แท็งก์ความคิด : ท่องเที่ยวชุมชน

วันที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิง รศ.ดร.เสถียร เชยประทับ อดีตอาจารย์นิเทศฯ จุฬาฯ ที่วัดตรีทศเทพฯ เมื่อวันก่อน

มีโอกาสแวะไปเยือน “บ้านเต้นรำ” ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ

เป็นบ้านไม้คลาสสิกในยุค 60-70

เมื่อครั้งอดีตบ้านแห่งนี้เคยเป็นที่พบปะเข้าสังคม

Advertisement

และเป็นสถานที่เต้นลีลาศ

วันที่ไปเยือน “บ้านเต้นรำ” ไม่ได้เปิดให้เข้าชม เพราะอยู่ในกฎ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” เพื่อสกัดโรคระบาดโควิด-19

บ้านเต้นรำตั้งอยู่ที่ถนนหลานหลวง กรุงเทพฯ

Advertisement

ทางเข้าเป็นตรอกเล็กๆ มีประตูบ้าน และเมื่อผลักประตูเข้าไป จะเจอกับตัวบ้านไม้ 2 ชั้น

เมื่อทะลุประตูบ้านเข้าไปยังตัวบ้าน จินตนาการก็บรรเจิด

เพราะตอนที่เดินอยู่ริมถนนหลานหลวงนั้น ยังรู้สึกและสัมผัสถึงยุคสมัยปัจจุบัน ปี 2563

แต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปยังตัว “บ้านเต้นรำ” อยากจะรู้สึกย้อนไปยุค 60-70 เลยทีเดียว

อยากจะรู้ว่าในยุคนั้นสมัยนั้น ผู้คนอยู่กันอย่างไร

อยากรู้ว่าการเต้นรำของยุคนั้นใช้เพลงอะไร เต้นรำเหมือนแบบยุโรปไหม และอื่นๆ อีกมากมาย

นี่แค่บ้านหลังเดียวในย่านนางเลิ้งนะ

ความจริงแล้ว ภายในย่านนางเลิ้งมีอื่นๆ อีกมากมายให้เที่ยวชม

เพราะ “นางเลิ้ง” เป็นชุมชนชาวกรุงที่มีความเป็นมา

ประวัติตามโบรชัวร์ที่ทำขึ้น ระบุความเป็นมาของ “นางเลิ้ง” ให้อ่าน

จากย่านที่รกร้างนอกกำแพงพระนครที่เรียกว่า “ทุ่งส้มป่อยหรือบ้านสนามควาย” ในอดีต

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างตลาด เพื่อขยายเขตเมืองและรองรับข้าราชบริพารตามวังต่างๆ

กระทั่งกลายมาเป็น “ตลาดนางเลิ้ง” เปิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2443

ขึ้นชื่อว่าตลาดก็ต้องมองหาอาหาร

นางเลิ้งมีอาหารที่น่าสนใจ เพราะคนย่านนี้อยู่ใกล้ชิดกับเจ้านายในวัง ไม่ว่าจะเป็นวังวรดิศในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

วังจักรพันธ์ของเจ้านายในราชสกุลจักรพันธ์

คนย่านนี้ได้รับการถ่ายทอดอาหารคาวหวานตำรับชาววัง และได้สืบทอดอาหารเหล่านี้มาถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ในตลาดนางเลิ้ง ซึ่งคนจีนเรียกว่า “ชิงตั๊กลั๊ก” หรือตลาดใหม่ในยุครัชกาลที่ 5 ก็มีอาหารสูตรชาวจีนโพ้นทะเลมาปรุงขาย

ทำให้ตลาดนางเลิ้งเป็นสถานที่ที่รวมอาหาร 2 วัฒนธรรม คือ ไทยและจีน

ยกตัวอย่างเช่น ถั่วแปบไส้กุ้งเป็ดย่าง ขนมเบื้องโบราณ ข้าวแกงกะหรี่ ไส้กรอกปลาแนม เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ละแวกนางเลิ้งยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่น่าไปเยือน

มีวัดสุนทรธรรมทาน สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “วัดแคนางเลิ้ง”

วัดแห่งนี้ “มิตร ชัยบัญชา” ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ธูป

และเมื่อ “มิตร ชัยบัญชา” ตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต งานศพก็จัดอยู่ที่นี่

นอกจากนี้ ใกล้ๆ กับ “บ้านเต้นรำ” ที่ถนนหลานหลวง ยังมี “บ้านนราศิลป์”

บ้านหลังนี้มีชื่อเสียงเรื่องชุดรำ และการปักชุดลำครโขน

หากย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยยุคแรกๆ และรับแสดงโขน ละครชาตรี ละครพันทาง

ย่านดังกล่าว ยังมีตรอกละครชาตรี ซึ่งเป็นบ้านของศิลปิน นักดนตรีปี่พาทย์ และนักแสดงละครชาตรี สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ยังมีบ้านศิลปะ ยังมี “ตึกสีชมพู” ที่ใช้เป็นบ้านและร้านค้าแบบทูอินวัน

ทั้งวัด ทั้งบ้าน ทั้งตลาด ชาวชุมชนจัดเป็นเส้นทางทัวร์ชุมชนเอาไว้ให้แล้ว

เส้นทางที่เดินมีทั้งข้ามคลอง เดินทอดน่องริมทาง แวะเวียนไปในชุมชน

บางทีคนที่อยู่เมืองกรุงยังไม่เคยได้สัมผัสกับ “นางเลิ้ง” แบบมีเนื้อหาแบบนี้

ยิ่งขณะนี้ รัฐบาลเริ่มอนุญาตให้ธุรกิจประเภทต่างๆ ได้เปิดกิจการอีกครั้งหลังจากต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” ไปพักใหญ่

แถมยังมีสัญญาณส่งมาจากทำเนียบว่า อยากจะเน้นการท่องเที่ยวชุมชนด้วย

พอพูดถึงการท่องเที่ยว หลายคนมองไปยังต่างจังหวัด

แต่อยากขอบอกว่าในกรุงเทพฯนี้ก็มีชุมชนน่ามองอยู่มาก จึงนำข้อมูลบางประการมานำเสนอ

และอยากให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน เข้าไปร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างแรงดึงดูดผู้คนถิ่นอื่นมาเยือน

คนกรุงไปต่างจังหวัดยังไม่สะดวก สามารถเที่ยวเมืองกรุงนี่แหละ

เช่นเดียวกับจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย หากไม่สามารถไปเที่ยวจังหวัดอื่นได้

เที่ยวชุมชนจังหวัดตัวเองนี่แหละดี

ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้รู้จักจังหวัดบ้านเกิด รู้จักจังหวัดที่ทำงานและพักอาศัย และทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

เชื่อว่ามีหลายคน และมีหลายท้องที่ที่เรายังไม่เคยรู้ และไม่เคยเยือน

ถือโอกาสนี้ลองไปเยือน ลองไปเที่ยวชุมชน บางทีหลายคนอาจเปลี่ยนวิธีการท่องเที่ยว

เปลี่ยนจากท่องเที่ยวเมืองใหญ่ เรียนรู้วัฒนธรรมระดับโลก ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค

หันมาเที่ยวชุมชนท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ชวนให้เยี่ยมชมไม่แพ้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image