คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Hotel Rwanda 26 ปีที่รอวันชำระ ผู้อยู่เบื้องหลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน ‘รวันดา’

Hotel Rwanda

หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โลกที่จดจำในมุมของ ฝันร้าย” คือโศกนาฏกรรมที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดเหี้ยมในประเทศรวันดา เมื่อ 26 ปีก่อน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 เมษายน ถึง 15 กรกฎาคม พ.ศ.2537

ห้วงเวลาฝันร้ายที่ “ชาวทุตซี่” และ “ชาวฮูตูสายกลาง” ถูกสังหารหมู่ยาวนาน 100 วัน โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึงกว่า 8 แสนคน

เรื่องราวของเหตุการณ์ที่เริ่มจากความเกลียดชังและความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกัน กระทั่งการถูกปลุกระดมให้เกิดความคิดสุดโต่งไล่ล่าฆ่าเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ

Advertisement

ผ่านมา 26 ปี ข่าวการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในรวันดาถูกพูดถึงอีกครั้งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกระทรวงยุติธรรมของฝรั่งเศส เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เฟลิเซียน คาบูกา” วัย 84 ปี หนึ่งในผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาถูกจับกุมตัวได้ที่แถบชานเมืองปารีส หลังจากที่เขาหนีการจับกุมและกบดานใช้ตัวตนปลอมมาอย่างยาวนาน

คาบูกา เป็นนักธุรกิจชาวฮูตู และถูกระบุว่าเป็นผู้ให้เงินทุนกับกลุ่มฮูตูสุดโต่ง และจ่ายเงินให้กับกลุ่มติดอาวุธไปก่อเหตุสังหารหมู่ชาวทุตซี่ นอกจากนี้ เขายังก่อตั้งและให้ทุนช่องวิทยุและโทรทัศน์ RTLM ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการยุยงไล่ล่าสังหารชาวทุตซี่ด้วยเช่นกัน

คาบูกาถูกตั้งข้อหา 7 ข้อหา คือ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้การสนับสนุนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยุยงโดยตรงและเปิดเผยให้คนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สมรู้ร่วมคิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกดขี่และการทำลายล้าง โดยเขาจะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ศาลคดีอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกต่อไป

Advertisement

เหตุการณ์ในรวันดาที่แม้จะผ่านมานานกว่า 2 ทศวรรษ ยังคงสร้างบาดแผลลึกใหญ่ให้กับชาวรวันดา ความโหดร้ายทารุณและเรื่องราวอันเป็นโศกนาฏกรรมนี้ เคยถูกเล่าผ่านภาพยนตร์เรื่องดัง Hotel Rwanda” หนังปี 2004 ซึ่งดำเนินเรื่องมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 1994 ในช่วง 100 วัน แห่งการไล่ฆ่าสังหารหมู่ในประเทศ

ตัวภาพยนตร์นั้นมีความสมจริงในระดับตีแผ่เรื่องราวเพื่อย้อนให้คนดูอย่างเราได้เห็นถึงโศกนาฏกรรมอันเลวร้าย และเศร้าสะเทือนใจกับการที่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องถูกไล่ฆ่าสังเวยแนวคิดเหยียดเชื้อชาติอันสุดโต่ง

“เทอรี่ จอร์จ” ผู้กำกับภาพยนตร์ Hotel Rwanda” บอกไว้ว่า เขาต้องการนำเสนอและตีแผ่เรื่องราวเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สังหารหมู่ประชาชนในรวันดาที่มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 8 แสนถึง 1 ล้านคน ให้โลกรับรู้กันในภาพวงกว้าง รวมทั้งได้เห็นถึงเบื้องลึกเบื้องหลังที่มาที่ไปของเหตุการณ์นี้เพื่อให้มนุษยชาติได้ตระหนักและเห็นผลอันเลวร้ายของแนวคิดเหยียดเชื้อชาติที่ขยายบานปลายผ่านการถูกปลุกระดมให้เกิดการแบ่งแยก และเหยียดเชื้อชาติ ระหว่างชนพื้นเมืองชาวทุตซี่ และชนพื้นเมืองชาวฮูตู ทั้งที่จริงๆ พวกเขาคือ ประชาชนประเทศรวันดา” ที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยว่าใครสืบเชื้อสายทุตซี่หรือฮูตู

ความไม่ลงรอยของสองชนเผ่ามีเค้าลางหลังจากที่ประเทศเบลเยียมประกาศเอกราชให้ประเทศรวันดาเมื่อปี 1962 กระทั่งมีเหตุการณ์ที่เป็นตัวจุดชนวนสำคัญ เมื่อเครื่องบินของ จูเวนัล ฮาเบียริมานา ประธานาธิบดีรวันดาในขณะนั้นที่เป็นชาวฮูตูถูกยิงตก ทำให้ทุกคนบนเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมด กลุ่มสุดโต่งฮูตูกล่าว

