ย่ำไปในดงเพลง : Zombie เพลงของสังคมผีดิบ โดย เขบ็ดหัวโต

ย่ำไปในดงเพลง : Zombie เพลงของสังคมผีดิบ : โดย เขบ็ดหัวโต

นี่คือหนึ่งในเพลงประท้วงสงครามและต่อต้านความรุนแรงแห่งยุคสมัย

The Cranberries วงอัลเทอเนทีฟร็อกจากไอริช เขียนเพลงนี้ไม่เพียงแต่เพื่อไว้อาลัยให้กับเด็กน้อยสองคนชาวอังกฤษวัย 3 ขวบ และ 12 ปี

ที่เป็นเหยื่อเหตุการณ์วางระเบิดของกลุ่มกองทัพกู้ชาติไอริช หรือ IRA ในเมืองวอริงตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ

แต่ยังประท้วงการใช้กำลังและความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย (IRA และกองทัพอังกฤษ)

Advertisement

เพราะในช่วง 30 ปีของการใช้ความรุนแรงเพื่อแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากอังกฤษ

มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 3,500 คน และบาดเจ็บอีกนับหมื่น

ส่วนใหญ่คือประชาชนผู้บริสุทธิ์

Advertisement

ทั้งชาวอังกฤษและชาวไอริช

โดโลเรส โอ’ริออร์แดน นักร้องนำของวงเขียนเพลงนี้กลางดึกของเดือนกุมภาพันธ์ 1993 เมื่อได้ยินข่าวระเบิดและการเสียชีวิตของสองหนูน้อย

เพลงออกเผยแพร่ในกลางปี 1994 ก่อนจะถูกรวมไว้ในอัลบั้ม No Need to Argue ที่แปลเป็นไทยบ้านๆ ว่า “อย่ามาเถียง”

เพราะรวมเพลงประท้วงสังคมเอาไว้หลายเพลงด้วยกัน

โดยมี Zombie เป็นเพลงเอกที่กินใจคนทั่วโลก

ตัวเพลงขึ้นอันดับหนึ่งในออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์

และอันดับหนึ่งใน US Modern Rock

แต่อยู่แค่อันดับ 14 บน UK Chart ในบ้านเกิด

เข้าใจว่าเพราะเพลงแทงใจดำเกินไป

และหลังจากเพลงนี้วางแผงไม่กี่สัปดาห์

IRA ก็ประกาศวางอาวุธ ยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ

ยุติความรุนแรงและความตายที่ดำเนินต่อเนื่องมาร่วม 30 ปี

อาจจะไม่ได้มีผลจากเพลงนี้โดยตรง

แต่ในทางกลับกันยิ่งทำให้เพลงโด่งดังยิ่งขึ้น

ในสังคมตะวันตก Zombie ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์หลายๆ อย่าง

เช่น ถ้าในเพลงนี้ก็จะหมายถึงคนที่ไม่มีชีวิตจิตใจ

รู้จักแต่การเข่นฆ่า

เหมือนซอมบี้ที่ล่าคนอื่นเป็นอาหาร โดยปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

ในขณะที่ในภาพยนตร์หรือนิยายอีกหลายๆ เรื่อง (ไม่นับพวกเกรดบี ที่จะเอาแต่เรื่องฆ่ากันอย่างเดียว)

ซอมบี้ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้น

สัญลักษณ์ของความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในสังคม

และบางหนก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสังคมตายซาก

สังคมที่ไร้ความหวัง ไร้อนาคต

ที่คิดถึงเพลง Zombie ขึ้นมาก็เพราะสองสามเรื่องในบ้านเมืองเราตอนนี้ละครับ

เรื่องแรกการบินไทย ที่ต่อให้ยื่นเข้าแผนฟื้นฟูแล้ว ก็ยังอยู่ในสภาพองค์กรผีดิบ

จะฟื้นกลับมาได้นี่ไม่ใช่แค่สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต

แต่ต้องสละชีวิต แล้วก็ตั้งความหวัง (เกือบลมๆ แล้งๆ) ว่า

จะกลับมาเกิดใหม่ได้

เรื่องต่อมาคือวาระครบรอบ 10 ปี ของการสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองเมื่อพฤษภาคม 2553

ที่จนถึงวันนี้อย่าว่าแต่ความยุติธรรมเลยที่ยังไม่เกิด

แค่ความจริงยังเกิดยังเปิดเผยไม่ได้

นี่ไม่ใช่สังคมผีดิบแล้วจะเป็นอะไร

สังคมย่ำเท้าอยู่กับที่แบบนี้จะเดินก้าวหน้าไปไหนได้

และเรื่องสุดท้ายก็คือ หลังสิ้นสุดวิกฤตโควิด เราอาจจะได้เห็นเมืองไทยเป็นสังคมผีดิบในเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ

คนตกงาน ผู้อดอยากจะมากขึ้น กิจการขนาดเล็กขนาดกลางจะล้มหายตายจากไปกว่าครึ่ง

ภาคเกษตรที่สาหัสอยู่แล้วจากภาวะภัยแล้ง ถูกโรคระบาดถล่มซ้ำ และไม่มีมาตรการโอบอุ้มประคับประคอง
ก็ตายทั้งเป็น ก็เป็นผีดิบ อยู่ไปวันๆ

ไม่รู้อนาคต

ผีดิบชั้นสูงทั้งหลายในห้องแอร์คงยังไม่สำนึก

จนกว่าผีดิบชั้นล่างทั้งหลายจะ “ก่อการ” อะไรขึ้นมา

ในภาวะตายซ้ำตายซาก ตายแล้วตายอีกทั้งที่ยังมีลมหายใจอย่างนี้

ไม่เป็น Zombie จะเป็นอะไรได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image