คุมเกมนี้ในระบบ
แม้ด้านหนึ่งตลาดผู้บริโภค หรือกลุ่มคนที่ยังออกจากบ้านมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์ยังเติบโตได้อยู่ แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ปิดยาว และผู้คนก็ยังไม่มั่นใจนักหากจะกลับเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์อย่างน้อยก็จนถึงกลางปีนี้
เราจึงได้เห็นว่าคณะกรรมการออสการ์ผ่อนคลายกฎเกณฑ์พิเศษว่าการส่งหนังเข้าประกวดที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า อนุโลมให้หนังที่ฉายแบบสตรีมมิ่ง-ออนไลน์ สามารถเข้าประกวดได้ ซึ่งต้องทำเช่นนั้น เพราะหนังฟอร์มดีของหลายสตูดิโออาจต้องพึ่งพาการดูแบบออนไลน์เป็นหลักในห้วงวิกฤตโควิด-19 ที่ยังอาจแพร่ระบาดได้ต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมภาพยนตร์แบบดั้งเดิมนั้นถูกท้าทายในระยะ 2-3 ปี มานี้ และยกระดับเป็นการถูก ดิสรัปชั่น กลายๆ จากผลพวงโควิด-19 ที่ช่วยเร่งเร้าสถานการณ์ให้สตูดิโอหนังบางค่ายต้องปรับตัว ยอมทำหรือจำต้องทำในสิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด นั่นคือ การทดลองนำ หนังใหม่ฟอร์มดี มาฉายในแบบ Premium Video on Demand ให้ผู้ชมดาวน์โหลดเสียเงินดูบนออนไลน์
แม้บางสตูดิโอจะลงมือทำกันบ้างแล้ว โดยเลือกภาพยนตร์ใหม่จำนวนหนึ่งมาจำหน่ายในรูปแบบ VOD แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ารูปแบบนี้จะใช้ต่อไปในระยะยาว หรือทำเพียงคั่นเวลาแค่ช่วงหนึ่ง หรือคิดถึงขนาดที่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตที่คนไปดูหนังในโรงภาพยนตร์น้อยลงหรือไม่
ยังไม่มีใครแน่ใจนักว่า New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 จะเปลี่ยนรูปแบบการชมภาพยนตร์ไปในทิศทางออนไลน์มากขึ้นจนทำลายรูปแบบการชมภาพยนตร์แบบดั้งเดิมไปได้เลยหรือไม่ สิ่งที่จะตอบได้หรือเป็นตัวชี้วัดคือ ตัวเลขรายได้แท้จริง หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว
นอกจากเรื่องรายได้ คำถามต่อมาคือ การถ่ายทำภาพยนตร์และกองถ่ายละคร ที่ต้องทำงานหลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็นไปในรูปแบบใด?
คาดกันว่า รายการทีวี โดยเฉพาะประเภทเกมโชว์ที่ต้องมีผู้ชมมานั่งเชียร์ลุ้นสร้างบรรยากาศในสตูดิโอจะเหลือเพียงมีพิธีกร แขกรับเชิญ/ผู้เข้าร่วมแข่งขัน และทีมงานถ่ายทำจำนวนจำกัด โดยไร้ผู้ชมในสตูดิโอ
ขณะที่การถ่ายทำละครที่ฉายทางโทรทัศน์จะใช้วิธีจำกัดจำนวนทีมงานให้น้อยที่สุด
เช่นกรณีของละครซีรีส์เก่าแก่สัญชาติออสเตรเลียที่สร้างออกอากาศต่อเนื่องยาวนานมาถึง 3 ทศวรรษ เรื่อง Neighbours ที่มีข่าวว่าจะกลับมาถ่ายทำในเร็วๆ นี้ ผู้สร้างจะใช้วิธีจำกัดจำนวนทีมงานไม่ให้เกิน 100 คนในการถ่ายทำต่อฉากในแต่ละวัน โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมินักแสดง-ทีมงาน วันละ 2 รอบ และยังคงยึด ระยะห่างทางสังคม ไม่มีฉากใกล้ชิดกันของนักแสดง แต่จะใช้เทคนิคมุมกล้องช่วยพรางตาให้คนดูเห็นว่านักแสดงอยู่ใกล้กันในฉากแทน
เช่นเดียวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีข่าวว่าในจีนรัฐบาลเริ่มไฟเขียวคัดเลือกให้ภาพยนตร์บางเรื่องกลับมาถ่ายทำได้ โดยใช้รูปแบบจำกัดจำนวนทีมงานเช่นกัน แต่ภาพยนตร์อีกหลายเรื่องยังต้องรอการอนุมัติจากทางการ
“เป็นการสรุปภาพรวมโดยย่อของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ที่ยังต้องฝ่าฟันกับวิกฤตครั้งนี้อย่างหนักหน่วง”