หาว่ากลุ่มกบฏชาวทุตซี่ในนามกลุ่มแนวหน้าชาตินิยมรวันดาเป็นเป็นผู้ยิงเครื่องบินแม้ทางกลุ่มจะออกมาปฏิเสธ แต่สุดท้ายเหตุการณ์ก็บานปลายไป มีการปลุกปั่นผ่านทางวิทยุให้มีความเกลียดชังชาวทุตซี่จนถึงกับปลุกระดมออกเป็นแคมเปญส่งเสริมให้ฆ่าชาวทุตซี่ และชาวฮูตูสายกลาง

ภาพยนตร์ “Hotel Rwanda ใช้การเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริงที่รอดมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และถูกพูดถึงอย่างมากในเวลาต่อมา คือ “พอล รูสซาบาจิน่า” พอลเป็นผู้จัดการโรงแรมหรูหราในเมืองคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา เขาเป็นชนเผ่าฮูตูที่แต่งงานกับหญิงจากเผ่าทุตซี่

 

เมื่อเกิดเหตุกวาดต้อนชาวทุตซี่ พอลทำทุกวิถีทางในการปกป้องครอบครัว และสุดท้ายด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างสูง และภาวะความเป็นผู้นำ ทำให้พอลกลายมาเป็นผู้ปกป้องชาวทุตซี่อีกเป็นจำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาในโรงแรม

“เทอรี่ จอร์จ” เดินทางไปพูดคุยและสัมภาษณ์พอลตัวจริงที่ลี้ภัยอยู่ในต่างแดนเพื่อประกอบข้อมูลและเรื่องราว ทำให้ Hotel Rwanda มีพลังและน่าติดตาม โดยเฉพาะตัวละครอย่างพอลที่ต้องทำทุกอย่างในห้วงเวลาวิกฤตเพื่อให้ครอบครัวของเขา รวมทั้งผู้อพยพที่อยู่ในโรงแรมจำนวนเกือบหนึ่งพันคนปลอดภัย

หนังพาเราไปดูถึงความพยายามของพอลที่ไม่เคยสิ้นหวังเพื่อให้ผ่านสถานการณ์เลวร้ายครั้งนั้นไปได้ ตั้งแต่การใช้ความสามารถส่วนตัวทั้งเทคนิคในการเจรจาต่อรอง หว่านล้อมไปจนถึงความพยายามสื่อสารกับนานาชาติให้ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาในรวันดา

หนังเดินเรื่องคู่ขนานระหว่างเรื่องราวของ พอล” และใส่มุมมองประเด็นการเมือง ความไร้สาระของการบ้าอำนาจ และแนวคิดเหยียดเชื้อชาติอย่างสุดโต่ง โดยปัญหาการเหยียดและแบ่งแยกนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากชาติตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพล ใช้หลักการแบ่งแยกชนเผ่าเพื่อคานอำนาจในการบริหาร กระทั่งช่วงเกิดเหตุการณ์นานาชาติยังไม่สนใจต่อปัญหาในรวันดาอย่างเพียงพอ ขณะที่หนังก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของสหประชาชาติต่อการเข้าแทรกแซงแก้ไขสถานการณ์

ตัวหนังยังมีหลายต่อหลายฉากที่สะเทือนอารมณ์ เช่น ฉากที่บรรดาคนขาวได้รับการช่วยเหลืออพยพออกจากรวันดา หรือฉากที่ตัวละครพูดอย่างสิ้นหวังว่า เพราะประเทศตัวเองไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศมหาอำนาจจะเข้ามาตักตวงได้ พวกเขาจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ

Hotel Rwanda เล่าเรื่องผ่านคนเล็กๆ คนหนึ่งที่เสมือนเป็นตัวแทนของชาวรวันดาทั้งชาติ น้ำหนักหนังแม้จะเล่าเรื่องชะตากรรมของผู้บริสุทธิ์ที่ถูกไล่ฆ่า ทว่ายังใส่มุมมองประเด็นปัญหาระดับโครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศสอดแทรกไว้ นั่นทำให้ตัวหนังมีพลัง และสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูได้มาก ถือว่าสารที่ผู้กำกับต้องการส่งถึงคนดูนั้นมีความสมบูรณ์

เหตุการณ์ 100 วัน ไล่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนร่วมชาติคลี่คลายลงหลังจากแนวร่วมรักชาติ RPF เข้าควบคุมสถานการณ์ได้ ภายใต้การนำของ “พอล คากาเม” ที่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบันนี้ โดยดำเนินนโยบายลดความขัดแย้ง และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งล่าสุดโลกก็ได้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกระดมยุยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ถูกจับตัวและเตรียมถูกชำระความต่อไป

ทั้งเหตุการณ์จริงและเรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านภาพยนตร์ “Hotel Rwanda” นั้น ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงฝันร้ายของชาวรวันดา และเหตุการณ์ 100 วันนั้นได้ทิ้งบาดแผลให้โลกได้เห็นถึงบทเรียนสำคัญที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอีกไม่ว่าที่ใดในโลกใบนี้

Hotel Rwanda

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image